อยากมีลูก เตรียมตัวอย่างไรให้มีลูกง่าย ลดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์?

อยากมีลูก

สำหรับผู้ที่อยากมีลูกนั้น การมีลูกจะสร้างความสุขและความอบอุ่นให้ครอบครัวอย่างมาก แต่การมีลูกสักคนอาจเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่แค่เรื่องการเลี้ยงดู แต่เรื่องการทำให้มีลูกและวิธีการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อมีลูกนั้นก็มีหลายเรื่องให้ต้องคำนึงถึงไม่แพ้กัน

ในบทความนี้ Wellness Health Center ได้รวบรวมสิ่งที่ควรรู้ก่อนการมีลูกสำหรับผู้ที่อยาก ตั้งแต่อยากมีลูกต้องทำอย่างไร? วิธีการเตรียมตัวในทางการแพทย์ มีอะไรกับแฟนทุกวันแต่ยังไม่มีลูก มีลูกยาก ควรแก้ไขอย่างไร ไปจนถึงวิธีการเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อมีลูก และตอบคำถามอื่นๆ สำหรับผู้ที่อยากมีลูก

สารบัญบทความ

เรื่องควรรู้หากอยากมีลูก

สำหรับผู้ที่อยากมีลูก กำลังวางแผนว่าจะตั้งครรภ์ ควรรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ก่อนว่าควรทำอย่างไรจึงจะตั้งครรภ์ง่าย และในกรณีไหนบ้างที่ควรเข้าพบแพทย์เกี่ยวกับการมีบุตรยาก โดยเรื่องควรทราบสำหรับผู้ที่อยากมีลูก มีดังนี้

1. รู้จักการนับวันไข่ตก และวันมีเพศสัมพันธ์

เมื่อไข่ตกออกมา 1 ครั้งต่อเดือน ไข่จะมีระยะเวลาที่อยู่ในท่อนำไข่เพื่อรอปฏิสนธิเพียง 1 วันก่อนจะฝ่อไป ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์ให้ถูกวันจะสามารถเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้มากขึ้นได้ การเรียนรู้การนับวันไข่ตกและวันมีเพศสัมพันธ์จึงสำคัญมาก

จะทราบวันไข่ตกได้อย่างไร? เราจะทราบวันไข่ตกได้หากเรารู้ระยะรอบเดือนของตนเอง ผู้ที่อยากมีลูกควรจดวันที่ประจำเดือนมาวันแรกไว้อยู่เสมอ เพื่อตรวจสอบว่าระยะรอบเดือนของตนเองหนึ่งรอบมีประมาณกี่วัน และมาอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ สำหรับผู้ที่รอบเดือนมาสม่ำเสมอจะสามารถนับวันไข่ตกได้ง่าย

วันไข่ตกจะอยู่ประมาณ 14 วันหรือ 2 สัปดาห์ก่อนประจำเดือนมาวันแรก ดังนั้นวิธีการนับคือให้นับจากวันที่รอบเดือนจะมาในครั้งถัดไป นับถอยหลังมา 14 วัน ตัวอย่างเช่น รอบเดือน 1 รอบมาสม่ำเสมอทุกๆ 28 วัน รอบเดือนรอบที่แล้วมาในวันที่ 1 มกราคม ดังนั้น รอบเดือนรอบถัดไปจะมาวันที่ 28 มกราคม เมื่อต้องการนับวันไข่ตก ให้นับถอยหลังจากวันที่ 28 มกราคมมา 14 วัน วันไข่ตกก็จะเป็นวันที่ 15 มกราคมนั่นเอง

เมื่อได้วันไข่ตกแล้ว ควรมีเพศสัมพันธ์วันไหน? อสุจิจากฝ่ายชายสามารถมีชีวิตอยู่ในโพรงมดลูกและท่อนำไข่เพื่อรอปฏิสนธิได้ประมาณ 2 – 3 วันก่อนที่จะฝ่อไปเอง ดังนั้นควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 1 – 2 วันก่อนการตกไข่ เพราะจะทำให้อสุจิเข้าไปรอการผสมกับไข่ที่ท่อนำไข่ และปฏิสนธิได้เลยเมื่อไข่ตกออกมา สามารถมีเพศสัมพันธ์ในวันไข่ตกและหลังวันไข่ตกได้อีกประมาณ 1 – 2 วัน เพื่อเพิ่มโอกาสปฏิสนธิในกรณีที่ไข่ตกคลาดเคลื่อน

หากประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ควรทำอย่างไร? การที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ไข่ตกไม่แน่นอน บางครั้งอาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมนหรืออวัยวะในระบบสืบพันธุ์ร่วมด้วย ทำให้ผู้ที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอเสี่ยงเกิดภาวะมีบุตรยาก ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายโดยละเอียด

หากประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอเพียงอย่างเดียว อาจจะต้องพึ่งแพทย์ในการกำหนดวันไข่ตก แพทย์สามารถระบุวันตกไข่ได้จากการตรวจวัดระดับฮอร์โมน หรือบางครั้งแพทย์อาจจะแนะนำให้ใช้ยากระตุ้นการตกไข่ เพื่อกำหนดวันไข่ตกให้แม่นยำมากขึ้น จากนั้นจึงกำหนดวันมีเพศสัมพันธ์ หรืออาจใช้การฉีดเชื้อผสมเทียมช่วยเพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้มากขึ้น

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวันไข่ตก : วันไข่ตก

2. วิธีการมีเพศสัมพันธ์ที่ช่วยให้ตั้งครรภ์ง่ายขึ้น

หลายคนที่อยากมีลูก เข้าใจว่ายิ่งมีเพศสัมพันธ์บ่อย ยิ่งมีลูกง่ายขึ้น แต่จริงๆแล้วการที่มีเพศสัมพันธ์บ่อยเกินไปจะทำให้น้ำเชื้อของเพศชายที่หลั่งออกมาในรอบหลังๆ มีคุณภาพลดลงได้ ทำให้ในบางกรณีอาจส่งผลให้มีโอกาสมีลูกน้อยลงกว่าเดิม

ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์ที่พอดี โดยการมีเพศสัมพันธ์วันเว้นวัน หรือเว้นสองวัน จะช่วยให้น้ำเชื้อที่หลั่งออกมามีคุณภาพมากขึ้น เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้มากขึ้นได้

นอกจากนี้ หลังจากมีเพศสัมพันธ์และหลั่งใน ฝ่ายหญิงไม่ควรลุกขึ้นทันที ควรจะนอนหงายและยกสะโพกขึ้น เพื่อให้อสุจิเคลื่อนที่ไปยังท่อนำไข่ได้ดีมากขึ้น เพิ่มโอกาสการปฏิสนธิเมื่อมีเพศสัมพันธ์ในวันไข่ตก

3. ในการวางแผนครอบครัว ผู้หญิงควรตั้งครรภ์ก่อนอายุ 35 ปี

ทำไมผู้ที่อยากมีลูกด้วยตนเอง ควรตั้งครรภ์ก่อนอายุ 35 ปี? ไม่ว่าจะตั้งครรภ์ด้วยวิธีการตามธรรมชาติ ฉีดเชื้อผสมเทียม หรือทำเด็กหลอดแก้ว ควรตั้งครรภ์และมีลูกก่อนอายุ 35 เนื่องจากร่างกายของผู้หญิงนั้นจะเสื่อมไปตามวัย มดลูกเองก็มีภาวะเสื่อมได้เช่นเดียวกัน ยิ่งอายุมาก การตั้งครรภ์สำเร็จก็จะยากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ด้วย

นอกจากนี้ไข่ที่ตกจากรังไข่ของผู้หญิงยังมีอายุของมัน และมีจำนวนจำกัด ร่างกายของผู้หญิงมีไข่อยู่จำนวนหนึ่ง หากไข่ตกจากรังไข่จนหมดแล้ว ร่างกายจะไม่สามารถสร้างไข่ขึ้นมาเพื่อปฏิสนธิและตั้งครรภ์ได้อีก

อีกทั้งไข่ที่ตกเมื่ออายุมากๆ จะมีคุณภาพที่ไม่ดี ทำให้เกิดการปฏิสนธิได้ยาก ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ผู้หญิงในวัย 35 ปีขึ้นไปจึงจะเริ่มมีภาวะมีบุตรยากนั่นเอง

ส่วนในผู้ชาย อายุไม่ได้มีผลกับคุณภาพน้ำเชื้อมากนัก คุณภาพของน้ำเชื้ออาจลดลงได้ตามอายุ แต่ก็ไม่ได้มีผลกับการมีลูกได้มากเท่าผู้หญิง

4. รู้จักภาวะมีบุตรยาก

อยากท้อง

ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) เป็นภาวะที่ร่างกายของฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง หรือทั้งสองฝ่าย มีความผิดปกติบางอย่างทั้งที่หาสาเหตุได้ และหาสามเหตุไม่ได้ ทำให้การมีลูกด้วยวิธีการตามธรรมชาตินั้นยากขึ้นสำหรับผู้ที่อยากมีลูก โดยข้อสังเกตในเบื้องต้นว่าฝ่ายหญิงและฝ่ายชายอาจมีภาวะมีบุตรยาก มีดังนี้

  • ฝ่ายหญิง
    • อายุมากกว่า 35 ปี
    • เคยมีปัญหาเกี่ยวกับมดลูกหรือรังไข่
    • มีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน
    • ประจำเดือนมาไม่ปกติ นานๆมาที ปวดประจำเดือนรุนแรง หรือมีประจำเดือนมากกว่าปกติ
    • เคยผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน
    • เคยปวดท้องน้อยอย่างมากจากสาเหตุต่างๆ
    • อุ้งเชิงกรานเคยอักเสบจากการติดเชื้อ จนอาจทำให้ท่อนำไข่ตันได้
  • ฝ่ายชาย
    • เคยติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หรือติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ต่างๆ
    • เคยติดเชื้อคางทูมในวัยเด็ก
    • เคยผ่าตัดไส้เลื่อน หรือผ่าตัดอื่นๆบริเวณถุงอัณฑะ
    • โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น มะเร็งในวัยเด็ก ที่เคยได้รับการฉายแสง หรือเคมีบำบัดบริเวณท้องน้อยหรือว่าอัณฑะ

หากมีอาการดังกล่าวควรรีบเข้าพบแพทย์ เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะมีภาวะมีบุตรยากค่อนข้างสูง หรือหากไม่ได้มีอาการดังกล่าวเลย แต่พยายามมีลูกมาประมาณ 6 – 12 เดือนแล้วยังไม่มีลูก ก็ควรมาพบแพทย์เนื่องจากมีแนวโน้มว่าจะมีภาวะมีบุตรยากเช่นกัน

ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากในบางกรณี ยังคงสามารถมีบุตรได้ อาการบางอย่างสามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ หรืออาจจะใช้การผสมเทียม หรือเด็กหลอดแก้วช่วยเพื่อให้ตั้งครรภ์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุของภาวะมีบุตรยากด้วย

การเตรียมความพร้อมในด้านสุขภาพ

การเตรียมความพร้อมในด้านสุขภาพ เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ที่อยากมีลูก เพราะนอกจากจะทำให้มีโอกาสมีลูกมากขึ้น ช่วยในเรื่องการมีลูกยากได้บ้าง ยังทำให้สามารถลดความเสี่ยงของภาวะแท้ง หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เมื่อตั้งครรภ์ได้ด้วย

การเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพควรทำร่วมกันทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เพื่อเพิ่มโอกาสมีลูกและสร้างความสัมพันธ์ดีต่อกันของคู่รัก โดยเรื่องที่ควรควบคุม ปรับเปลี่ยน เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมกับการตั้งครรภ์และมีลูก มีดังนี้

1. ผ่านคลายความเครียด

วิธีมีลูกลำดับแรกคือการจัดการกับความเครียด แม้ความเครียดจะเป็นเรื่องของสภาวะอารมณ์ แต่สำหรับผู้ที่อยากมีลูกแล้ว ความเครียดสามารถส่งผลเสียกับร่างกายอย่างมาก

ความเครียดไม่ว่าจะจากความกังวลเรื่องงาน เรื่องการตั้งครรภ์ การมีบุตร หรือเรื่องชีวิตในส่วนอื่นๆ มีผลทำให้เครียดได้ทั้งสิ้น ซึ่งความเครียดนี้เองที่มีแนวโน้มทำให้อัตราการตั้งครรภ์ลดลง

ในทางทฤษฎีแล้ว ความเครียดสามารถทำให้อัตราการตั้งครรภ์ลดลงได้ โดยเมื่อคนเราเครียด ร่างกายจะหลั่ง Cortisol, Corticotropin – relesing hormone (CRH) และสารอื่นๆออกมา ทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงในหลายๆทาง อย่างเช่น หัวใจเต้นแรง หายใจสั้นลง ความดันสูง หรือปวดหัว

นอกจากนี้ความเครียดที่มากเกินไปยังส่งผลให้ร่างกายหยุดการทำงานของระบบบางส่วน หากร่างกายหยุดการทำงานของระบบฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อ เช่น ระบบการกระตุ้นรังไข่ในเพศหญิงให้สร้างฮอร์โมนเพศหญิง (estrogen) ที่เรียกว่า HPG axis และระบบการกระตุ้นต่อมหมวกไตให้สร้างฮอร์โมนเพศชาย (Adrenal Androgen) ที่เรียกว่า HPA axis จะส่งผลกับการมีลูกได้

เมื่อระบบ HPG axis ในเพศหญิงหยุดทำงาน ก็จะส่งผลในเรื่องการตกไข่ รอบเดือน และความพร้อมในการตั้งครรภ์ และหากระบบ HPA axis ในเพศชายหยุดทำงานก็จะส่งผลกับคุณภาพของน้ำเชื้อ อาจจะจำนวนอสุจิลดลง ความเข้มข้นลดลง ไปจนถึงการเคลื่อนไหวของอสุจิไม่ดีได้ ผลเหล่านี้ทำให้โอกาสตั้งครรภ์ลดลงได้มาก

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจาก The Environment and Reproduction at the Kaiser Foundation Health Plan ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ระบุถึงผลของความเครียดในผู้ชายว่า ผู้ชายที่มีเรื่องเครียด เป็นกังวลมากกว่า 2 เรื่องขึ้นไป ในเวลาหนึ่งปี พบว่าอสุจิเคลื่อนไหวน้อยลง และมีจำนวนลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มทดลองที่ไม่มีเรื่องเครียด หรือมีเรื่องเครียดน้อยกว่า 2 เรื่อง

ทั้งนี้ในทางการวิจัยยังคงให้ผลที่ไม่แน่นอน งานวิจัยบางส่วนบอกว่าความเครียดมีผลกับอัตราการตั้งครรภ์ ส่วนงานวิจัยบางส่วนก็ให้ผลว่าความเครียดไม่ได้มีผลกับอัตราดังกล่าวแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม แพทย์ยังคงแนะนำให้ผ่อนคลายความเครียดเมื่อเตรียมตัวตั้งครรภ์ เพราะความเครียดก็มีแนวโน้มที่จะมีผลเสียกับการตั้งครรภ์ ทั้งยังส่งผลเสียกับระบบร่างกายโดยรวม การผ่อนคลายความเครียดจึงยังคงเป็นเรื่องที่ควรทำอยู่ดี

การผ่อนคลายความเครียดจำเป็นต้องทำร่วมกันทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เพราะความเครียดสามารถส่งผลต่อการมีบุตรยากจากทั้งสองฝ่าย และหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเครียด ก็มักจะมีผลกับอีกฝ่ายด้วย

2. ลดหรือเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

มีลูกยากทําไง

แอลกอฮอล์มีผลเสียอย่างมากกับร่างกาย ทั้งอาการมึนเมาและโรคที่เกี่ยวกับตับ นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังส่งผลเสียกับผู้ที่อยากมีลูก ทำให้มีลูกยากขึ้นด้วย

ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนักเป็นประจำ คือผู้ชายที่ดื่มแอลกอฮอล์ 15 ดริ๊งก์ขึ้นไปต่อสัปดาห์ หรือผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์ 8 ดริ๊งก์ขึ้นไปต่อสัปดาห์ จะมีผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์ และส่งผลให้มีลูกยากได้ ดังนี้

  • ผลของการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักในเพศชาย
    • ทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone), เอสโตรเจน (Estrogen), FSH, และ LH เปลี่ยนไป ส่งผลให้ร่างกายผลิตน้ำเชื้อได้น้อยลง คุณภาพแย่ลง อาจทำให้ผู้ชายหลั่งไวขึ้น หรือหลั่งได้น้อยลงด้วย
  • ผลของการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักในเพศหญิง
    • ทำให้ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ทั้งเทสโทสเตอโรน (Testosterone), เอสโตรเจน (Estrogen), FSH, และ LH ส่งผลให้การตกไข่และรอบประจำเดือนไม่ปกติ (Amenorrhea and Anovulation)
    • ทำให้เกิดภาวะโปรแลคตินในเลือดสูง (Hyperprolactinemia) ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนผิดปกติ ประจำเดือนและการตกไข่ผิดปกติ ความต้องการทางเพศน้อยลง เกิดภาวะมีบุตรยาก รวมทั้งอาจทำให้มีน้ำนมอย่างผิดปกติด้วย
    • สุขภาพโดยรวมไม่เหมาะกับการตั้งครรภ์ และหากยังคงดื่มหนักขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกที่เพิ่งคลอดเสี่ยงผิดปกติแต่กำเนิด

ดังนั้น สำหรับผู้ที่อยากมีลูก ควรลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง เพื่อให้มีโอกาสตั้งครรภ์มากขึ้น รวมทั้งทำให้สุขภาพแข็งแรงพร้อมต่อการตั้งครรภ์และมีลูกด้วย

3. ลดหรือเลิกการสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่นอกจากเป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังส่งผลต่อผู้ที่อยากมีลูกด้วย ทั้งส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศ ทำให้มีลูกยาก และยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ขณะตั้งครรภ์ได้ด้วย หากยังคงสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง

สารในบุหรี่ ทั้งนิโคติน (Nicotin), ไซยาไนด์ (Cyanide), น้ำมันดินหรือทาร์ (Tar), และคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) จากควันบุหรี่ ทำให้เพศหญิงเข้าสู่วัยทองและหยุดการตกไข่ก่อนวัยได้มากถึง 1 – 4 ปี โดยที่ไม่สามารถรักษาให้รังไข่กลับมาสร้างไข่อีกได้ อีกทั้งยังทำให้คุณภาพของไข่จากรังไข่ลดลงอีกด้วย

นอกจากนี้การยังสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกในครรภ์เจริญผิดปกติหรือเจริญได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ทารกตัวเล็กกว่าปกติหรือมีอวัยวะไม่สมบูรณ์ อย่างการเกิดภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ได้

ส่วนในเพศชาย การสูบบุหรี่จะทำให้ผู้ที่อยากมีลูก มีคุณภาพของอสุจิลดลง ความเข้มข้นลดลง อสุจิเคลื่อนไหวได้ไม่ดีเท่าเดิม ในขณะที่อสุจิที่ผิดปกติจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้โอกาสตั้งครรภ์จากน้ำเชื้อนี้มีน้อยลง

แล้วการสูบบุหรี่ไฟฟ้าให้ผลที่เหมือนกันกับการสูบบุหรี่หรือไม่? แม้ในบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่มีไซยาไนด์, น้ำมันดิน, หรือคาร์บอนมอนอกไซด์ แต่บุหรี่ไฟฟ้ายังคงมีนิโคตินที่ส่งผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์ และส่งผลต่อเด็กในครรภ์หากสูบขณะตั้งครรภ์ ดังนั้นผู้ที่อยากมีลูกควรเลิกบุหรี่ทุกชนิด เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

4. ควบคุมน้ำหนัก

หลายคนอาจสงสัยว่าอยากมีลูก เกี่ยวกับการควบคุมน้ำหนักด้วยหรือ? จริงๆ แล้วการคุมน้ำหนักให้ไม่เกินเกณฑ์หรืออยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่ได้มีประโยชน์เพียงทำให้มีรูปร่างที่ดีหรือมีสุขภาพโดยรวมที่ดีขึ้น แต่ยังสามารถทำให้มีลูกง่ายขึ้นได้ด้วย

การที่น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรือสูงกว่าเกณฑ์ตามค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ส่งผลกับผู้ที่อยากมีลูกได้ ดังนี้

  • ผู้ที่อยากมีลูกแต่น้ำหนักมากกว่าเกณฑ์หรือมีโรคอ้วน
    • ในผู้หญิงที่มีภาวะนี้จะมีฮอร์โมนที่ชื่อว่า Leptin สูงกว่าปกติ ฮอร์โมนตัวนี้มีผลกับกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อไขมันในร่างกาย ทั้งยังไปรบกวนสมดุลฮอร์โมน ส่งผลให้รอบเดือนและการตกไข่ผิดปกติจนทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ลดลงได้
    • หากยังคงมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ขณะตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้มีความดันเลือดสูงเนื่องจากการตั้งครรภ์ เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เสี่ยงเกิดภาวะแท้งบุตร น้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด หรือเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับเมื่อตั้งครรภ์ได้
    • ในผู้ชาย ภาวะนี้จะมีผลกับระดับฮอร์โมน ส่งผลกับการผลิตสเปิร์ม และการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ทำให้การมีลูกนั้นยากขึ้น
  • ผู้ที่อยากมีลูกแต่น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์
    • น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ไม่ได้ส่งผลต่อเพศชายมากนัก แต่ในเพศหญิงการที่น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์มีผลทำให้รอบเดือนและการตกไข่ผิดปกติ ถึงไม่ตกไข่เลย ซึ่งทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก
    • ขณะตั้งครรภ์ หากเพศหญิงยังคงมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ อาจทำให้เสี่ยงเกิดภาวะแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด ทารกที่เกิดมาอาจมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ หรือทารกมีความเสี่ยงเกิดภาวะผนังหน้าท้องมีช่องโหว่ (Gastroschisis)

ดังนั้นผู้ที่อยากมีลูกควรลดน้ำหนักหรือเพิ่มน้ำหนักให้ตามเกณฑ์ เพื่อทำให้มีลูกง่ายขึ้น ลดความเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ลง

ทั้งนี้การควบคุมน้ำหนักไม่ควรทำอย่างหักโหมเพื่อรีบมีลูก เนื่องจากอาจทำให้สุขภาพร่างกายในด้านอื่นๆ แย่ลงได้ การลดน้ำหนักที่ดีควรเริ่มจากการออกกำลังกายและควบคุมอาหาร ทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ หากต้องการคำแนะนำสามารถปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านการมีบุตรยาก เกี่ยวกับวางแผนการตั้งครรภ์ได้

สำรวจประวัติอาการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว

สูตรปั้มลูก

การสำรวจอาการเจ็บป่วยภายในครอบครัวหรือญาติพี่น้อง เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมพร้อมสำหรับผู้ที่อยากมีลูก เนื่องจากอาการเจ็บป่วยของคนในครอบครัวบางโรคสามารถส่งต่อกันทางพันธุกรรมได้ ทั้งตัวโรคและพาหะ ดังนั้นการทราบประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว จะสามารถทราบความเสี่ยงของโรคที่อาจเกิดกับลูกได้โดยคร่าว

การตรวจสุขภาพและคัดกรองยีนก่อนมีลูก

การสำรวจประวัติอาการเจ็บป่วยของคนในครอบครัวสามารถดูความเสี่ยงของการเกิดโรคในทารกได้เพียงคร่าวๆ แต่หากตรวจสุขภาพและคัดกรองยีนก่อนมีลูกจะสามารถตรวจสอบความเสี่ยงได้อย่างแม่นยำมากกว่า โดย 12 โรคที่สามารถส่งต่อทางพันธุกรรมได้ ได้แก่

  1. อัลฟาธาลัสซีเมีย (Alpha – Thalassemia) พบผู้ที่เป็นพาหะประมาณ 1 ใน 5 ของประชากร
  2. บีต้าธาลัสซีเมีย (Beta – Thalassemia) พบผู้ที่เป็นพาหะประมาณ 1 ใน 10 ของประชากร
  3. หูหนวก (Autosomal Recessive Deafness) พบผู้ที่เป็นพาหะประมาณ 4 ใน 50 ของประชากร
  4. โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Spinal Muscular Atrophy) พบผู้ที่เป็นพาหะประมาณ 1 ใน 50 ของประชากร
  5. ฟินิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) พบผู้ที่เป็นพาหะประมาณ 1 ใน 60 ของประชากร
  6. โรควิลสัน (Wilson Disease) พบผู้ที่เป็นพาหะประมาณ 1 ใน 100 ของประชากร
  7. โรคสะสมไกลโคเจนชนิดที่สอง (Glycogen Storage Disease type II) พบผู้ที่เป็นพาหะประมาณ 1 ใน 100 ของประชากร
  8. กลุ่มอาการโครโมโซมเอกซ์ (Fragile X Syndrome 1) พบผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 1,000 ของเด็กชายทั้งหมด
  9. โรคกล้ามเนื้อเสื่อมดูเซน (Duchenne Muscular Dystrophy) พบผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3,600 ของเด็กชายทั้งหมด
  10. ฮีโมฟีเลีย บี (Hemophilia B) พบผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 30,000 ของเด็กชายทั้งหมด
  11. กาแลคโตซีเมีย (Galactosemia) พบผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 60,000 ของประชากร
  12. โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) พบผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 100,000 ของประชากร

นอกจากการคัดกรองยีนเพื่อตรวจโรคที่สามารถส่งต่อทางพันธุกรรมได้แล้ว ยังควรตรวจคัดกรองโรคอื่นๆด้วย เพื่อป้องกันการส่งต่อโรคสู่คู่รักของตนเอง ส่งต่อสู่ลูก หรือบางโรคอาจมีผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ทั้งโรคซิฟิลิส, ไวรัสตับอักเสบบีและซี, หัดเยอรมัน, ไวรัสเอชไอวี, โรคอีสุกอีใส เป็นต้น

การบำรุงตัวเองก่อนตั้งครรภ์

การบำรุงตัวเองก่อนการตั้งครรภ์ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสืบพันธุ์ให้กับผู้ที่อยากมีลูก เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ และลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะตั้งครรภ์ ซึ่งการเตรียมตัวดังกล่าวควรทำร่วมกันทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย เพราะสาเหตุของการมีบุตรยากสามารถเกิดได้จากทั้งสองฝ่าย

การเตรียมตัวฝ่ายชาย

การเตรียมตัวก่อนการมีลูก ทั้งสำหรับผู้ที่อยากมีลูกตามธรรมชาติ หรือต้องการใช้เทคนิคการผสมเทียมหรือเด็กหลอดแก้ววิธีต่างๆ สิ่งที่ควรทำเพื่อให้ฝ่ายหญิงมีโอกาสการตั้งครรภ์มากขึ้น คือควรดูแลสุขภาพโดยรวม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ

โดยรายละเอียดของการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับผู้ที่อยากมีลูก มีดังนี้

  1. ดูแลสุขภาพโดยรวม ควรทำโดยการหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เสี่ยงเสียสุขภาพ หรือทำให้มีลูกยาก อย่างการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และเครียดจนเกินไป
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยการออกกำลังกายควรเน้นไปที่การทำ Cardio Exercise เพราะจะช่วยในเรื่องของการหมุนเวียนโลหิต ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายรวมถึงอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ได้ดีขึ้น โดยการออกกำลังกายควรทำอย่างต่อเนื่องประมาณครั้งละ 30 – 45 นาที อาทิตย์ละ 3 – 4 ครั้ง
    ผู้ชายที่อยากมีลูกควรหลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่กระทบกับอวัยวะเพศ เช่นการปั่นจักรยานระยะไกล หรือการขี่ม้า เนื่องจากมีผลทำให้ลูกอัณฑะกระทบกระเทือน บางครั้งจะส่งผลให้ผลิตอสุจิได้น้อยลงและมีลูกยากขึ้นนั่นเอง
  3. ทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยควรจะเน้นทานอาหารที่มีโปรตีนสูง ผักผลไม้ ควรงดอาหารจำพวกแป้ง ไขมัน อาหารแปรรูป และอาหารที่มีน้ำตาลสูง
  4. สามารถทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมได้ โดยหากสนใจทาน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้จัดอาหารเสริมให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละคน ส่วนอาหารเสริมตามปกติที่สามารถทานได้เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำเชื้อให้ดีขึ้น ได้แก่ แอสตาแซนทีน (Astaxanthin), โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10), และสังกะสี (Zinc) จะสามารถเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้เล็กน้อย
  5. ในกรณีที่ผู้ที่อยากมีลูกมีโรคประจำตัว หรือมียาที่ต้องทานประจำ ควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ว่ายาที่ใช้หรือโรคที่เป็นอยู่มีผลกับการมีลูกหรือไม่
  6. ควรตรวจโรค และตรวจโครโมโซมก่อนพยายามมีลูก เพื่อลดความเสี่ยงระหว่างการตั้งครรภ์ของฝ่ายหญิง และความเสี่ยงที่ลูกจะมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
  7. ตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ ทั้งตรวจจำนวนอสุจิ (Sperm Count) และเปอร์เซ็นต์การแตกตัวของ DNA (DNA Fragmentation) เพื่อดูว่าผู้ที่อยากมีลูก มีโอกาสตั้งครรภ์ตามธรรมชาติได้หรือไม่ ถ้าจำนวนอสุจิน้อยเกินไป หรือ DNA แตกตัวมากเกินไป จะมีโอกาสมีลูกได้น้อยลง อาจจะต้องปรับปรุงคุณภาพน้ำเชื้อก่อน หรืออาจจะต้องใช้การผสมเทียม หรือการทำเด็กหลอดแก้วแทนการตั้งครรภ์ตามปกติ

การเตรียมตัวฝ่ายหญิง

ฝ่ายหญิงจำเป็นต้องเตรียมตัวอย่างดี เพราะนอกจากจะทำให้โอกาสการตั้งครรภ์มากขึ้นแล้ว การเตรียมตัวยังสามารถลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ได้ด้วย

โดยการเตรียมตัวสำหรับฝ่ายหญิงมีสิ่งที่ควรทำดังนี้

  1. ดูแลสุขภาพโดยรวม งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และผ่อนคลายความเครียด
  2. ออกกำลังกายโดยเน้นที่ Cardio Exercise อย่างสม่ำเสมอ
  3. ทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารจำพวกโปรตีนและผักผลไม้
  4. สามารถทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมได้ โดยควรปรึกษาแพทย์เหมือนกันกับฝ่ายชาย ส่วนอาหารเสริมที่แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำให้ทาน ได้แก่ แอสตาแซนทีน (Astaxanthin), โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10), วิตามินซี (Vitamin C) และวิตามินอี (Vitamin E) เพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพของไข่ เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้เล็กน้อย
    อาหารเสริมที่สำคัญมากอีกอย่างคือ กรดโฟลิค (Folic acid) เนื่องจากสารดังกล่าวสามารถช่วยลดโอกาสที่ทารกในครรภ์จะเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับหลอดเลือดสมองได้
  5. ในกรณีที่ผู้ที่อยากมีลูกมีโรคประจำตัว หรือมียาที่ต้องทานประจำ ควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ว่ายาที่ใช้หรือโรคที่เป็นอยู่มีผลกับการมีลูก หรือมีผลกับการตั้งครรภ์หรือไม่
  6. ควรตรวจโรค และตรวจโครโมโซมก่อนพยายามมีลูก เพื่อลดความเสี่ยงระหว่างการตั้งครรภ์ และความเสี่ยงที่ลูกจะมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
    นอกจากการเตรียมตัวทางร่างกายแล้ว ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงยังควรเตรียมตัวร่วมกันในเรื่องอื่นๆด้วย ได้แก่
  7. ศึกษาเกี่ยวกับการฝากครรภ์และการตั้งครรภ์ เพื่อให้มีแพทย์ประจำที่คอยดูอาการตลอดการตั้งครรภ์
  8. ศึกษาหรือสอบถามแพทย์เกี่ยวกับวัคซีน วัคซีนบางตัวควรฉีดก่อนการตั้งครรภ์ หรือฉีดระหว่างตั้งครรภ์ได้ ในขณะที่วัคซีนบางตัวควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจมีผลกับทารกในครรภ์ได้
  9. ปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่ให้เหมาะกับการตั้งครรภ์ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับฝ่ายหญิง เนื่องจากร่างกายจะอ่อนแอมากขณะตั้งครรภ์ ทั้งยังเสี่ยงเกิดภาวะแท้งได้

การตรวจโครโมโซม NIPT ลดความเสี่ยงทารกผิดปกติ

NIPT (Non-invasive Prenatal Testing) เป็นการตรวจสารพันธุกรรมของตัวอ่อนในครรภ์ ในกรณีที่ตั้งครรภ์แล้วโดยวิธีการตามธรรมชาติหรือการฉีดเชื้อผสมเทียม เพื่อตรวจดูความผิดปกติของโครโมโซมของทารกในครรภ์ โดยจะตรวจจากเซลล์ของทารกที่จะอยู่ในเลือดของคุณแม่ การตรวจดังกล่าวให้ผลที่แม่นยำมากถึง 98 – 99%

การตรวจ NIPT สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 9 – 16 สัปดาห์ หากพบความผิดปกติ แพทย์จะให้ตรวจยืนยันอีกครั้งโดยการเจาะตรวจน้ำคร่ำต่อไป

พยายามที่จะมีลูกแต่ไม่สำเร็จ ควรทำอย่างไร

อยากมีลูกต้องทําไง

คู่รักที่อยากมีลูกบางคู่ มีอะไรกันทุกวัน นับวันมีเพศสัมพันธ์ หรือพยายามมีลูกด้วยหนทางต่างๆ มาแล้วมากกว่า 1 ปี แต่ก็ยังไม่มีลูก หากเป็นเช่นนี้ เป็นไปได้ว่าฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง หรือทั้งสองฝ่ายอาจมีภาวะมีบุตรยาก นอกจากนี้อีกประมาณ 5 – 10% การแพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุของภาวะดังกล่าวได้

หากมีภาวะมีบุตรยาก ไม่สามารถรักษาได้ ควรทำอย่างไรดี? ในปัจจุบันการแพทย์ก้าวหน้ามากจนสามารถแก้ปัญหาสำหรับผู้ที่อยากมีลูก แต่มีภาวะมีบุตรยากได้ในบางกรณี โดยวิธีการดังกล่าวมี 2 วิธีการหลักที่แพทย์เลือกใช้ นั่นคือการฉีดเชื้อผสมเทียม และการทำเด็กหลอดแก้ว

1. การฉีดเชื้อผสมเทียม (IUI)

การฉีดเชื้อผสมเทียม เป็นวิธีการแก้ปัญหาภาวะมีบุตรยาก ในกรณีที่ฝ่ายชายมีน้ำเชื้อคุณภาพไม่ดีมากนัก หรือกรณีที่ฝ่ายหญิงมีปากมดลูกที่ตีบแคบ จนไม่สามารถตั้งครรภ์ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ตามปกติได้

โดยในขั้นตอนการฉีดเชื้อผสมเทียม แพทย์จะเก็บน้ำเชื้อจากฝ่ายชายโดยการหลั่งตามปกติ แล้วนำไปแยกสารที่ไม่จำเป็น รวมถึงเซลล์อสุจิที่ไม่แข็งแรงมากพอออกมา จากนั้นจะนำน้ำเชื้อคุณภาพสูงที่ได้ ฉีดเข้าไปที่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิงโดยตรงในวันไข่ตก เพื่อย่นระยะทางให้อสุจิเคลื่อนที่ไปยังไข่ได้ไวขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของตัวอสุจิได้อีกด้วย

การฉีดเชื้อผสมเทียมเป็นวิธีพื้นฐานวิธีแรกๆ ที่แพทย์แนะนำให้ทำหากมีปัญหามีบุตรยาก หรือไม่ทราบสาเหตุการมีบุตรยาก แต่ก็เป็นวิธีที่มีข้อจำกัดมากกว่าการทำเด็กหลอดแก้ว เนื่องจากผู้ที่จะสามารถฉีดเชื้อผสมเทียมได้ ฝ่ายหญิงต้องมีท่อนำไข่ที่คุณภาพดีอย่างน้อย 1 ข้าง และฝ่ายชายยังต้องมีปริมาณน้ำเชื้อที่มากเพียงพอด้วย

2. การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI)

การทำเด็กหลอดแก้ว เป็นวิธีการแก้ปัญหามีบุตรยากสำหรับผู้ที่อยากมีลูก แต่ฝ่ายชายมีน้ำเชื้อน้อยหรือทำหมันแล้ว และฝ่ายหญิงที่ต้องการตั้งครรภ์จากไข่ฝากหรือไม่มีท่อนำไข่ที่ยังใช้ได้เหลืออยู่เลย

การทำเด็กหลอดแก้ว จะเริ่มโดยการเก็บไข่จากฝ่ายหญิงหลังการฉีดกระตุ้นไข่ให้ไข่ตก จากนั้นจะเก็บอสุจิจากน้ำเชื้อของฝ่ายชาย คัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงที่สุดมาจำนวนหนึ่ง แล้วนำไข่กับอสุจิมาผสมกันในห้องปฏิบัติการโดยนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน หลังจากปฏิสนธิและแบ่งเซลล์แล้ว จะเพาะเลี้ยงตัวอ่อนเป็นเวลา 5 วัน ก่อนจะใส่ตัวอ่อนกลับเข้าไปให้ฝังตัวที่โพรงมดลูก และเจริญเป็นทารกในครรภ์ต่อไป

การทำเด็กหลอดแก้วนั้นเป็นทางออกของปัญหาการมีลูกยากที่ดีที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากมีข้อจำกัดในการทำค่อนข้างน้อย ทั้งยังตรวจความผิดปกติของตัวอ่อนก่อนการตั้งครรภ์ได้ แต่ก็เป็นวิธีการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ใช้เวลานานกว่าการฉีดเชื้อผสมเทียม และมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากด้วย

แล้วคู่รักแต่ละคู่ที่อยากมีลูก เหมาะกับวิธีแก้ไขปัญหามีลูกยากแบบไหน? ในขั้นต้นวิธีการแรกที่พิจารณาให้ทำคือการฉีดเชื้อผสมเทียม เนื่องจากเป็นวิธีพื้นฐานที่ค่าใช้จ่ายน้อย แต่หากอยากตรวจให้แน่ใจเกี่ยวกับภาวะการมีบุตรยาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ตรวจร่างกายโดยละเอียด หากพบปัญหาที่สามารถรักษาได้ก็สามารถมีลูกด้วยวิธีการตามธรรมชาติได้ หรือถ้ามีความผิดปกติที่ไม่สามารถแก้ไขได้ แพทย์จะแนะนำวิธีการที่เหมาะสมที่สุดกับคู่รักแต่ละคู่ต่อไป

คำถามที่พบบ่อย

ปล่อยยังไงให้ท้อง

Q: มีอะไรกับแฟนทุกวัน ทำไมไม่ท้อง?

A: มีอะไรกับแฟนทุกวัน หลั่งในทุกวันแล้วไม่ท้อง อาจเกิดจากอสุจิที่มีจำนวนไม่มากพอ เนื่องจากการหลั่งบ่อยเกินไป จนจำนวนอสุจิไม่พอที่จะเคลื่อนที่ไปถึงไข่ได้ในจำนวนที่เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์ ดังนั้นหากอยากมีลูก ให้นับวันไข่ตก ในช่วงนั้นให้มีเพศสัมพันธ์วันเว้นวัน หรือเว้นสองวัน เพื่อให้น้ำเชื้อที่หลั่งออกมามีคุณภาพดี มีน้ำเชื้อเพียงพอ และไม่เก็บไว้จนเก่าเกินไป

Q: ฝ่ายชายต้องปล่อยยังไง ปล่อยลึกแค่ไหนถึงท้อง?

A: ความจริงแล้วแม้ไม่ได้หลั่งใน แค่มีอสุจิจำนวนเล็กน้อยเข้าไปในช่วงคลอดได้ก็มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้แล้ว แม้โอกาสเกิดจะน้อยมากก็ตาม แต่สำหรับผู้ที่อยากมีลูกแพทย์แนะนำว่ายิ่งหลั่งลึกเท่าไหร่ โอกาสมีลูกก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

เนื่องจากการหลั่งในที่ลึกจะช่วยย่นระยะทางระหว่างอสุจิกับไข่ เพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิให้มากขึ้น อีกทั้งช่องคลอดของฝ่ายหญิงยังมีสภาวะเป็นกรด ทำให้อสุจิมีอัตราการรอดชีวิตภายในช่องคลอดน้อยกว่าในโพรงมดลูก ดังนั้นยิ่งอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกได้เร็ว ยิ่งมีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากขึ้นนั่นเอง

Q: ปล่อยในกี่วันถึงท้อง?

A: หลังจากปล่อยใน อสุจิจะมีชีวิตอยู่ในโพรงมดลูกได้ประมาณ 2 – 3 วันก่อนจะฝ่อไป หากในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ใช่ช่วงตกไข่ ก็จะไม่ตั้งครรภ์ แต่ถ้าช่วงเวลาดังกล่าวมีไข่ตก อสุจิเข้าผสมกับไข่ภายใน 24 ชั่วโมงก่อนที่ไข่จะฝ่อไป ก็จะเกิดการปฏิสนธิและตั้งครรภ์ ส่วนการตรวจตั้งครรภ์ที่ให้ผลที่แน่นอน ควรทำหลังจากวันที่สงสัยว่าจะปฏิสนธิประมาณ 14 หรือ 21 วัน หากใช้ ชุดตรวจครรภ์ ด้วยตนเองแล้วขึ้นผลว่าตั้งครรภ์ ควรไปตรวจที่โรงพยาบาลอีกครั้งเพื่อดูผลที่แน่ชัด พร้อมทั้งฝากครรภ์ต่อไป

Q: วิธีทําให้ท้องเร็วที่สุด อยากท้องต้องทำอย่างไร กินอะไรให้ท้องเร็ว?

A: ในทางการแพทย์ไม่มีอาหารใดที่ทานแล้วทำให้ท้องเร็วขึ้นอย่างทันที แต่อาหารบางอย่างอาจจะช่วยปรับปรุงคุณภาพไข่และอสุจิ ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์มากขึ้น ท้องเร็วขึ้นได้ โดยอาหารที่ควรทาน คืออาหารจำพวกโปรตีน ผักผลไม้ อาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงอาหารเสริมต่างๆ เช่น แอสตาแซนทีน (Astaxanthin), โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10) เป็นต้น

Q: มีลูกยากทําไง อยากท้องทําไงดี?

A: อยากมีลูก อยากท้องแต่พยายามแล้วไม่สำเร็จ ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร ควรเริ่มจากการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านการมีบุตรยาก ที่ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก เพื่อปรึกษาและวางแผนการมีบุตรที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เพื่อให้มีลูกง่ายขึ้น และลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์

Q: คนท้องมีเพศสัมพันได้ไหม?

A: คนท้องสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ แต่แพทย์จะไม่แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์ในช่วงระยะแรกของการตั้งครรภ์ และก่อนคลอดบุตร เนื่องจากช่วงแรกเป็นระยะที่คุณแม่จะแพ้ท้องมาก อาจทำให้เหนื่อยเกินไปหรือรู้สึกไม่สบายขณะมีเพศสัมพันธ์ ส่วนในช่วงใกล้คลอดจะเป็นช่วงที่ทารกน้ำหนักตัวมากที่สุด ทำให้คุณแม่อาจรู้สึกอึดอัดและเหนื่อยเกินไปได้ อีกทั้งยังเสี่ยงทำให้ถุงน้ำคร่ำแตกรั่วจนคลอดก่อนกำหนดหรือทำให้เกิดการติดเชื้อได้

นอกจากนี้คุณแม่ที่เคยแท้งลูกขณะตั้งครรภ์ เคยคลอดก่อนกำหนด มีภาวะรกต่ำ แพทย์จะขอให้งดการมีเพศสัมพันธ์เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะแท้ง หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้

Q: สาเหตุที่ไม่ท้องคืออะไร?

A: สาเหตุที่พยายามมีลูกแล้วไม่ท้อง อาจมาจากภาวะมีบุตรยาก หรือเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ไม่ตรงกับวันตกไข่ หากพยายามมีลูกมาประมาณ 6 – 12 เดือนแล้วยังไม่ท้อง ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป

เรียนรู้สาเหตุต่างๆ ที่ทำให้มีลูกยากได้ที่ : บทความภาวะมีบุตรยาก

สรุป

การมีลูกนั้นสำหรับคู่รักบางคู่ที่อยากมีลูกอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ก่อนการพยายามมีลูกและก่อนการตั้งครรภ์ ควรเตรียมตัวทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากขึ้น ลูกที่เกิดมามีสุขภาพดี ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก

Better Health Channel. Weight, fertility and pregnancy health. Better Health Channel.
        https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/weight-fertility
        -and-pregnancy-health

Ghoshal, M. (2019, June 20). Does Alcohol Kill Sperm? And Other Fertility Facts. Healthline.
        https://www.healthline.com/health/does-alcohol-kill-sperm-2

Tommy’s PregnancyHub. (2018, June 5). Underweight and fertility when planning a pregnancy.
        Tommy’s PregnancyHub. https://www.tommys.org/pregnancy-information/planning-a-
        pregnancy/are-you-ready-to-conceive/underweight-and-fertility-when-planning-pregnancy

Whiteman, H. (2014, May 30). Stress linked to male fertility. Medical News Today.
        https://www.medicalnewstoday.com/articles/277543