ทำกิฟต์ (GIFT) หนึ่งวิธีช่วยในการมีบุตรที่นิยมในอดีต

การทำกิ๊ฟท์คืออะไร

แม้ภาวะการมีบุตรยากจะไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจมากในยุคนี้ เพราการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้มีวิธีการที่เรียกกันว่า
การทำกิฟต์ หรือ การทำ GIFT” เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยเหลือในการตั้งครรภ์ ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่ทันสมัยและนิยมมากในอดีต

แต่ในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด จึงเกิดวิธีการที่ช่วยเหลือในการเจริญพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อย่างการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) และการทำอิ๊กซี่ (ICSI) ทำให้วิธีการทำกิฟต์จึงได้รับความนิยมน้อยลง 

ในบทความนี้ Wellnesshealth Club จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับการทำกิฟต์ว่าคืออะไร? ทำไมเราถึงต้องทำกิฟต์? มีโอกาสสำเร็จสูงแค่ไหน? แตกต่างจากวิธีการอื่น ๆ อย่างไร? มีขั้นตอนการทำอย่างไร? แล้วยังเป็นที่นิยม น่าทำอยู่ไหม? พร้อมตอบทุกคำถามสำหรับการทำกิฟต์

ทำกิฟต์ คืออะไร

การทำกิฟต์ (Gamete Intrafallopian Transfer : GIFT) คือ หนึ่งในวิธีการใช้เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ แก้ปัญหาสำหรับผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก โดยที่ฝ่ายหญิงต้องมีท่อนำไข่อย่างน้อย 1 ข้าง และฝ่ายชายมีเชื้ออสุจิที่ค่อนข้างแข็งแรงเป็นปกติ

วิธีทำกิฟต์นั้นเริ่มด้วยการดูดเอาเซลล์ไข่ที่ถูกกระตุ้นออกมาจากรังไข่ แล้วจึงนำมาผสมกับอสุจิที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว ก่อนจะฉีดเข้าไปในท่อนำไข่ทันที เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิตามธรรมชาติ หลังจากที่การปฏิสนธิเกิดขึ้น เซลล์ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิจะเคลื่อนตัวไปตามท่อนำไข่แล้วฝังตัวอยู่ในโพรงมดลูก และเกิดการตั้งครรภ์เป็นตัวอ่อนของทารกในที่สุด

ทำไมถึงต้องทำกิฟต์

เพราะการทำกิฟต์เป็นหนึ่งในตัวช่วยสำหรับผู้ที่มีภาวะผู้มีบุตรยาก (Infertility) หรือมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยภาวะอาการมีบุตรยากนั้นอาจจะพบอาการได้ทั้งในฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง เช่น 

  • ฝ่ายหญิงมีปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ (Endometriosis) 
  • ฝ่ายหญิงมีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการตกไข่ คุณภาพของเซลล์ไข่
  • ฝ่ายชายมีปัญหาจำนวนเชื้ออสุจิน้อย หรือไม่แข็งแรง 

ใครบ้างที่เหมาะกับการทำกิฟต์

ดังนั้นการทำกิฟต์จึงสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับคู่สมรสที่มีภาวะการมีบุตรยาก ให้สามารถตั้งครรภ์ได้ตามความต้องการ มาดูกันว่าแล้วใครกันบ้าง ที่เหมาะกับการนำการทำกิฟต์เข้ามาช่วยในการวางแผนในการมีบุตรได้บ้าง

ผู้ที่มีสภาพร่างกายเหมาะกับการทำกิฟต์ ได้แก่

  • ฝ่ายหญิงมีปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ (Endometriosis)
  • ฝ่ายหญิงมีปัญหาการตกไข่ หรือปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์
  • ฝ่ายชายมีปัญหาเรื่องคุณภาพเชื้ออสุจิ เช่น มีจำนวนน้อย หรือไม่แข็งแรง
  • ฝ่ายหญิงมีท่อนำไข่ (Fallopian Tube) ที่มีสภาพสมบูรณ์ หรือใช้งานได้อย่างน้อยหนึ่งข้าง
  • คู่สมรสที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยาก
  • คู่สมรสที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ

การทำกิฟต์ต่างจากเด็กหลอดแก้วอย่างไร

ทำกิ๊ฟแตกต่างกับเด็กหลอดแก้วยังไง

ณ ปัจจุบันนี้ มีวิธีการที่ช่วยเหลือในการเจริญพันธุ์ให้กับคู่สมรสหลากหลายวิธี ตามความเหมาะสมของสภาพร่างกาย และความต้องการของคู่สมรสแต่ละคู่ แต่ในการเลือกวิธีการนั้นควรจะได้รับคำแนะนำและปรึกษากับทางแพทย์ก่อน เพื่อที่จะได้เลือกวิธีที่เหมาะสม ปลอดภัยกับผู้เข้ารับการทำหัตถการมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวิธีดั้งเดิมอย่างการทำกิฟต์ หรือวิธีการใหม่ ๆ อย่างเด็กหลอดแก้ว(IVF) และการทำอิ๊กซี่ (ICSI)

การทำกิฟต์ (GIFT) เป็นเทคนิคช่วยในการตั้งครรภ์ โดยการเจาะที่หน้าท้องของฝ่ายหญิง เพื่อนำเอาเซลล์ไข่ออกมา ผสมกับเชื้ออสุจิของฝ่ายชายที่ภายนอก แล้วค่อยฉีดกลับไปที่ท่อนำไข่ เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิกันตามธรรมชาติที่ภายในร่างกาย แล้วตัวอ่อนจึงฝังตัวภายใน 

ดังนั้นผู้เข้ารับการผ่าตัด จำเป็นต้องมีการใช้ยาสลบร่วมด้วย และต้องมีการกรีดแผลเล็กๆ ที่หน้าท้อง ทำให้คุณผู้หญิงจะต้องนอนพักที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 1 คืน จึงสามารถกลับบ้านได้ 

ในขณะที่การทำเด็กหลอดแก้ว IVF (In-Vito Fertilization) คือ จะเป็นเทคนิคที่ถูกพัฒนาขึ้นมากกว่า เพื่อตอบโจทย์ผู้มีบุตรยาก ด้วยการดูดไข่ออกมาทางช่องคลอดโดยไม่ต้องผ่าหน้าท้อง เพื่อนำอสุจิหลายตัวมาล้อมรอบ เพื่อให้อสุจิแย่งกันเจาะเข้าไปที่เซลล์ไข่ หลังจากที่ปฏิสนธิภายนอกร่างกายแล้ว จะนำเซลล์ไข่ไปเจริญเติบโตในหลอดทดลอง แล้วจึงฉีดเข้าไปเพื่อให้เกิดการฝังตัวที่โพรงมดลูก ทำให้ผู้เข้ารับหัตถการพักฟื้นเพียงแค่ 1-2 ชั่วโมงก็กลับบ้านได้ 

การทำอิ๊กซี่ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) คือ อีกหนึ่งเทคนิคทันสมัย ที่ให้ผู้เข้ารับบริการไม่ต้องผ่าตัด โดยการทำอิ๊กซี่นั้นมีขั้นตอนการทำที่คล้ายคลึงกับการทำเด็กหลอดแก้ว ต่างกันเพียงการทำอิ๊กซี่นั้น นำอสุจิเพียงตัวเดียวที่คัดสรรมาแล้ว ฉีดเข้าไปในเซลล์โดยตรง แล้วจึงค่อยฉีดเข้าไปฝังตัวในโพรงมดลูก

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) และ ICSI ได้ที่ : บทความ ICSI / บทความ IVF

ในปัจจุบันเพื่อลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด รอยแผลจากการผ่าตัด และไม่ต้องนอนพักฝื้นที่โรงพยาบาล แพทย์จึงแนะนำให้ใช้วิธีเด็กหลอดแก้ว (IVF) หรือ ICSI แทนการทำกิฟต์ มากไปกว่านั้นวิธีการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) หรือ ICSI มีอัตราการประสบความสำเร็จในตั้งครรภ์มากกว่าการทำกิฟต์ 

แล้วการทำกิฟต์ (Gift) ต่างกับการทำซิฟต์ (Zift) อย่างไร?

การทำซิฟต์ (Zift)” หลายคนอาจจะสงสัยว่าหัตถการนี้ ที่มีชื่อคล้ายกับ “การทำกิฟต์” นั้น ต่างกันอย่างไร?  มีข้อดี ข้อเสียต่างกันอย่างไร?

การทำซิฟต์ เป็นอีกวิธีการช่วยในการเจริญพันธุ์ โดยการเก็บเอาเซลล์ไข่ และเชื้ออสุจิมาปฏิสนธิกันภายนอกร่างกายก่อน แล้วจึงเลี้ยงตัวอ่อนให้ถึงระยะไซโกต (Zygote) จากนั้นจึงนำตัวอ่อนในระยะไซโกตกลับเข้าไปในท่อนำไข่ เพื่อให้เข้าไปฝังตัวที่โพรงมดลูก ต่างจากการทำกิฟต์ในส่วนที่การทำกิฟต์ให้เซลล์ไข่ และอสุจิปฏิสนธิกันตามธรรมชาติภายในท่อนำไข่

จะเห็นแล้วว่าการทำกิฟต์ และการทำซิฟต์นั้น แตกต่างกันที่วิธีการปฏิสนธิของเซลล์ไข่และอสุจิ แต่ทว่าการทำกิฟต์และการทำซิฟต์กลับไม่ได้รับความนิยมในปัจจุบันแล้ว เพราะต้องผ่าบริเวณหน้าท้อง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดแผลจากการผ่าตัด ปัจจุบันการทำเด็กหลอดแก้วด้วยการฉีดตัวอ่อนเข้าไปจึงเป็นที่แพร่หลายกว่า

ขั้นตอนการทำ GIFT

ในขั้นตอนการทำกิฟต์นอกจากจะแตกต่างกับเด็กหลอดแก้วในขั้นตอนของการนำตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูกแล้ว ยังมีความแตกต่างกันในขั้นตอนวิธีการเก็บไข่ด้วยเช่นกัน

โดยขั้นตอนการทำกิฟต์มีขั้นตอนวิธีการทำหลัก ๆ ดังนี้

  1. การกระตุ้นรังไข่ (Ovary stimulation)

ในขั้นตอนการกระตุ้นรังไข่นั้น จะเริ่มทำเมื่อมีประจำเดือนเหมือนกับการกระตุ้นไข่ของการทำเด็กหลอดแก้ว แพทย์จะเริ่มฉีดยากระตุ้นไข่ ด้วยตัวยาในกลุ่ม Gonal F, Puregon, Pergoveris, Follitrope ซึ่งการเลือกใช้ตัวยา และปริมาณยา แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาฉีดให้กับผู้เข้ารับหัตการ โดยพิจารณาจากอายุ และผลระดับฮอร์โมนของฝ่ายหญิงเป็นรายบุคคล 

ทั่วไปแล้วแพทย์จะฉีดยาฮอร์โมนกระตุ้นรังไข่ประมาณ 7-10 วัน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อฮอร์โมนของคุณผู้หญิงแต่ละคนด้วย และแพทย์จะตรวจติดตามอาการหลังจากฉีดฮอร์โมนกระตุ้นไข่ ด้วยการอัลตราซาวด์สภาพรังไข่หลังจากฉีดยาไปแล้ว 

พร้อมตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมน FSH, E2, LH หากได้ไข่ที่มีจำนวน และขนาดใหญ่เหมาะสมตามที่แพทย์ต้องการแล้ว แล้วแพทย์จึงฉีด hCG กระตุ้นให้ไข่ตก เมื่อเวลาผ่านไป 34 – 36 ชั่วโมง แล้วจึงเจาะไข่เพื่อทำการเก็บไข่

  1. การเจาะไข่

เข้าสู่ขั้นตอนการเก็บไข่ แพทย์จะใช้เข็มเจาะถุงไข่แล้วดูดเอาเซลล์ไข่ภายในถุงออกมา โดยในการนำไข่ออกมานั้น แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมตามแต่ละบุคคล

วิธีการนำไข่ออกมานั้นมี 2 วิธี ดังนี้

2.1 การเจาะเข็มผ่านหน้าท้อง เป็นวิธีที่ใช้กล้องตรวจผ่านช่องท้อง แพทย์จะสามารถเห็นรังไข่ได้ชัดเจน แล้วจึงใช้เข็มเจาะดูดไข่ออกมาได้โดยตรง

2.2 การเจาะเข็มผ่านผนังช่องคลอด เป็นวิธีที่ใช้เครื่องอัลตราซาวด์ที่มีเข็มติดอยู่ที่หัวตรวจ  เจาะผ่านทางช่องคลอด แล้วจึงดูดเซลล์ไข่ออกมา

  1. การย้ายเซลล์ไข่และอสุจิเข้าสู่ท่อนำไข่

มาถึงขั้นตอนการย้ายเซลล์ไข่เข้าสู่ท่อนำไข่ โดยแพทย์มักจะใช้การผ่าตัดส่องกล้องบริเวณช่องท้อง (Laparoscopic Surgery) เป็นหลัก โดยเจาะหน้าท้องฝ่ายหญิง เพื่อย้ายไข่ที่คัดเลือกไว้เข้ามาในสายยาง เพื่อย้ายไปสู่ท่อนำไข่ พร้อมกับเชื้ออสุจิ เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิกันตามธรรมชาติ 

  1. การให้ฮอร์โมนในระยะหลังการทำ

เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการย้ายเซลล์ไข่เข้าไปภายในมดลูกแล้ว แพทย์จะฉีดฮอร์โมนช่วยกระตุ้นในการฝังตัวของตัวอ่อน หลังจากนั้นประมาณ 12 วัน แพทย์จะทำการตรวจวัดระดับ hCG ในร่างกายของฝ่ายหญิง เพื่อทดสอบการตั้งครรภ์ต่อไป

โอกาสสำเร็จการทำกิฟต์

ความสำเร็จในการทำกิ๊ฟ

โอกาสความสำเร็จในการทำกิฟต์นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งอายุ ความพร้อมทางด้านร่างกาย สุขภาพ รวมไปถึงภาวะมีบุตรยากที่เกิดกับคุณผู้หญิง หรือคุณผู้ชายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอีกด้วย 

จากการศึกษาผู้หญิงที่มีอายุน้อยจะมีคุณภาพไข่ที่ดีกว่าผู้หญิงที่มีอายุมาก ทำให้อัตราเฉลี่ยความสำเร็จในการทำกิฟต์ของผู้หญิงอายุต่ำกว่า 38 ปี จะอยู่ที่ 37% ในขณะที่ผู้หญิงอายุมากกว่า 39 ปี จะลดลงมาเหลืออยู่ที่ 24% เท่านั้น

ในปัจจุบันทางการแพทย์จึงหันมาใช้เทคนิคการทำเด็กหลอดแก้ว IVF หรือ ICSI กันเป็นส่วนมาก เพื่อลดความเสี่ยงในการเข้ารับการผ่าตัดหน้าท้อง อีกทั้งเรื่องของประสิทธิภาพในการตั้งครรภ์ที่ให้ผลสูงกว่า โดยเฉพาะการทำเด็กหลอดแก้วแบบ ICSI เพราะมีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์สูงที่สุด ประกอบกับการฝากไข่ ในขณะตั้งแต่ที่อายุยังน้อย คุณภาพของไข่ยังดี จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์สูงยิ่งขึ้น

สามารถอ่านเพิ่มเติมอัตราความสำเร็จของการทำ ICSI ได้ที่ : อัตราความสำเร็จในการทำ ICSI

ขั้นตอนการปฏิบัติตัวหลังทำ GIFT

หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการการทำกิฟต์แล้ว คุณผู้หญิงก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจแล้วไม่ใส่ใจ หรือหมั่นสังเกตสุขภาพของตนเองเป็นอันขาด เพราะถึงแม้คุณผู้หญิงจะได้นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลแล้วเพียง 1 คืน แต่ร่างกายก็อาจจะยังไม่กลับมาแข็งแรงทันที

ดังนั้นคุณผู้หญิงควรมั่นดูแลสุขภาพหลังทำกิฟต์ ดังนี้

  • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ 
  • ไม่ควรยกของหนัก 
  • ควรงดการออกกำลังกายในช่วงแรก 
  • หากพบความผิดปกติ เช่น มีไข้สูง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะลำบาก เป็นต้น ควรรีบเข้าไปพบแพทย์ทันที

อาการที่พบได้หลังทำ GIFT

ภายหลังการทำกิฟต์คุณผู้หญิงหลาย ๆ ท่านอาจจะพบกับผลข้างเคียงจากการทำหัตถการได้ ร่วมถึงผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์จากการใช้ตัวยา และตัวยาฮอร์โมนอีกด้วย

อาการที่อาจพบได้หลังทำกิฟต์ เช่น

  • หลังจากการผ่าตัดอาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ เช่น อาการปวด มีแผล และมีเลือดไหล
  • อาจเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก 
  • อาจเกิดการตั้งครรภ์ลูกแฝดตั้งแต่สองคนขึ้นไป ซึ่งอาจเกิดการเสี่ยงแท้งหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นระหว่างการตั้งครรภ์ได้สูงกว่าปกติ
  • ในบางรายอาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ปวดหัว เวียนหัว มีอารมณ์แปรปรวน เป็นต้น

ค่าใช้จ่าย 

ในอดีตขั้นตอนการช่วยเหลือผู้มีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อย่างการทำกิฟต์นั้นยังไม่แพร่หลาย  ประกอบกับเทคโนโลยีที่ยังไม่ก้าวหน้ามากนัก การทำกิฟต์จึงมีราคาค่อนข้างสูงถึงประมาณ 500,000 บาท ขึ้นไป

แต่ในปัจจุบันด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย และลดความเสี่ยง ทำให้สถานพยาบาลหลาย ๆ แหล่งต่างยกเลิกการทำกิฟต์ และเปลี่ยนมาทำเด็กหลอดแก้ว หรือ ICSI แทน นอกจากช่วยลดความเสี่ยง แล้วยังมีประสิทธิภาพที่สูงอีกด้วย

สามารถศึกษารายละเอียดราคาแพคเกจ ICSI ได้ที่นี่ : ราคาแพคเกจ ICSI

คำถามที่พบบ่อยจากคนไข้

คำถาม : เมื่อต้องการมีบุตรโดยวิธีการทำกิฟต์ ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง

คำตอบ : ตามข้อกฎหมายแล้วการทำขั้นตอนเกี่ยวกับการช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นวิธีในอดีตอย่างการทำกิฟต์ หรือการทำเด็กหลอดแก้ว ก็ล้วนแต่จำเป็นต้องมีใบทะเบียนสมรสมาเป็นหลักฐานเท่านั้น เพราะต้องยืนยันว่าเจ้าของไข่ และน้ำเชื้ออสุจิเป็นสามีภรรยาถูกต้องตามกฎหมายกันจริง

คำถาม : คู่รักหญิงหญิง สามารถมีบุตรด้วยวิธีการทำกิฟต์ได้หรือไม่

คำตอบ : คู่รักเพศเดียวกันยังไม่สามารถมีบุตรร่วมกันด้วยวิธีการทำกิฟต์ หรือกระบวนการช่วยเจริญพันธุ์อื่น ๆ อย่าง เด็กหลอดแก้ว การทำอิ๊กซี่ได้ เนื่องจากในปัจจุบัน ตามข้อกฎหมายข้อประเทศไทย คู่รักเพศเดียวกันยังไม่สามารถจดทะเบียนสมรสร่วมกันได้

คำถาม : เด็กที่เกิดจากการทำกิฟต์ จะมีความผิดปกติหรือแตกต่างจากเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติหรือไม่

คำตอบ : จากการศึกษาพบว่า ไม่มีความแตกต่างกัน ทั้งเรื่องการเจริญเติบโต พัฒนาการ หรือความผิดปกติต่าง ๆ นอกจากนี้การเจริญพันธุ์ด้วยวิธีเหล่านี้อาจจะทำให้เด็กมีความแข็งแรงมากกว่าวิธีทางธรรมชาติอีกด้วย เพราะสามารถคัดเลือกเซลล์ไข่และตัวอสุจิที่แข็งแรงได้

สรุป

การทำกิฟต์แม้จะเป็นหนึ่งในวิธีการที่ช่วยให้คู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรอยากสามารถวางแผนการมีบุตรได้ แต่ในปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นวิธีที่นิยมนัก ด้วยความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากการผ่าตัด ทำให้แพทย์แผนปัจจุบันแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้วิธีเด็กหลอดแก้ว (IVF) หรือ ICSI แทนการทำกิฟต์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดมากกว่า

ผู้ที่มีความสนใจที่จะทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) หรือ ICSI รวมไปถึงการฝากไข่ ควรเรื่องโรงพยาบาลที่น่าเชื่อถือ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน เพื่อเข้ามารับคำปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเบื้องต้น เพื่อประเมินอาการ และให้คำแนะนำได้อย่างถูกต้อง

ให้โรงพยาบาล BDMS Wellness Clinic เป็นหนึ่งในขั้นตอนการวางแผนมีบุตรในอนาคตสำหรับคุณ เพื่อการวางแผนมีบุตรอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถติดต่อได้ที่อาคาร BDMS Wellness Clinic 2/4 ถ. วิทยุ แขวง ลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือติดต่อ 02 – 826 – 9999 หรือ Email: info@bdmswellness.com

หรือสามารถทำแบบสอบถามประเมินสุขภาพสำหรับผู้มีบุตรยากได้ที่ : แบบสอบถามเพื่อช่วยวางแผนสำหรับการมีบุตรในอนาคตในรูปแบบเฉพาะบุคคล

เอกสารอ้างอิง

Ding K. (n.d.). Fertility treatment: Gamete intrafallopian transfer (GIFT). Babycenter. https://www.babycenter.com/getting-pregnant/fertility/fertility-treatment-gamete-intrafallopian-transfer-gift_4095#:~:text=What’s%20the%20success%20rate%20for%20GIFT%3F&text=The%20percentage%20of%20GIFT%20cycles,success%20rates%20%E2%80%93%20about%2022%20percent.