มีลูกยาก หรือภาวะมีบุตรยาก คืออะไร? ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) คือการที่คู่รักมีเพศสัมพันธ์กันสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ไม่มีการคุมกำเนิดติดต่อกันประมาณ 1 ปี แล้วยังไม่เกิดการตั้งครรภ์ หรือผู้หญิงที่มีอายุเกิน 40 ปี ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจมีบุตร จะเริ่มเข้าสู่ภาวะมีบุตรยาก
การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
การตั้งครรภ์ตามธรรมชาตินั้นเกิดจากเชื้ออสุจิของฝ่ายชายเข้าไปผสมกับไข่ของฝ่ายหญิง โดยหลังจากที่ผู้หญิงมีการตกไข่ (Ovulation) จะเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน ถุงน้ำหุ้มไข่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นคอร์ปัส ลูเทียม (Corpus Luteum) ซึ่งจะช่วยสร้างฮอร์โมนที่ช่วยให้เยื่อบุมดลูกหนาขึ้น เพื่อพร้อมรับการฝังตัวของตัวอ่อน
หลังจากกระบวนการไข่ตก ไข่จะเดินทางเข้าสู่ท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิหรือสเปิร์มของผู้ชาย โดยสเปิร์มตัวที่แข็งแรงที่สุดจะว่ายไปยังท่อนำไข่และเจาะเปลือกไข่เพื่อทำการปฏิสนธิ ซึ่งเพศของเด็กจะขึ้นอยู่กับโครโมโซมของสเปิร์มด้วย หากสเปิร์มมีโครโมโซมวาย (Y) เด็กจะเป็นเพศชาย และถ้าหากสเปิร์มมีโครโมโซมเอ็กซ์ (X) เด็กจะเป็นเพศหญิง
เมื่อไข่ได้รับการปฏิสนธิแล้วจะอยู่ที่ท่อนำไข่เป็นเวลา 3-4 วัน แล้วค่อยเคลื่อนตัวผ่านท่อนำไข่ไปยังมดลูกเพื่อฝังตัวที่ผนังมดลูกซึ่งเป็นกระบวนการฝังตัวของตัวอ่อน ในช่วง 3 สัปดาห์แรกหลังตัวอ่อนฝังตัว ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนตั้งครรภ์ หรือฮอร์โมน hCG ขึ้น ซึ่งเราสามารถตรวจหาฮอร์โมนดังกล่าวได้ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์
สัญญาณของภาวะมีบุตรยาก

สัญญาณของภาวะมีบุตรยากสามารถสังเกตได้จาก คู่รักที่พยายามจะมีลูกมามากกว่า 6-12 เดือน แล้วยังไม่ตั้งครรภ์ คนในครอบครัวมีประวัติการมีลูกยาก หรือคู่แต่งงานมีประวัติการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และสาเหตุอื่นๆ จากทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย
โดยเฉพาะฝ่ายหญิงมักจะเจอปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่าฝ่ายชาย เนื่องจากผู้หญิงมีอวัยวะหลายอย่าง ทั้งรังไข่ มดลูก ผนังมดลูก เป็นต้น
หากพบปัญหาเหล่านี้ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ เพราะจะทำให้มีโอกาสรักษาหรือมีบุตรสำเร็จสูง ไม่ควรปล่อยให้เวลาผ่านไปนานหลายเดือนหรือหลายปี ควรรีบเข้ามาพบแพทย์ที่ศูนย์ผู้มีบุตรยากเพื่อรับคำแนะนำ และการรักษาได้อย่างถูกต้อง
สัญญาณภาวะมีบุตรยากสำหรับผู้หญิง
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ ไม่สม่ำเสมอ หรือประจำเดือนหมดก่อนวัยอันควร
- มีปัญหาบริเวณท้องน้อย เช่น ปวดท้องน้อยเวลามีประจำเดือน
- มีประวัติเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหรือการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน อาจจะส่งผลให้ท่อนำไข่อุดตัน
- มีประวัติการแท้งบุตร
- เคยผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน
- เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ อุ้งเชิงกรานอักเสบ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ส่งผลให้มีลูกยาก
สัญญาณภาวะมีบุตรยากสำหรับผู้ชาย
- มีเชื้ออสุจิหรือสเปิร์มน้อย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งอสุจิ
- มีปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว
- เคยติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หรือโรคติดเชื้อคลามัยเดีย อาจทำให้ทางเดินน้ำอสุจิเกิดภาวะตีบแคบและมีปัญหาในการสร้างเชื้ออสุจิ
- เคยติดเชื้ออัณฑะอักเสบ
- เคยผ่าตัดบริเวณถุงอัณฑะ ซึ่งมีผลต่อการหลั่งน้ำอสุจิ
- เคยมีประวัติผ่าตัดไส้เลื่อน หรือผ่าตัดอื่นๆบริเวณถุงอัณฑะ
- มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น มะเร็งในวัยเด็ก ที่เคยได้รับการฉายแสง หรือเคมีบำบัดบริเวณท้องน้อยหรือว่าอัณฑะ
- มีประวัติโรคคางทูมในวัยเด็ก
ฮอร์โมนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาวะมีบุตรยาก
- ฮอร์โมน LH
Luteinizing Hormone หรือ LH คือฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นบริเวณอัณฑะของเพศชายและรังไข่ของเพศหญิง หากไม่มีฮอร์โมนนี้จะไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ ฮอร์โมน LH ในเพศหญิงจะหลั่งออกมาในช่วงตกไข่ ส่วนในเพศชาย ฮอร์โมน LH จะกระตุ้นให้อัณฑะสร้างฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรน (Testosterone)
การตรวจเลือดวัดค่าระดับฮอร์โมน LH สามารถบอกได้ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการวางแผนที่จะตั้งครรภ์ อธิบายสาเหตุของการเป็นโรคถุงน้ำในรังไข่ และความสามารถในการผลิตสเปิร์ม ถ้าหากระดับฮอร์โมน LH ต่ำกว่าปกติ จะทำให้ความสามารถในการผลิตสเปิร์มลดลง หากฮอร์โมน LH ในผู้หญิงลดลง การทำงานของรังไข่ก็จะลดลง ทำให้ไข่ไม่ตก ส่งผลให้เกิดภาวะมีลูกยากได้ - ฮอร์โมน FSH
ฮอร์โมน Follicle Stimulating Hormone หรือ FSH คือฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญของไข่ หากระดับฮอร์โมน FSH ต่ำเกินไป หรือสูงเกินไป สามารถทำให้มีลูกยากได้ โดยส่วนมากจะพบในผู้หญิงที่มีอาการของโรคภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) หรือผู้หญิงที่เข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนก่อนกำหนด - ฮอร์โมน hCG
ฮอร์โมน hCG (Human Chorionic Gonadotropin) คือฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต และการตกไข่ของเพศหญิง ส่วนในเพศชายฮอร์โมนนี้ใช้เพิ่มจำนวนอสุจิ รักษาภาวะฮอร์โมนเพศต่ำที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมอง รักษาภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุง
โดยการใช้ฮอร์โมน hCG สำหรับรักษาผู้มีบุตรยากในผู้หญิง เช่น ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด จะใช้ฮอร์โมนนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตกไข่ โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อวันละประมาณ 5,000-10,000 ยูนิต สำหรับผู้ชายจะใช้ฮอร์โมน hCG เพื่อรักษาภาวะฮอร์โมนเพศต่ำที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมอง
ทั้งนี้ปริมาณการใช้ฮอร์โมน hCG ควรอยู่ในการดูแลและคำแนะนำของแพทย์ - ฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen)
ฮอร์โมนเอสโทรเจนมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมการทำงานของระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง ช่วยกระตุ้นการทำงานของมดลูก รังไข่ ช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาพร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน และยังเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ไข่ตก มีประจำเดือน
ระดับของฮอร์โมนเอสโทรเจนยังส่งผลต่ออัตราการตั้งครรภ์อีกด้วย หากระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนต่ำกว่าปกติจะส่งผลให้มีลูกยาก สามารถสังเกตระดับฮอร์โมนเบื้องต้นได้จากอารมณ์ที่แปรปรวน นอนไม่หลับ รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ช่องคลอดหลั่งสารหล่อลื่นได้ช้าลง เป็นต้น - ฮอร์โมนโปรเจสเทอโรน (Progesterone)
ฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ควบคุมการตกไข่และการมีประจำเดือน มีหน้าที่ทำให้เยื่อบุมดลูกพร้อมในการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว ป้องกันไม่ให้มดลูกหดรัดตัวระหว่างตั้งครรภ์ อีกทั้งค่าฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนนี้ยังบ่งบอกได้ถึงสาเหตุของการมีลูกยากอีกด้วย
นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาในการรักษาภาวะขาดฮอร์โมนโปรเจสเทอโรน ควบคุมภาวะไข่ตกและการมีรอบเดือน โดยมีตัวอย่างการใช้ฮอร์โมน เช่น แพทย์จะให้รับประทาน ฉีด หรือเหน็บในกรณีที่มีค่าฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนต่ำในระหว่างการตั้งครรภ์ เพื่อไม่ให้เกิดการแท้งบุตร ซึ่งปริมาณการใช้ฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนจะอยู่ในการดูแลของแพทย์ - ฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรน (Testosterone)
ฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรนเป็นฮอร์โมนที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ชายถูกสร้างขึ้นบริเวณอัณฑะ มีส่วนช่วยในการสร้างอสุจิ ช่วยให้เกิดความต้องการทางเพศ เพิ่มขนาดของอวัยวะเพศเมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศ หากปริมาณฮอร์โมนลดลงหรือเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนแปรปรวน
โดยสาเหตุที่ทำให้ปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรนลดลงอาจเกิดได้จากการบาดเจ็บที่อัณฑะ โรคอ้วน การรักษาโรคมะเร็ง การติดสุรา เป็นต้น ส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลง อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการเจริญพันธุ์ของฝ่ายชาย เช่น ทำให้มีลูกยาก หรือเป็นหมัน - ฮอร์โมนที่มีผลต่อการทำงานของรังไข่ เช่น ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ และภาวะฮอร์โมนไทรอยด์สูง (Hypothyroid) ภาวะโพรแลคตินในเลือดสูง (Hyperprolactinemia)
สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก
ภาวะมีบุตรยากสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุปัจจัย สามารถพบได้บ่อยจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ปัญหาในร่างกายของฝ่ายหญิง พวกระบบสืบพันธุ์ต่างๆ ประมาณ 40-55% ฝ่ายชายประมาณ 20-30% ทั้งสองฝ่ายร่วมกันประมาณ 20-30% และที่ไม่ทราบสาเหตุอีกประมาณ 10-20%
โดยจะเริ่มพบความเสี่ยงของการมีลูกยากเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ติดแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ สาเหตุเหล่านี้มีผลทำให้การสร้างตัวอสุจิน้อยลง หรือความเครียดก็ส่งผลให้การทำงานของรังไข่ในผู้หญิงผิดปกติได้ ส่งผลให้มีลูกยาก
นอกจากนั้นในปัจจุบัน ภาวะมีบุตรยากยังเกิดขึ้นกับคู่สมรสที่วางแผนมีบุตรช้า อายุที่มากแล้วก็ส่งผลให้ฝ่ายหญิงมีลูกยากอีกด้วย คู่สมรสที่วางแผนจะมีบุตรในอนาคตควรเข้ารับการ
ฝากไข่ ในขณะที่อายุยังน้อยเพื่อรักษาไข่ที่ยังสมบูรณ์ไว้
ทั้งนี้เพื่อหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก คู่สมรสที่อยากมีลูกควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินหาสาเหตุและให้การรักษาอย่างถูกต้อง กับทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย
สาเหตุจากผู้หญิง (Female Factor)
- ปัญหาภาวะไม่ตกไข่ (Anovulation)ภาวะไม่ตกไข่ (Anovulation) หรือภาวะตกไข่ผิดปกติ (Ovulation disorder) คือการที่ไม่มีไข่ตกออกมาจากรังไข่ เมื่อไข่ไม่ตกก็จะทำให้ประจำเดือนไม่มาหรือมาผิดปกติ เนื่องจากไม่มีการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน หากรอบเดือนน้อยกว่า 21 วัน หรือมากกว่า 36 วัน อาจเป็นสัญญาณของการมีภาวะตกไข่ผิดปกติหากไม่รักษาภาวะไข่ไม่ตกอาจนำไปสู่ความผิดปกติของระบบภายในร่างกาย เช่น ภาวะกระดูกบาง ภาวะแอนโดรเจนเกิน รวมไปถึงภาวะมีลูกยาก โอกาสการตั้งครรภ์ก็น้อยลง เพราะมีการตกไข่น้อยกว่าปกติสาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะไข่ไม่ตกเกิดจากภาวะที่รังไข่มีถุงน้ำหลายใบ (Polycystic ovarian syndrome : PCOS) ภาวะนี้สามารถรักษาได้โดยการให้ยาที่ชักนำการตกไข่เพื่อเพิ่มอัตราในการตั้งครรภ์การตรวจประเมินจำนวนไข่สำรอง (Ovarian reserve) เป็นการบ่งบอกถึงความสามารถในการทำงานของรังไข่ เช่น การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดเพื่อนับจำนวนฟองไข่ การเจาะเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมน AMH (Anti-Mullerian hormone) หากระดับค่า AMH น้อยอาจจะมีเซลล์ไข่น้อย
- ปัญหาบริเวณท่อนำไข่ (Tubal Factor)ท่อนำไข่นั้นเป็นอวัยวะที่ไข่กับอสุจิจะมาพบกันเพื่อปฏิสนธิ หากมีความผิดปกติที่ท่อนำไข่ เช่น ท่อนำไข่มีการตีบตัน ไข่จะไม่สามารถเดินทางมาปฏิสนธิกับอสุจิได้ หรือถ้าเกิดการปฏิสนธิกันขึ้น ตัวอ่อนก็จะไม่สามารถเดินทางมาที่มดลูกเพื่อฝังตัว ส่งผลให้เกิดการท้องนอกมดลูกอีกหนึ่งปัญหาบริเวณท่อนำไข่ที่ส่งผลให้มีลูกยากคือ ท่อนำไข่อุดตันจากการทำหมัน หรืออุดตันจากการอักเสบติดเชื้อ รวมถึงภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่การตรวจสอบท่อนำไข่ตีบตันสามารถทำได้โดยตรวจ HSG (Hysterosalpingography) หรือการฉีดสี เพื่อดูความผิดปกติท่อนำไข่และโพรงมดลูก เช่น ท่อนำไข่ตีบตัน หรือในบางกรณีอาจพบพังผืด (Adhesion) ใกล้ๆ ท่อนำไข่ด้วย และการประเมินการตกไข่ด้วยระดับฮอร์โมน เช่น FSH LH
- ความผิดปกติของมดลูกความผิดปกติที่พบบ่อยในมดลูก เช่น การมีติ่งเนื้อในโพรงมดลูก (Endometrial polyp) เนื้องอกในโพรงมดลูก (Submucous Myoma) พังผืดในโพรงมดลูก (Intrauterine Adhesion) ก่อนรักษาภาวะมีลูกยากควรทำการผ่าตัดก่อนการรักษา เพื่อเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์การตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของโพรงมดลูก และอุ้งเชิงกราน สามารถตรวจได้ด้วย HSG และส่องกล้อง (Endoscopy)
สาเหตุจากผู้ชาย (Male Factor)
- ปัญหาอสุจิ
เช่น ปริมาณตัวอสุจิน้อย (Oligozoospermia) การตรวจไม่พบตัวอสุจิในน้ำอสุจิ (Azoospermia) เป็นปัญหาหนึ่งในฝ่ายชายที่ส่งผลให้มีลูกยาก การตรวจวิเคราะห์อสุจิหรือสเปิร์ม (Semen Analysis) จะช่วยบอกถึงสุขภาพของอสุจิ ความเข้มข้น การเคลื่อนที่ รูปร่างโดยการตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์ (Microscopic Examination)หากอสุจิมีความผิดปกติ แพทย์อาจจะต้องทำการวินิจฉัยเพิ่มเติม โดยการตรวจเลือดเพื่อวิเคราะห์ดูความผิดปกติของฮอร์โมน FSH หากค่าฮอร์โมนสูงหมายถึงลูกอัณฑะไม่สามารถสร้างตัวอสุจิได้ แต่ถ้าค่าฮอร์โมน FSH ต่ำ หมายถึง ต่อมใต้สมองมีความผิดปกติทำให้มีการสร้างตัวอสุจิน้อยลงการนำอสุจิมาใช้ อาจทำได้โดยการเก็บอสุจิจากอัณฑะโดยตรง โดยการใช้เข็มเจาะที่ท่อพักน้ำเชื้อเพื่อดูดเอาเชื้ออสุจิออกมา หรือที่เรียกกันว่า PESA ในกรณีที่ดูดเชื้ออสุจิออกมาแล้วมีน้อยหรือไม่มีเลย แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดเอาอสุจิออกมาจากเนื้ออัณฑะ หรือวิธีการ TESE นั่นเองแม้ว่าฝ่ายชายจะมีปัญหาอสุจิก็สามารถมีบุตรได้ หากเข้ารับการตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดเพื่อการรักษาอย่างถูกต้อง และเหมาะสม - การได้รับรังสี (Radiation)หากระดับรังสีมีการสะสมเพียง 0.015 Gy (15 Rads) จะสามารถกดการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชายได้ชั่วคราว แต่ถ้าได้รับการสะสมมากกว่า 6 Gy 600 (Rads) จะกดการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้ถาวร
ภาวะมีบุตรยากแบบไม่ทราบสาเหตุ (Unexplained Infertility)
คู่สมรสที่มีลูกยากแบบไม่ทราบสาเหตุ พบได้ร้อยละ 10-15 ของคู่สมรสทั้งหมด โดยภาวะมีลูกยากแบบไม่ทราบสาเหตุ คือการที่คู่สมรสได้รับการตรวจหาสาเหตุของการมีลูกยากทั้งหมดแล้ว เช่น ตรวจหาความผิดปกติบริเวณอุ้งเชิงกราน ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ การตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรวจวิเคราะห์คุณภาพของเชื้ออสุจิ แต่ไม่พบความผิดปกติ โดยส่วนมากจะพบปัญหานี้จากการทำเด็กหลอดแก้วในขั้นตอนการปฏิสนธิ
ความเสี่ยงที่ส่งผลให้มีลูกยาก
อยากมีลูกแต่มีความเสี่ยงเหล่านี้ ก็อาจส่งผลให้มีลูกยากได้
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น
ตามธรรมชาติแล้ว อายุของผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้น คุณภาพของไข่ รังไข่ ปริมาณไข่จะค่อยๆ ลดลง ทำให้โอกาสการตั้งครรภ์ก็ลดน้อยลงตามไปด้วย โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุเกิน 35 ปี คุณภาพและปริมาณของไข่และรังไข่จะลดลงอย่างรวดเร็ว - ช่วงเวลาในการมีเพศสัมพันธ์
โดยปกติแล้วใน 1 เดือนผู้หญิงจะมีไข่ที่สมบูรณ์ที่สุดตกเพียงแค่ 1 ใบ และไข่ที่ตกแล้วมีเวลาอยู่ได้แค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น หากไม่ได้รับการปฏิสนธิจากอสุจิก็จะหลุดออกมาเป็นประจำเดือน
ดังนั้น ช่วงเวลาในการมีเพศสัมพันธ์จึงสำคัญ คู่สมรสจึงควรวางแผนเพื่อมีกิจกรรมทางเพศในวันที่ไข่ตก เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ หากพลาดไข่ใบนี้ไปแล้วก็ต้องรอถึงเดือนหน้า - ความเครียดหรือสภาพจิตใจ
สำหรับฝ่ายหญิง สุขภาพจิตใจ ความเครียด ความวิตกกังวลต่างๆ มีผลทำให้การทำงานของรังไข่เกิดความผิดปกติ เช่น มีการตกไข่นานๆ ครั้ง หรือไม่มีการตกไข่เลย สภาพจิตใจจึงมีผลต่อภาวะมีลูกยาก
สำหรับฝ่ายชาย ความเครียดหรือสภาพจิตใจ มีผลทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรือเกิดภาวะหลั่งอสุจิเร็วเกินไป - พฤติกรรมการใช้ชีวิตและปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ
สำหรับฝ่ายหญิง การสูบบุหรี่เป็นประจำหรือได้รับควันบุหรี่บ่อยๆ จะส่งผลต่ออัตราการตั้งครรภ์ลดลง หากสูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดภาวะเสี่ยงแท้งได้ง่ายกว่าปกติ
สำหรับฝ่ายชาย การสูบบุหรี่เป็นประจำจะทำให้ความสามารถในการเคลื่อนที่ของอสุจิ และการผลิตน้ำเชื้ออสุจิลดลง รวมไปถึงเสื่อมสมรรถทางเพศ ลูกมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติทางด้านสมองและร่างกาย สารพิษต่างๆ ก็สามารถทำให้เกิดภาวะมีลูกยากได้ เช่น ยาฆ่าแมลง ตะกั่ว ปรอท รวมไปถึงอุณหภูมิที่สูงเกินก็อาจทำให้การสร้างเซลล์สืบพันธุ์บกพร่อง
นอกจากนี้การนอนหลับพักผ่อน ไม่ออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้รังไข่เสื่อมเร็วและเชื้ออสุจิไม่แข็งแรง - พฤติกรรมการรับประทานอาหาร
พฤติกรรมการรับประทานอาหารในชีวิตประจำก็มีส่วนทำให้เกิดภาวะมีลูกยาก โดยผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วนจะเสี่ยงต่อการมีลูกยาก และจะมีฮอร์โมนเพศชายเยอะกว่าปกติ จึงทำให้ไข่ไม่ตก นอกจากนี้ยังเสี่ยงเกิดโรคภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
การตรวจหาสาเหตุของการมีบุตรยาก
ฝ่ายหญิง
- ตรวจประวัติประจำเดือนอย่างละเอียดเพื่อประเมินการทำงานของรังไข่ ความผิดปกติของมดลูก หากมีอาการปวดประจำเดือนร่วมด้วย แพทย์อาจตรวจเพื่อประเมินภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- ตรวจฮอร์โมนในร่างกายที่อาจมีผลต่อการทำงานของรังไข่
- การตรวจภายในเพื่อค้นหาความผิดปกติบริเวณอุ้งเชิงกราน เช่น เนื้องอกมดลูก ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ถุงน้ำรังไข่ รวมไปถึงมะเร็งปากมดลูก
- การตรวจโดยการฉีดสี (Hysterosalpingography : HSG) เพื่อประเมินความผิดปกติของท่อนำไข่และโพรงมดลูก ประเมินการทำงานของรังไข่และการตกไข่ด้วยระดับฮอร์โมน FSH, LH
ฝ่ายชาย
- ตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ และบริเวณถุงอัณฑะอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติของอสุจิ
การป้องกันภาวะมีบุตรยาก
มีลูกยากทำไงดี? ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อป้องกันภาวะมีบุตรยาก
การป้องกันภาวะมีบุตรยากสำหรับผู้ชาย
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติด
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนเกินไป เช่น ห้องซาวน่า การอาบน้ำร้อนจัด เพราะอุณหภูมิอาจส่งผลต่อคุณภาพการเคลื่อนที่ของสเปิร์ม
- หลีกเลี่ยงมลภาวะจากอุตสาหกรรม หรือมลภาวะที่เป็นพิษ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางตัวที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะมีลูกยาก เช่น การใช้ยากลุ่ม Glucocorticoid ในระยะยาว เนื่องจากจะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรน (Testosterone) ลดลง ในกรณีนี้ควรเข้าไปปรึกษาการใช้ยากับแพทย์
- การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยเรื่องคุณภาพของอสุจิให้แข็งแรง ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์
การป้องกันภาวะมีบุตรยากสำหรับผู้หญิง
- เลิกสูบบุหรี่ เพราะสารในบุหรี่ส่งผลให้เกิดภาวะมีลูกยาก นอกจากนั้นหากตั้งครรภ์สารต่างๆ ยังส่งผลต่อทารกในครรภ์อีกด้วย
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดและแอลกอฮอล์
- จำกัดการดื่มคาเฟอีน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- พยายามควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากหรือน้อยจนเกินไป เพราะน้ำหนักจะส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนที่สำคัญในการสืบพันธุ์
ทางเลือกสำหรับผู้ที่มีบุตรยาก

ในปัจจุบันการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากได้มีการนำเอาเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เข้ามาช่วยรักษาภาวะมีลูกยากและเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว IUI IVF ICSI อีกทั้งการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ได้มีการพัฒนาเพื่อหาสาเหตุความผิดปกติของพันธุกรรมก่อนการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก เช่น การตรวจคัดกรองโครโมโซม NGS PGD PGS เพื่อป้องกันการเกิดความผิดปกติของพันธุกรรม
IVF (In Vitro Fertilization) คือการนำเอาเซลล์ไข่และอสุจิมาปฏิสนธินอกร่างกาย เพื่อให้ได้เซลล์ตัวอ่อน โดยในปัจจุบันมีการเลี้ยงตัวอ่อนได้ถึงระยะที่ 5 บลาสโตซิส (Blastocyst) จากนั้นจึงย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก
ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) คือกระบวนการช่วยปฏิสนธิภายนอกร่างกาย โดยใช้เชื้ออสุจิ 1 ตัว ฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่ 1 ใบ เพื่อเพิ่มอัตราในการปฏิสนธิและการตั้งครรภ์ นิยมใช้ในกรณีที่ฝ่ายชายมีจำนวนอสุจิน้อย
IUI (Intrauterine insemination) เป็นการรักษาภาวะมีลูกยาก โดยการฉีดน้ำเชื้ออสุจิเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ ใช้ในกรณีที่คู่สมรสมีบุตรยากแบบหาสาเหตุไม่ได้ หรือคุณภาพอสุจิอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือมีความผิดปกติเล็กน้อย
NGS
NGS (Next Generation Sequencing) การตรวจคัดกรองวิเคราะห์ความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อน เพื่อลดปัญหาตัวอ่อนไม่ฝังตัว และเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์
PGD
PGD (Preimplantation Genetic Diagnosis) คือการตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมในตัวอ่อน สำหรับคู่สมรสที่มีพาหะของโรคทางพันธุกรรม ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการมีลูกที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เป็นต้น
PGS
PGS (PreimplantationGeneticScreening) เป็นการตรวจคัดกรองความผิดปกติของพันธุกรรมของตัวอ่อน และคัดเลือกตัวอ่อนที่มีโครโมโซมปกติเพื่อย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก
คำถามที่พบบ่อย
คำถาม : คนท้องสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม
คำตอบ : ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ ยกเว้นในกรณีที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ เช่น คุณแม่ที่เคยแท้งบุตร หรือคลอดก่อนกำหนดมาก่อน และคุณแม่ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ เพราะอาจจะกระตุ้นให้มีเลือดออกมาและเป็นอันตรายได้
แต่ทั้งนี้ควรเว้นการมีเพศสัมพันธ์เป็นบางช่วง เช่น ตอนใกล้จะคลอด เพราะอาจทำให้ถุงน้ำคร่ำที่ล้อมรอบตัวทารกเกิดการแตกหรือรั่ว
คำถาม : ท่าในการมีเพศสัมพันธ์มีผลต่อการตั้งครรภ์ไหม
คำตอบ : การเลือกท่วงท่าที่เหมาะสมในการมีเพศสัมพันธ์ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ เช่น ท่าที่ต้องใช้การดันอวัยวะเพศฝ่ายชายให้ลึก ใกล้กับมดลูกมากที่สุดเพื่อลดระยะการเคลื่อนไหวอสุจิให้เข้าไปผสมกับไข่ได้มากยิ่งขึ้น
คำถาม : ยาบำรุงสามารถรักษาภาวะมีลูกยากได้ไหม
คำตอบ : ยาบำรุงหรือวิตามิน อาหารเสริม ไม่สามารถรักษาภาวะมีลูกยากได้ แต่มีส่วนช่วยในการบำรุงไข่และอสุจิให้มีคุณภาพ สมบูรณ์ขึ้น
โดยวิตามินที่แพทย์แนะนำให้ทานสำหรับผู้หญิงเพื่อเพิ่มคุณภาพของไข่ให้ดีขึ้น เช่น วิตามินดี วิตามินซี โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10) สำหรับผู้ชายแพทย์แนะนำให้ทานซิงค์ (Zinc) วิตามินบี แอสตาแซนธิน (Astaxanthin) จะทำให้คุณภาพของน้ำเชื้อดีขึ้นและเพิ่มปริมาณขึ้นมาเล็กน้อย หากรับประทานร่วมกับอาหารที่มีประโยชน์ก็จะช่วยเพิ่มคุณภาพ และเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์
คำถาม : จำนวนอสุจิมีผลต่อการตั้งครรภ์ไหม
คำตอบ : จำนวนตัวอสุจิ รูปร่างลักษณะ การเคลื่อนไหว ความเข้มข้นของน้ำอสุจิมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการตั้งครรภ์ โดยจำนวนอสุจิที่ปกติจะมีจำนวนประมาณ 39 ล้านตัว เนื่องจากการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติต้องใช้ตัวอสุจิอย่างน้อย 10-15 ล้านตัว เพื่อให้เพียงพอต่อการปฏิสนธิ
คำถาม : มีปีกมดลูกแค่ข้างเดียวสามารถมีลูกได้ไหม
คำตอบ : มีปีกมดลูกข้างเดียวก็สามารถตั้งครรภ์และมีลูกได้ เพราะว่ายังมีการผลิตฮอร์โมนสำหรับตกไข่ได้และยังคงมีประจำเดือนได้ตามปกติ
คำถาม : ภาวะมดลูกต่ำมีผลต่อการมีบุตรยากไหม
คำตอบ : ภาวะมดลูกต่ำมีผลต่อการมีบุตรยากไหมนั้นขึ้นอยู่กับความระดับความรุนแรงของอาการ หากมีอาการเล็กน้อยก็ยังคงสามารถตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้ผู้ที่เข้าข่ายภาวะมดลูกต่ำและต้องการมีบุตรควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อรับการประเมินอาการและเข้ารับการรักษา
สรุป
ภาวะมีบุตรยากคือการที่คู่สมรสมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานานเกิน 1 ปี แล้วยังไม่เกิดการตั้งครรภ์ รวมไปถึงสาเหตุจากฝ่ายหญิงและฝ่ายชายด้วย ความสำเร็จในการรักษาบุตรยากขึ้นอยู่กับสาเหตุของการมีลูกยาก ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์และเทคโนโลยีสามารถรักษาภาวะมีบุตรยากได้โดยการทำเด็กหลอดแก้ว อีกทั้งยังสามารถใช้ตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อนได้อีกด้วย
ดังนั้นคู่สมรสจึงควรให้ความสำคัญกับการตรวจประเมินร่างกายเพื่อหาสาเหตุอย่างครบถ้วนเพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์