อายุครรภ์ (Gestational age) มีวิธีนับอย่างไรบ้างให้ได้ผลที่แม่นยำ

อายุครรภ์

การนับอายุครรภ์ถือเป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่มือใหม่ควรให้ความใส่ใจ เมื่อทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ควรเข้ารับการฝากครรภ์ทันที (ไม่ควรเกิน 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน) เพราะยิ่งทราบอายุครรภ์เร็วเท่าไรก็จะยิ่งดีต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ 

การทราบอายุครรภ์นั้นสามารถบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ได้ รวมไปถึงยังช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยวางแผนการฝากครรภ์ ตรวจครรภ์ได้ดียิ่งขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพ เป็นต้น อีกทั้งแพทย์ยังสามารถแจ้งกำหนดวันคลอดคร่าวๆ ได้อีกด้วย

อายุครรภ์ นับอย่างไร

การนับอายุครรภ์ คือการคำนวณอายุการตั้งครรภ์ เพื่อให้ทราบว่าขณะนี้คุณแม่อายุครรภ์เท่าไร และทารกในครรภ์ควรจะมีพัฒนาการอย่างไร รวมไปถึงยังสามารถตรวจดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้อีกด้วย

ปกติแล้วอายุครรภ์โดยรวมจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่เริ่มมีการตั้งครรภ์ไปจนถึงวันคลอดลูก โดยจะอยู่ที่ 40 สัปดาห์ หรือ 280 วัน หรือที่รู้จักกันคือ 9 เดือน 

สำหรับวิธีการนับอายุครรภ์มี 2 วิธี ดังนี้

1. วิธีการนับอายุครรภ์จากวันที่มีประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย

วิธีการนับอายุครรภ์สามารถเริ่มนับได้จากวันแรกของประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย โดยจะถือว่าเป็นวันแรกของการตั้งครรภ์ ตัวอย่างเช่น

ประจำเดือนมาครั้งล่าสุดคือวันที่ 10-14 เมษายน หลังจากนั้นก็ไม่มีประจำเดือนมาอีกเลย และตรวจพบว่าท้อง เราก็จะนับวันแรกของประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย ซึ่งก็คือวันที่ 10 เมษายน เป็นวันแรกของการตั้งครรภ์

เมื่อทราบวันแรกของการตั้งครรภ์ได้แล้ว คุณแม่ยังสามารถคำนวณวันกำหนดคลอดคร่าวๆ ได้ ดังนี้

  • นับเพิ่มจากวันแรกของประเดือนมาครั้งสุดท้าย ไปอีก 9 เดือน 7 วัน

เช่น วันแรกของประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายคือ วันที่ 10 มีนาคม ให้นับเพิ่มตามปฏิทินไปอีก 9 เดือน จะเท่ากับวันที่ 10 ธันวาคม จากนั้นบวกเพิ่มอีก 7 วัน คุณแม่ก็จะได้วันกำหนดคลอดคร่าวๆ คือ วันที่ 17 ธันวาคม ในปีเดียวกัน

  • นับย้อนหลังจากวันแรกของประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย ไป 3 เดือน แล้วบวกเพิ่ม 7 วัน

เช่น วันแรกของประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายคือ วันที่ 10 มีนาคม เมื่อนับย้อนหลังไป 3 เดือน จะเท่ากับ 10 ธันวาคม จากนั้นบวกเพิ่มอีก 7 วัน ก็จะได้วันกำหนดคลอดคร่าวๆ คือ วันที่ 17 ธันวาคมเช่นเดียวกัน

2. นับอายุครรภ์ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound)

การเช็กอายุครรภ์สามารถคำนวณได้จากการตรวจอัลตราซาวด์ หากพบว่าตั้งครรภ์แล้ว คุณแม่ควรรีบเข้ารับการฝากครรภ์ทันทีเพื่อทำการตรวจอัลตราซาวด์ทันที โดยการอัลตราซาวด์ครั้งแรกของการฝากครรภ์ จะทำให้คุณแม่ทราบอายุครรภ์ที่แน่นอน และเป็นการตรวจยืนยันการตั้งครรภ์ จำนวนทารก ดูการเต้นหัวใจ รวมถึงตรวจดูความเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูกหรือท้องลม อีกทั้งยังสามารถกำหนดช่วงวันคลอดได้อย่างแม่นยำ

การตรวจอัลตราซาวด์ในครรภ์ที่อายุน้อยกว่า 10 สัปดาห์ หรือในช่วงไตรมาสแรก จะเป็นการตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด เมื่ออายุครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 จึงจะสามารถอัตราซาวด์ผ่านทางหน้าท้องได้

อย่างไรก็ตามคุณแม่ควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์อย่างน้อย 1 ครั้ง ในทุกไตรมาส เพื่อติดตามพัฒนาการของทารก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุครรภ์ 18-21 สัปดาห์ หรือในช่วงเดือนที่ 5 คุณแม่ควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์อย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อตรวจหาความพิการในทารกอย่างละเอียด (Anomaly Scan) และตรวจการเจริญเติบโตของทารก แต่ถ้าหากคุณแม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน แพทย์อาจแนะนำให้มาตรวจถี่ขึ้น เช่น ทุกสัปดาห์ หรือเดือนละ 1 ครั้ง

นับอายุครรภ์อย่างไร หากมาจาก ICSI หรือ IVF

นับอายุครรภ์

หากคุณแม่ตั้งครรภ์โดยวิธีการปฏิสนธินอกร่างกาย อย่างการทำเด็กหลอดแก้ว ICSI หรือ IVF การนับอายุครรภ์ก็อาจจะแตกต่างออกไปเล็กน้อย 

การย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก มี 2 วิธี คือการย้ายตัวอ่อนในรอบสด และการย้ายตัวอ่อนในรอบแช่แข็ง โดยมีวิธีการนับอายุครรภ์ ดังนี้

การย้ายตัวอ่อนในรอบสด

จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่เก็บไข่ โดยในวันที่เก็บไข่ จะถือว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 2 สัปดาห์ 

การใช้ตัวอ่อนจากการแช่แข็ง 

การตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 2 จะเริ่มขึ้นเมื่อ วันที่ย้ายตัวอ่อนลบกับจำนวนวันของตัวอ่อน เช่น ตัวอ่อนอายุ 5 วันถูกย้ายเข้าสู่โพรงมดลูกในวันที่ 14 เมษายน จะถือว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 2 สัปดาห์ ในวันที่ 9 เมษายน

การนับอายุครรภ์โดยใช้แอปพลิเคชันติดตาม

ในบางครั้งการนับอายุครรภ์โดยการคำนวณเองคุณแม่อาจเกิดความสับสน หรือหลงลืมได้ ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกอย่างแอปพลิเคชันติดตามอายุครรภ์ หรือช่วยนับอายุครรภ์ เพื่อให้คุณแม่มือใหม่สามารถนับอายุครรภ์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

โดยแอปพลิเคชันติดตามอายุครรภ์อาจจะต้องใช้ข้อมูลประกอบเพื่อคำนวณหาอายุครรภ์ดังนี้

  • รอบเดือนครั้งล่าสุด
  • วันแรกของการมีรอบเดือนครั้งสุดท้าย
  • จำนวนวันของรอบเดือนตามปกติในแต่ละเดือน

อายุครรภ์ตามเดือนและไตรมาส

คำนวณอายุครรภ์

การนับอายุครรภ์หลายๆ คนอาจนับเป็นเดือนเพราะเรียกง่ายกว่า แต่อย่าลืมว่าในแต่ละเดือนมีสัปดาห์ไม่เท่ากัน บางเดือนมี 4 สัปดาห์ บางเดือนมี 5 สัปดาห์ ดังนั้นการนับอายุครรภ์จึงควรนับเป็นสัปดาห์ เพราะจะได้เห็นพัฒนาการของทารกที่ละเอียดกว่านั่นเอง

โดยการนับอายุครรภ์ตามเดือนและไตรมาสมีตารางนับอายุครรภ์ดังนี้

ไตรมาสที่ 1

เดือนที่ 1 สัปดาห์ที่ 1-4

เดือนที่ 2 สัปดาห์ที่ 5-8

เดือนที่ 3 สัปดาห์ที่ 9-13

ไตรมาสที่ 2

เดือนที่ 4 สัปดาห์ที่ 14-17

เดือนที่ 5 สัปดาห์ที่ 18-21

เดือนที่ 6 สัปดาห์ที่ 22-26

ไตรมาสที่ 3

เดือนที่ 7 สัปดาห์ที่ 27-30

เดือนที่ 8 สัปดาห์ที่ 31-35

เดือนที่ 9 สัปดาห์ที่ 36-40

แล้วการนับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์ นับอย่างไร?

การนับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์นั้นจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ก่อน ถึงจะสามารถคำนวณออกมาเป็นสัปดาห์ได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ต้องใช้การอ้างอิงจากวันแรกของประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย เพราะถือว่าเป็นวันแรกของการตั้งครรภ์ เมื่อผ่านไปอีกประมาณ 2 สัปดาห์ ก็จะเป็นช่วงเวลาที่สามารถตรวจพบการตั้งครรภ์

ถึงแม้ว่าคุณแม่จะพบว่ากำลังตั้งครรภ์ แต่ไม่ได้หมายความว่ากำลังตั้งครรภ์ได้ 2 สัปดาห์ เพราะอาจตรวจเจอเมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือน หรือ 2 เดือนแล้ว ดังนั้นคุณแม่ควรเข้ารับการตรวจครรภ์โดยตรงกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูตินรีเวชก่อน เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัย คำนวณออกมาเป็นสัปดาห์ได้แม่นยำยิ่งขึ้น

การนับอายุครรภ์มีประโยชน์อย่างไร

การนับอายุครรภ์มีประโยชน์สำหรับคุณแม่มือใหม่ดังนี้

  • แพทย์สามารถตรวจพบความผิดปกติได้หากคุณแม่มีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
  • แพทย์สามารถนัดวันสำหรับตรวจอัลตราซาวด์เพื่อดูเพศของลูกได้
  • การนับอายุครรภ์สามารถติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ รวมถึงความผิดปกติของทารก
  • แพทย์สามารถคาดการณ์กำหนดวันคลอดที่แม่นยำได้
  • คุณแม่สามารถดูแลตนเองให้เหมาะกับอายุครรภ์ปัจจุบันได้ เพื่อให้เด็กทารกแข็งแรง สมวัย

ตรวจอัลตราซาวด์แต่ละครั้งดูอะไรบ้าง

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์อย่างน้อย 3 ครั้ง หรือตรวจทุกๆ ไตรมาส เพื่อเป็นการตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์ ประเมินน้ำหนัก ปริมาณน้ำคร่ำ เป็นระยะๆ 

ทั้งนี้ความถี่ในการตรวจอัลตราซาวด์จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่ดูแลการฝากครรภ์ โดยรายละเอียดการตรวจแต่ละครั้งมีดังนี้

ไตรมาสที่ 1 ควรทำการอัลตราซาวด์เพื่อดูว่าเป็นการท้องนอกมดลูกหรือในมดลูก เพื่อกำหนดอายุครรภ์ และกำหนดวันคลอด

ไตรมาสที่ 2 จะทำการตรวจความสมบูรณ์ของอวัยวะทารกในครรภ์ เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 18-20 สัปดาห์ 

ไตรมาสที่ 3 จะเป็นการตรวจดูความเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ น้ำหนักทารก รวมถึงตรวจดูความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเป็นการวางแผนกำหนดคลอด

ท้องกี่สัปดาห์ถึงจะตรวจเจอ

ท้องกี่สัปดาห์ถึงตรวจเจอ? เมื่อเชื้ออสุจิผสมกับไข่ตก จะเกิดการแบ่งตัวของเซลล์ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งไข่จะอยู่ในท่อนำไข่เป็นเวลาประมาณ 3-4 วัน แล้วจึงค่อยเคลื่อนตัวไปยังมดลูกเพื่อฝังตัวที่ผนังมดลูก หลังตัวอ่อนฝังตัว ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนการตั้งครรภ์ขึ้น หรือฮอร์โมน HCG โดยสามารถตรวจหาฮอร์โมนนี้ได้หลังจาก 1-2 สัปดาห์ หลังจากการมีปฏิสนธิ

อย่างไรก็ตามคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในระยะ 1-2 สัปดาห์แรก ร่างกายอาจไม่ค่อยแสดงสัญญาณที่บ่งบอกว่ากำลังตั้งครรภ์ เช่น การแพ้ท้อง การตรวจการตั้งครรภ์ด้วยชุดตรวจทั่วไปอาจแสดงผลไม่ชัดเจน คุณหมอจึงแนะนำให้คุณแม่มาตรวจการตั้งครรภ์กับแพทย์โดยตรงเพื่อจะได้ทราบผลที่แน่ชัด และถ้าหากตั้งครรภ์จะได้เข้ารับการฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์

อ่านบทความเพิ่มเติม : วิธีนับวันไข่ตกให้ชัวร์ เพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์

กำหนดคลอดแม่นแค่ไหน

การนับวันกำหนดคลอดเองอาจจะมีการคลาดเคลื่อนได้ เพราะในแต่ละเดือนมีจำนวนเดือนไม่เท่ากัน บางเดือนมี 30 วัน บางเดือนมี 31 วัน รวมถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่มีทั้ง 28 และ 29 วัน เพื่อการคำนวณที่แม่นยำมากขึ้น คุณแม่ควรเริ่มนับเป็นสัปดาห์ ตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย นับไปทั้งสิ้น 40 สัปดาห์ ทั้งนี้คุณแม่ควรเข้ารับการฝากครรภ์เพื่อให้แพทย์ช่วยคำนวณวันกำหนดคลอดร่วมกับการอัลตราซาวด์ เพื่อให้ได้วันกำหนดคลอดที่ค่อนข้างแม่นยำ

ตรวจอัลตราซาวด์บ่อยๆ จะส่งผลต่อทารกในครรภ์ไหม

จากข้อมูลที่มีในปัจจุบันยังไม่พบว่าการตรวจอัลตราซาวด์บ่อยๆ จะส่งผลอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ ทั้งในเรื่องของการพัฒนาการและการเจริญเติบโต ความพิการ โรคมะเร็ง หรือความผิดปกติอื่นๆ หลังการคลอด 

สรุป

การนับอายุครรภ์สำหรับคุณแม่มือใหม่เป็นสิ่งสำคัญที่ควรให้ความใส่ใจ เนื่องจากการทราบอายุครรภ์จะช่วยให้คุณแม่คำนวณวันกำหนดคลอดคร่าวๆ ได้ รวมถึงยังช่วยติดตามพัฒนาการของเด็กทารกในครรภ์ ความสมบูรณ์ของทารก และสุขภาพของคุณแม่ด้วย

Wellnesshealth Club เราส่งเสริมสุขภาพสตรี และให้บริการด้านสุขภาพของผู้หญิงแบบองค์รวม รวมถึงช่วยการวางแผนมีบุตรอย่างครอบคลุม โดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ พร้อมบริการอย่างใกล้ชิด

เอกสารอ้างอิง

DeLong O. (2022, July 29). Pregnancy Due Date Calculator. BabyCenter. https://www.babycenter.com/pregnancy-due-date-calculator

How to Count Your Pregnancy Weeks. (2022, January 13). Babylist. https://www.babylist.com/hello-baby/count-pregnancy-weeks#:~:text=How%20to%20Count%20Pregnancy%20Weeks,as%20high%20as%20Week%2042