อิ๊กซี่ (ICSI)
อิ๊กซี่ (ICSI) เป็นกระบวนแก้ไขปัญหาภาวะมีบุตรยากสำหรับผู้ที่ อยากมีลูก ที่จะนำเอาเซลล์ไข่และเซลล์อสุจิมาผสมกันในห้องปฏิบัติการ แล้วฉีดกลับเข้าไปในมดลูกเพื่อให้ตั้งครรภ์ตามปกติ นอกจากผู้ที่มีภาวะบุตรยากแล้ว ผู้ที่ผ่านการทำหมันโดยการผูกตัดท่อนำไข่และท่อนำน้ำอสุจิ ก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องแก้หมันเช่นกัน
ทางคลินิกรักษา “ผู้มีบุตรยาก” และส่งเสริมสุขภาพสตรี จาก BDMS Wellness Clinic มีบริการทำ ICSI (อิ๊กซี่) สำหรับผู้ที่มีบุตรยาก หรือลอง ทำ IUI แล้วไม่ได้ผล ในบทความนี้เราจะมาแนะนำเกี่ยวกับการทำอิ๊กซี่ ว่ามีขั้นตอนการทำอย่างไร ข้อดีข้อเสียของการทำ ICSI มีอะไรบ้าง อธิบายเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการเตรียมตัวสำหรับคู่สมรสที่ต้องการทำอิ๊กซี่
อิ๊กซี่ (ICSI) คืออะไร
Intracytoplasmic Sperm Injection หรือ อิ๊กซี่ (ICSI) คืออะไร? อิ๊กซี่คือกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วรูปแบบหนึ่ง โดยการคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงที่สุดเพียงตัวเดียว นำมาปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ 1 เซลล์โดยตรง ขั้นตอนการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการด้วยวิธีการทำอิ๊กซี่นี้ นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะใช้เข็มขนาดเล็กที่บรรจุอสุจิ 1 ตัว ฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง เพื่อเพิ่มโอกาสการปฏิสนธิให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
หลังจากปฏิสนธิแล้ว นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน จะเลี้ยงตัวอ่อนไว้ในห้องปฏิบัติการเป็นเวลา 5 วัน เมื่อตัวอ่อนเข้าสู่ระยะ “Blastocyst” แพทย์จะฉีดตัวอ่อนกลับเข้าไปที่ท่อนำไข่ เพื่อให้ตัวอ่อนเคลื่อนที่ไปฝังตัวที่มดลูก และเจริญเติบโตในครรภ์ต่อไปเหมือนกับการตั้งครรภ์ตามปกติ
การทำ ICSI (อิ๊กซี่) กับ IVF ต่างกันอย่างไร
IVF คืออะไร? อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ IVF โดยละเอียดได้ที่ : IVF
การทำ ICSI (อิ๊กซี่) กับ IVF เป็นกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วเหมือนกัน มีขั้นตอนการทำแทบจะเหมือนกันทุกประการ ต่างกันเพียงขั้นตอนในการปฏิสนธิ
ขั้นตอนการปฏิสนธิในกระบวนการทำ IVF จะทำในห้องปฏิบัติการเหมือน เพียงแต่นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะไม่ได้ฉีดอสุจิเข้าไปปฏิสนธิโดยตรง แต่จะนำไข่และอสุจิมาไว้ในพื้นที่เดียวกัน โดยที่ทั้งไข่และอสุจิจะถูกคัดมาแล้วว่าแข็งแรง สมบูรณ์ จากนั้นจะปล่อยให้เกิดการปฏิสนธิเองตามธรรมชาติ
แล้วการทำ ICSI (อิ๊กซี่) กับ IVF อะไรดีกว่ากัน? ทั้งสองวิธีการมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน การปฏิสนธิแบบ ICSI จะสามารถแก้ปัญหาเยื่อหุ้มรังไข่หนาเกินไปได้ หรือการเคลื่อนไหวของอสุจิจากฝ่ายชายไม่ดีเท่าที่ควร ในขณะที่ IVF ไม่สามารถทำได้ แต่ถ้านักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนไม่ชำนาญ การใช้เข็มฉีดเข้าไปที่เซลล์ไข่โดยตรงก็อาจทำให้เซลล์ไข่เสียหายจนไม่สามารถเกิดการปฏิสนธิขึ้นได้
ดังนั้น การเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับปัญหาภาวะมีบุตรยากของคู่สมรสแต่ละคู่นั้น แพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำเองว่าเหมาะกับการรักษาแบบใด หากอสุจิจากฝ่ายชายมีน้อย ไม่แข็งแรงมากพอ หรือเยื่อหุ้มเซลล์ไข่ของฝ่ายหญิงหนาเกินไป ก็มีแนวโน้มที่แพทย์จะแนะนำให้ทำ ICSI มากกว่า
ขั้นตอนการทำ ICSI
- ฉีดกระตุ้นเซลล์ไข่ให้โตขึ้น โดยแพทย์จะให้ฉีดฮอร์โมนกระตุ้นไข่ในวันที่ 2 ของการมีประจำเดือน จะต้องฉีดต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 10 วัน เพื่อกระตุ้นให้ไข่ตกมากกว่า 1 ใบ
- แพทย์จะติดตามขนาดไข่ผ่านการทำอัลตราซาวด์และการเจาะเลือดวัดระดับฮอร์โมน เมื่อไข่มีขนาดที่เหมาะสม แพทย์จะฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ และนัดวันมาเก็บไข่ ซึ่งในวันเดียวนี้ก็จะเก็บน้ำเชื้อจากฝ่ายชายด้วย
- นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะนำอสุจิและไข่มาผสมกันด้วยเทคนิคอิ๊กซี่ แล้วเลี้ยงตัวอ่อนต่ออีกประมาณ 3 – 5 วัน
- เมื่อตัวอ่อนพร้อมย้ายแล้ว แพทย์จะนัดมาตรวจความหนาของผนังมดลูก หากร่างกายของคุณแม่พร้อมกับการตั้งครรภ์แล้ว ก็จะย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก ให้ตัวอ่อนฝังตัวและเติบโตเป็นทารกต่อไป
รายละเอียดขั้นตอนการทำ ICSI สามารถอ่านเพิ่มได้ในหัวข้อ Q&A ด้านล่างบทความ
การทำอิ๊กซี่ เหมาะสำหรับใคร
- ฝ่ายหญิงมีอายุ 35 ปีขึ้นไป ทำให้คุณภาพของเซลล์ไข่ไม่ดีเท่าที่ควร บางรายอาจมีผนังเซลล์ไข่ที่หนาจนไม่สามารถปฏิสนธิกับอสุจิได้ตามปกติ
- ฝ่ายหญิงที่มีภาวะมีบุตรยาก (Infertility) จากทั้งความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ และฮอร์โมนที่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ เช่น มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ มีก้อนเนื้อในมดลูก ท่อนำไข่ตัน ภาวะตกไข่ผิดปกติ เป็นต้น
- ฝ่ายชายมีคุณภาพน้ำเชื้อที่ไม่ดี หรืออสุจิมีปัญหาเรื่องรูปร่างและการเคลื่อนไหว
- คู่สมรสทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเคยผ่านการทำหมันมาแล้ว ด้วยวิธีการผูกตัดท่อนำไข่ หรือท่อนำน้ำอสุจิ
- คู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ ลองผสมเทียมด้วยวิธีการทำ IUI หลายครั้งแล้วไม่ได้ผล
- ผู้ที่ต้องการตั้งครรภ์จากไข่ที่ ฝากไข่ ไว้
การเตรียมตัวของพ่อแม่ก่อนทำ ICSI
การเตรียมตัวของคู่สมรสก่อนการทำ ICSI จำเป็นอย่างมาก เพื่อปรับปรุงคุณภาพของไข่และน้ำเชื้อ ให้พร้อมต่อการทำเด็กหลอดแก้ว รวมทั้งเป็นการทำร่างกายของคู่สมรสฝ่ายหญิงให้พร้อมตั้งครรภ์ด้วย โดยการเตรียมตัวที่สามารถทำได้ทั้งฝ่ายและฝ่ายหญิง มีดังนี้
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นไปที่อาหารที่มีโปรตีนสูงและผักผลไม้ ลดการทานอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ไขมัน อาหารแปรรูป และอาหารกึ่งสำเร็จรูปทุกชนิด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรทำครั้งละ 30 – 45 นาที สัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้งเป็นอย่างน้อยเน้นไปที่การออกกำลังกายกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ที่จะทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นฝ่ายชายควรระมัดระวัง ไม่เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่จะกระทบกระเทือนอวัยวะเพศหรือลูกอัณฑะ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนวันละ 6 – 7 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย หากเข้านอนก่อนเวลา 5 ทุ่มได้ก็จะดีกับระบบฮอร์โมนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังควรผ่อนคลายความเครียดเพื่อรักษาระดับฮอร์โมนให้สมดุลด้วย
- ทานอาหารเสริมในกรณีที่แพทย์แนะนำให้ทาน โดยปกติแล้วแพทย์จะแนะนำให้ทานแอสตาแซนทีน (Astaxanthin) และโคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10) เพื่อปรับปรุงคุณภาพของไข่และน้ำเชื้อ
สำหรับฝ่ายหญิงมีวิตามินที่จำเป็นต้องทานเมื่อวางแผนตั้งครรภ์คือ กรดโฟลิค (Folic acid) เนื่องจากอาหารเสริมดังกล่าวจะช่วยลดโอกาสที่ทารกในครรภ์จะพิการ หรือมีหลอดเลือดสมองผิดปกติได้
ทั้งนี้การเลือกใช้อาหารเสริมบำรุงร่างกายก่อนการทำอิ๊กซี่ ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ เนื่องจากสารอาหารบางอย่างอาจมีผลกับร่างกาย หรือเป็นผลเสียกับโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ จนอาจทำให้ร่างกายไม่พร้อมมีลูกได้
การดูแลตัวเองหลังทำ icsi
ขั้นตอนสุดท้ายของการทำ ICSI คือการย้ายตัวอ่อน แพทย์จะนำตัวอ่อนที่ได้จากการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการด้วยวิธีการทำ ICSI ใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวและเจริญเป็นทารกต่อไป
สำหรับฝ่ายหญิง ขั้นตอนนี้ก็สำคัญไม่แพ้กับการเตรียมตัวก่อนเก็บไข่เลย หากดูแลตัวเองไม่ดี ก็จะมีโอกาสตั้งครรภ์ไม่สำเร็จมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 7 วันแรก เนื่องจากเป็นช่วงที่ตัวอ่อนกำลังฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก
การดูแลตนเองที่จำเป็นกับฝ่ายหญิงหลังจากย้ายตัวอ่อนแล้ว มีดังนี้
- ในวันที่ใส่ตัวอ่อน แพทย์แนะนำว่าควรพักฟื้นอย่างน้อย 30 นาทีหลังจากใส่ตัวอ่อน เพราะอาจจะยังเจ็บระบมที่อวัยวะเพศอยู่ บางรายอาจมีอาการเวียนศีรษะหรือหน้ามืดร่วมด้วย ทางที่ดีจึงควรมีผู้ช่วยมารับมาส่ง และดูแลใกล้ชิด
- ใช้ยาตามที่แพทย์จ่ายให้อย่างเคร่งครัด เพราะจะช่วยให้ฮอร์โมนร่างกายเหมาะกับการตั้งครรภ์ ทั้งยังทำให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ดีขึ้นด้วย โดยยาที่แพทย์จ่ายให้จะมีทั้งยาสำหรับรับประทาน และยาเหน็บช่องคลอด
- ดื่มน้ำให้มากเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสุขใหม่ โดยให้เน้นอาหารจำพวกโปรตีน และผักผลไม้
- ในช่วง 3 วันแรกควรพักผ่อนมากๆ ไม่นอนดึก ไม่ควรขยับตัวเยอะ และควรหากิจกรรมทำเล็กๆ น้อยๆ เพื่อแก้เบื่อ ไม่ให้เครียดหรือจดจ่ออยู่กับผลการทำอิ๊กซี่มากเกินไป
- ในช่วงวันที่ 4 – 7 สามารถทำกิจกรรมเบาๆ ได้บ้าง แต่ยังคงต้องระวังไม่ให้ร่างกายกระเทือนมากเกินไป
- ในช่วง 14 วันหลังใส่ตัวอ่อน ห้ามมีเพศสัมพันธ์ เพราะจะมีผลกับการฝังตัวของตัวอ่อน
- หลังใส่ตัวอ่อนไปแล้วไม่ควรสวนล้างช่องคลอดเด็ดขาด ทั้งการสวนล้างด้วยน้ำเปล่า และน้ำยาสำหรับสวนล้างช่องคลอด เนื่องจากจะทำให้ค่า pH ผิดปกติ และอาจทำให้สารเคมีหรือสิ่งสกปรกเข้าไปภายในโพรงมดลูกด้วย
- ดูแลระบบขับถ่ายเป็นประจำ ไม่ควรท้องผูกหรือท้องเสีย เนื่องจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าท้องหรือลำไส้ อาจมีผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อนได้
- ผ่อนคลายความเครียด เพื่อรักษาสมดุลฮอร์โมน
- ไม่ควรออกกำลังกายหนัก เดินนานๆ ขึ้นลงบันไดบ่อยๆ หรือยกของหนัก
- ไม่ควรอยู่ในพื้นที่แออัดเพื่อหลีกเลี่ยงการรับเชื้อโรคโดยไม่จำเป็น
- ควรตรวจการตั้งครรภ์หลังจากย้ายตัวอ่อนไปแล้ว 10 วัน หากใช้ ที่ตรวจครรภ์ตรวจ เร็วเกินไป อาจทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากฮอร์โมน hCG ที่แสดงถึงการตั้งครรภ์จะมีปริมาณมากพอที่จะตรวจพบได้หลังจากตั้งครรภ์แล้วระยะหนึ่ง
การทำ ICSI มีโอกาสสำเร็จเท่าไหร่
โอกาสที่จะทำ ICSI สำเร็จ โดยพื้นฐานจะอยู่ที่ประมาณ 40% และจะลดลงเรื่อยๆเมื่อคู่สมรสฝ่ายหญิงอายุมากขึ้น ซึ่งเปอร์เซ็นต์ในส่วนนี้จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย
เริ่มต้นจากขั้นตอนการปฏิสนธิ แม้การทำ ICSI จะเป็นการใส่อสุจิเข้าไปที่ไข่โดยตรง แต่โอกาสปฏิสนธิก็ไม่ได้ไปถึง 100% เนื่องจากบางครั้ง แม้อสุจิเข้าไปในไข่ได้แล้ว แต่เซลล์อาจไม่เกิดการปฏิสนธิ ไม่แบ่งตัวเป็นตัวอ่อนก็ได้ โอกาสปฏิสนธิสำเร็จจึงอยู่ที่ประมาณ 50 – 80%
ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนก็สำคัญ การทำเด็กหลอดแก้วด้วยเทคนิคอิ๊กซี่ จะต้องเลี้ยงตัวอ่อนไว้นอกโพรงมดลูกถึง 5 วัน หากตัวอ่อนถูกเลี้ยงโดยนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนที่ไม่ชำนาญ หรือเลี้ยงในห้องปฏิบัติการที่ไม่มีคุณภาพ ก็อาจจะทำให้ตัวอ่อนคุณภาพแย่ลงจนมีผลต่อการเจริญเติบโต
หลังจากย้ายตัวอ่อนแล้ว ขั้นตอนการดูแลตนเองก็มีผลกับการตั้งครรภ์เช่นกัน ดังนั้นโอกาสทำ ICSI สำเร็จขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมาก หากเลือกสถานพยาบาลที่ให้บริการอย่างดี เทคโนโลยีการรักษามีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ควบคุมการรักษาโดยแพทย์และทีมงานผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงผู้เข้ารับการรักษาปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างดี ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำเร็จจากการทำเด็กหลอดแก้วอิ๊กซี่ได้นั่นเอง
ข้อดี ข้อเสีย ของการทำ ICSI
ข้อดีของการทำ ICSI คือมีข้อจำกัดค่อนข้างน้อย สามารถเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้มาก แม้ทำหมันแล้วก็สามารถทำได้ ส่วนข้อเสียส่วนใหญ่คือการทำ ICSI อาจทำให้ตัวอ่อนเสียหายได้จากการที่ใช้เข็มขนาดเล็กฉีดอสุจิเข้าสู่เซลล์ไข่โดยตรง จนสามารถทำให้โอกาสการตั้งครรภ์ลดลงได้
ข้อดีข้อเสียโดยละเอียดของการทำ ICSI สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในส่วน Q&A ของบทความนี้
ปัญหา หรือ ภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง
- เกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกิน (Ovarian Hyperstimulation Syndrome หรือ OHSS)
- ไข่เสียหายจากการเก็บไข่
- ฝ่ายหญิงเสี่ยงเกิดการติดเชื้อในขั้นตอนการเก็บไข่และการย้ายตัวอ่อน เพราะต้องทำผ่านช่องคลอด
- ตัวอ่อนมีโครโมโซมเพศผิดปกติ
- เกิดครรภ์แฝด จนทำให้เสี่ยงแท้งหรือทำให้ทารกที่เกิดมามีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ
- เสี่ยงเกิดภาวะแท้งได้มากกว่าการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติเล็กน้อย
- ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น การท้องนอกมดลูก การคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้เหมือนกับการตั้งครรภ์ตามปกติ
การทำอิ๊กซี่ ICSI มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นอย่างการกระตุ้นไข่ ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกิน ซึ่งทำให้รังไข่โตผิดปกติ มีน้ำในช่องท้อง มีผลกับระบบเลือด และอาจทำให้เส้นเลือดอุดตันจนอันตรายถึงชีวิตได้เลย
ต่อมาในช่วงที่ไข่โตขึ้นจนได้ขนาดแล้ว ขั้นตอนการเก็บไข่จากฝ่ายหญิง อาจทำให้ไข่เสียหายได้ โดยมีโอกาสเกิดประมาณ 2 – 5% นอกจากนี้การเก็บไข่และการย้ายตัวอ่อนผ่านทางช่องคลอด อาจทำให้เกิดอาการเจ็บระบมที่ช่องคลอดของฝ่ายหญิง และอาจทำให้เกิดแผลภายในจนเสี่ยงเกิดการติดเชื้อได้ แม้จะมีโอกาสเกิดน้อยมากก็ตาม
ในขั้นตอนการปฏิสนธิ การปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการอาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติที่โครโมโซมเพศได้มากกว่าการปฏิสนธิที่ท่อนำไข่ตามปกติ ซึ่งมีผลทำให้เสี่ยงเกิดภาวะแท้ง หรือทำให้ทารกที่เกิดมีความผิดปกติในด้านร่างกาย และการเรียนรู้ได้ แต่ความผิดปกติในโครโมโซมเพศดังกล่าวก็มีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 0.8% เท่านั้น
นอกจากนี้ การทำเด็กหลอดแก้ว ICSI ยังอาจทำให้มีโอกาสเกิดครรภ์แฝดได้มากถึง 15 – 20% เนื่องจากตามปกติแล้วแพทย์จะย้ายตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูกมากกว่า 1 ตัว เพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ ทำให้เกิดครรภ์ที่เป็นแฝดเทียม (ทารกทั้งสองคนเกิดจากไข่คนละใบ) ได้มากกว่าการตั้งครรภ์ตามปกติ
ทั้งนี้ ความเสี่ยงดังกล่าวสามารถควบคุมให้เกิดน้อยลงได้หากเลือกสถานพยาบาลที่มีคุณภาพ เทคโนโลยีที่ใช้ได้มาตรฐาน ให้บริการอย่างดี และดูแลการรักษาโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ทํา ICSI ราคาเท่าไหร่
ค่าใช้จ่ายการทำอิ๊กซี่ ICSI ที่คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก และส่งเสริมสุขภาพสตรี BDMS Wellness Clinic จะอยู่ที่ประมาณ 454,000 – 630,000 บาท โดยที่ค่าใช้จ่ายจะแตกต่างกันไปตามบริการเสริมที่แพทย์แนะนำให้ทำ เช่น การตรวจโครโมโซมตัวอ่อน PGT-M, PGS หรือการเก็บอสุจิด้วยวิธี PESA, TESA เป็นต้น
ทำ ICSI ที่ไหนดี ทำไมควรเลือก BDMS Wellness Clinic
ทำ ICSI ที่ไหนดี? Wellnesshealth Club เราเป็นคลับของคนรักสุขภาพ ที่จะให้ความสำคัญกับการบริการ และการรักษาครบวงจรโดยโรงพยาบาลใหญ่ในเครือ และศูนย์รักษาที่มีชื่อเสียงในสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อมอบประสบการณ์การรักษาที่ดีที่สุดให้กับผู้เข้ารับบริการ
ในเรื่องความชำนาญของการทำ ICSI แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์สูงของเรา ควบคุมการรักษาเองในทุกๆ เคสการรักษา ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการรักษาผู้มีบุตรยากของเรามีด้วยกัน 5 ท่าน ได้แก่
- นายแพทย์พูลศักดิ์ ไวความดี – ผู้อำนวยการคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก และส่งเสริมสุขภาพสตรี
- แพทย์หญิงชโลมขวัญ ประยูรเวชช์ – แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการรักษาภาวะมีบุตรยากเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา
- แพทย์หญิงวราธิป โอทกานนท์ – สูตินรีแพทย์
- นายแพทย์ธนิก โชคจิรวัฒน์ – แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการรักษาภาวะมีบุตรยากเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
- แพทย์หญิงรุ่งทิวา กมลเดชเดชา – สูตินรีแพทย์
จากสถิติการรักษาที่ผ่านมา เราสามารถเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์สำเร็จของเคสการรักษาที่ทำเด็กหลอดแก้ว ให้เพิ่มจาก 40% ตามปกติ ขึ้นเป็น 70% ได้ ด้วยความเชี่ยวชาญของแพทย์ และความชำนาญของนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ทั้งยังให้บริการต่อเนื่องจนถึงขั้นตอนการฝากครรภ์และคลอดบุตรด้วย ทำให้ผู้เข้ารับการรักษามั่นใจว่าจะได้รับบริการที่ครบถ้วน และมีคุณภาพที่สุด
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับศูนย์รักษาของ BDMS : ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก และส่งเสริมสุขภาพสตรี BDMS Wellness Clinic
Q&A รวมคำถามที่คนสงสัยเกี่ยวกับการทำ ICSI
IVF (In-Vitro Fertilization)
IVF (In-Vitro Fertilization) คือกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว เหมือนกับการทำอิ๊กซี่ ICSI ข้อแตกต่างของการทำเด็กหลอดแก้วทั้ง 2 วิธี คือ IVF จะปล่อยให้ไข่และอสุจิผสมกันเอง โดยการนำไข่ไว้ในพื้นที่เดียวกับอสุจิหลายๆ ตัว เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิเองตามธรรมชาติ
วิธีการทำเด็กหลอดแก้วด้วยเทคนิค IVF มีข้อดีคือเซลล์ไข่ไม่เสี่ยงเสียหายจากการฉีดอสุจิเข้าไปเหมือนกับการทำอิ๊กซี่ แต่ก็มีข้อเสียคืออาจทำให้โอกาสปฏิสนธิลดลง ในกรณีที่อสุจิอ่อนแอ มีปัญหาด้านรูปร่างและการเคลื่อนไหว หรือในกรณีที่ถุงหุ้มเซลล์ไข่หนาเกินไป
ดังนั้นการตัดสินใจว่าจะทำ IVF หรือ ICSI ดีนั้น ขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหาการมีบุตรยาก โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำในเรื่องความเหมาะสม รวมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียเพื่อประกอบการตัดสินใจของคู่สมรสที่มาเข้ารับบริการต่อไป
ขั้นตอนทำ ICS อย่างละเอียด
ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว ICSI อย่างละเอียดมีด้วยกัน 6 ขั้นตอน ได้แก่
- ปรึกษาแพทย์ – เป็นขั้นตอนการตรวจสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก ตรวจร่างกาย เลือกวิธีการรักษา และเตรียมตัวก่อนการทำ ICSI
- เริ่มฉีดยากระตุ้นไข่ – เพื่อให้ไข่โตพร้อมเก็บไข่
- เก็บไข่และอสุจิ – เก็บไข่จากท่อนำไข่ของฝ่ายหญิง และเก็บอสุจิจากการหลั่งของฝ่ายชาย
- การเลี้ยงตัวอ่อน – เลี้ยงตัวอ่อนเป็นเวลา 5 วัน และเป็นขั้นตอนที่สามารถตรวจโครโมโซมตัวอ่อนได้
- การย้ายตัวอ่อน – เมื่อตัวอ่อนเข้าสู่ระยะที่เหมาะสม ร่างกายของฝ่ายหญิงพร้อมกับการตั้งครรภ์ ก็จะย้ายตัวอ่อนเพื่อให้ตั้งครรภ์ต่อไป
- ตรวจการตั้งครรภ์ – ตรวจด้วยการตรวจปัสสาวะหรือเลือดของฝ่ายหญิง โดยแพทย์จะนัดมาตรวจที่โรงพยาบาล
รายละเอียดของการทำอิ๊กซี่ ICSI แต่ละขั้นตอน มีดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ปรึกษาแพทย์
ในขั้นตอนการปรึกษาแพทย์จะเริ่มจากการหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก โดยปกติแล้วแพทย์แนะนำว่าควรมาปรึกษาเมื่อ
- พยายามมีบุตรโดยการมีเพศสัมพันธ์อย่างเสมอ สัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง มานานกว่า 6 เดือน ถึง 1 ปี แล้วไม่เคยตั้งครรภ์เลย
- ฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปี
- ฝ่ายหญิงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ไม่สม่ำเสมอ ปวดท้องมาก หรือมามากกว่าปกติ
- คู่สมรสทั้งสองคน หรือคนใดคนหนึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์หรือบริเวณใกล้เคียง เช่น เคยผ่าตัด เคยเป็นโรคหรือกำลังเป็นโรคต่างๆ ที่อวัยวะในระบบสืบพันธุ์
เมื่อแพทย์วินิจฉัยถึงสาเหตุของภาวะมีบุตรยากแล้ว ก็จะรักษาที่ต้นเหตุก่อน หรือหากไม่สามารถรักษาได้ แต่มีโอกาสตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วได้ ก็จะเข้าสู่กระบวนการทำ IVF หรือ ICSI เลย หรือหากไม่พบสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก แพทย์ก็จะแนะนำให้ทำ IUI ก่อน หากทำ IUI หลายครั้งแล้วตั้งครรภ์ไม่สำเร็จ แพทย์ก็จะพิจารณาให้ทำเด็กหลอดแก้วต่อไป
เมื่อแพทย์ประเมินแล้วว่าควรแก้ปัญหาการมีบุตรยากด้วยการทำอิ๊กซี่ ICSI แพทย์ก็จะตรวจร่างกายในเบื้องต้นเพื่อประเมินความพร้อมในการทำ ICSI และความเสี่ยงต่างๆ โดยสิ่งที่ต้องตรวจ ได้แก่
1. การตรวจร่างกายก่อนการทำ ICSI สำหรับฝ่ายหญิง
a. การตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติที่อาจส่งผลกับทารกในครรภ์
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count หรือ CBC)
- ตรวจหมู่เลือด (Blood group and Rh group)
- ตรวจเชื้อ HIV (Anti HIV)
- ตรวจเชื้อซิฟิลิส (Venereal Disease Research Laboratory test หรือ VDRL)
- ตรวจไวรัสตับอักเสบบี และซี (HBsAg และ Anti HCV)
- ตรวจโรคหัดเยอรมัน (Rubella IgG)
- ตรวจโรคธาลัสซีเมีย (Hemoglobin typing)
b. การตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนในวันที่ 2 ของการมีประจำเดือน เพื่อวัดระดับฮอร์โมน E2, LH, FSH, PRL, และ AMH (เพื่อหาปริมาณไข่สำรอง)
c. การอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดเพื่อตรวจความผิดปกติภายในระบบสืบพันธุ์
2. การตรวจร่างกายก่อนการทำ ICSI สำหรับฝ่ายชาย
a. การตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติที่อาจส่งผลกับทารก
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count หรือ CBC)
- ตรวจหมู่เลือด (Blood group and Rh group)
- ตรวจเชื้อ HIV (Anti HIV)
- ตรวจเชื้อซิฟิลิส (Venereal Disease Research Laboratory test หรือ VDRL)
- ตรวจไวรัสตับอักเสบบี และซี (HBsAg และ Anti HCV)
- ตรวจโรคหัดเยอรมัน (Rubella IgG)
- ตรวจโรคธาลัสซีเมีย (Hemoglobin typing)
b. การตรวจคุณภาพอสุจิ ขั้นตอนนี้จะตรวจทั้งปริมาณอสุจิ (Sperm Count), เปอร์เซ็นต์การแตกตัวของ DNA (DNA Fragmentation), และคุณภาพเกี่ยวกับรูปร่างและการเคลื่อนไหวของอสุจิ โดยก่อนการตรวจควรงดการหลั่ง 3 – 7 วัน
หลังจากตรวจแล้วถ้าร่างกายเป็นปกติดี ไม่ได้มีความเสี่ยง แพทย์ก็จะดำเนินการทำ ICSI ต่อไป ระหว่างนี้แพทย์ก็จะให้เตรียมตัวโดยการดูแลตัวเองและใช้อาหารเสริมที่แพทย์แนะนำ เมื่อฝ่ายหญิงมีรอบเดือนแล้วจึงมาพบแพทย์เพื่อกระตุ้นไข่ต่อไป
ขั้นตอนที่ 2 เริ่มฉีดยากระตุ้นไข่
การฉีดกระตุ้นไข่ จะเริ่มเมื่อวันที่ 2 – 3 ของการมีประจำเดือน แพทย์จะนัดมาอัลตราซาวด์ดูปริมาณไข่ที่เหลือ รวมถึงเจาะเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมน FSH และ LH ว่ามีปริมาณเหมาะสมหรือไม่ จากนั้นแพทย์จะให้ยากลับไปฉีดที่บ้าน ติดต่อกันเป็นเวลา 8 – 10 วัน
ซึ่งยาที่แพทย์ให้มาจะอยู่ในเข็มลักษณะคล้ายปากกา ทำให้ฉีดได้ง่ายและไม่เจ็บมาก หรือถ้าฝ่ายหญิงกลัวเข็ม ไม่กล้าฉีดเอง ก็สามารถมาที่สถานพยาบาลเพื่อมาฉีดกระตุ้นไข่ได้เช่นกัน
ในช่วงนี้แพทย์ก็จะนัดมาพบเรื่อยๆ เพื่ออัลตราซาวด์ดูว่าไข่ได้ขนาดหรือยัง หากได้ขนาดที่ใหญ่พอจะนำมาปฏิสนธิแล้ว ก็จะเข้ากระบวนการเก็บไข่ต่อไป
โดยยาที่แพทย์ให้ฉีดในขั้นตอนการฉีดกระตุ้นไข่นี้จะมี 2 ตัว ได้แก่
- ยากระตุ้นไข่ตก (Medications for ovarian stimulation) เพื่อให้ไข่มีขนาดใหญ่พอที่จะนำมาปฏิสนธิได้ในระยะเวลาสั้นๆ และทำให้ไข่ตกออกมามากกว่า 1 ใบในการกระตุ้นไข่ครั้งเดียว
- ยาป้องกันไม่ให้ไข่ตกก่อนเวลา (Medications to prevent premature ovulation) เพราะหากไข่ตกออกมาก่อนจะทำให้ไข่ฝ่อไป ไม่สามารถนำมาเข้ากระบวนการทำ ICSI ได้
ขั้นตอนที่ 3 เก็บไข่และอสุจิ
ขั้นตอนการเก็บไข่ในการทำ ICSI จะเริ่มทำเมื่อแพทย์อัลตราซาวด์แล้วเห็นว่าไข่ได้ขนาดที่เหมาะสม สามารถนำไปเข้ากระบวนการปฏิสนธิได้แล้ว โดยปกติควรจะอยู่ที่ประมาณ 0.18 มิลลิเมตร
เมื่อเข้าสู่กระบวนการเก็บไข่ แพทย์จะเริ่มจากการฉีดยาเร่งไข่ตก โดยยาดังกล่าวจะเพิ่มฮอร์โมน hCG เลียนแบบฮอร์โมนจากร่างกาย เพื่อให้ไข่ตกออกมาเหมือนช่วงการตกไข่ของรอบเดือนตามปกติ จากนั้นเมื่อผ่านไป 36 ชั่วโมง แพทย์จะนัดมาเก็บไข่อีกครั้ง
ในวันที่เก็บไข่ มีขั้นตอนการทำดังนี้
- แพทย์จะให้งดน้ำและอาหารเป็นเวลา 8 ชั่วโมงก่อนการเก็บไข่
- วิสัญญีแพทย์จะใช้ยาสลบอ่อนๆ ทำให้ผู้เข้ารับการรักษาหลับตลอดกระบวนการ
- แพทย์อัลตราซาวด์หาตำแหน่งไข่
- ใช้เครื่องดูดไข่เข้าไปเก็บไข่ผ่านทางช่วงคลอด ทำให้ไม่ต้องนอนพักฟื้น ไม่มีแผล แต่อาจจะรู้สึกเจ็บระบมที่อวัยวะเพศประมาณ 2 – 3 วัน
- เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนและฟื้นแล้ว ควรพักในห้องรับรองต่อเล็กน้อยแล้วจึงกลับบ้านได้ ไม่ต้องพักค้างคืนที่สถานพยาบาล
ซึ่งกระบวนการเก็บไข่ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียง 15 – 20 นาทีเท่านั้น
ในวันเดียวกันกับที่ฝ่ายหญิงมาเก็บไข่ แพทย์ก็จะนัดฝ่ายชายมาเก็บอสุจิด้วย โดยแพทย์จะให้ฝ่ายชายหลั่งด้วยตนเอง ลงในกระบอกเก็บอสุจิที่แพทย์ให้ หรือหากไม่สามารถหลั่งได้เนื่องจากมีน้ำอสุจิน้อยเกินไป เป็นหมัน หรือผ่านการทำหมันมา แพทย์จะพิจารณาให้เก็บอสุจิด้วยวิธีการ PESA หรือ TESA ซึ่งเป็นการเก็บอสุจิที่อัณฑะหรือท่อนำน้ำอสุจิโดยตรง
ขั้นตอนที่ 4 การเลี้ยงตัวอ่อน
หลังจากเก็บไข่และอสุจิแล้ว ก็จะนำไปเข้ากระบวนการทำ ICSI นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงที่สุด 1 ตัว มาผสมกับไข่ที่สมบูรณ์ 1 ใบ จากนั้นเพาะเลี้ยงในห้องทดลองเป็นเวลา 5 วัน เพื่อรอให้ตัวอ่อนเข้าสู่ระยะ Blastocyst
ซึ่งระยะ Blastocyst นี้ เป็นระยะที่ตัวอ่อนแบ่งเซลล์จนแข็งแรงมากพอที่จะย้ายตัวอ่อน นอกจากนี้เมื่อเทียบกับการปฏิสนธิภายในท่อนำไข่ตามปกติแล้ว Blastocyst เป็นระยะที่ตัวอ่อนกำลังตกลงมาจากท่อนำไข่ เข้าสู่โพรงมดลูกพอดี การย้ายตัวอ่อนในระยะนี้จึงเป็นการเลียนแบบกระบวนการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติด้วย
หากคู่สมรสมีความเสี่ยงการเกิดโรคทางพันธุกรรม หรือต้องการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน ก็สามารถทำได้เมื่อตัวอ่อนเข้าสู่ระยะ Blastocyst เช่นกัน
โดยการตรวจ แพทย์จะเก็บเซลล์จากตัวอ่อนมาประมาณ 3 – 5 เซลล์ แล้วไปเข้ากระบวนเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรม และตรวจด้วยเทคนิคที่เหมาะสม เพื่อคัดเลือกแค่ตัวอ่อนที่มีโครโมโซมปกติ ไม่มีโรคในยีน ย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกต่อไป
ขั้นตอนที่ 5 การย้ายตัวอ่อน
ในระหว่างที่รอให้ตัวอ่อนให้เข้าสู่ระยะ Blastocyst แพทย์จะให้ยาที่เป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่จะไปกระตุ้นการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อให้ผนังมดลูกฟูขึ้น พร้อมรับการฝังตัวของตัวอ่อนที่จะย้ายกลับเข้าไป
การย้ายตัวอ่อนในขั้นตอนการทำอิ๊กซี่ ICSI จะมี 2 วิธี ได้แก่ การย้ายตัวอ่อนในรอบสด (Fresh Embryo Transfer – ET) และการย้ายตัวอ่อนในรอบแช่แข็ง (Frozen embryo transfer – FET)
การย้ายตัวอ่อนในรอบสด จะย้ายเมื่อตัวอ่อนเข้าสู่ระยะ Blastocyst ในช่วงที่ร่างกายของฝ่ายหญิงพร้อมต่อการตั้งครรภ์แล้ว จึงสามารถย้ายตัวอ่อนได้เลย
ส่วนการย้ายตัวอ่อนในรอบแช่แข็ง จะใช้ในกรณีที่ตัวอ่อนเข้าสู่ระยะ Blastocyst แล้ว แต่ฝ่ายหญิงยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ อาจจะมีเยื่อบุโพรงมดลูกบางเกินไป ฮอร์โมนในร่างกายไม่เหมาะสมกับการตั้งครรภ์ หรืออาจจะยังไม่อยากตั้งครรภ์ด้วยเหตุผลเรื่องการวางแผนครอบครัว แพทย์ก็จะแช่แข็งตัวอ่อนเอาไว้เพื่อคงสภาพตัวอ่อน เมื่อฝ่ายหญิงพร้อมตั้งครรภ์แล้ว จึงนำตัวอ่อนออกมาละลายและย้ายเข้าสู่โพรงมดลูก
โดยตัวอ่อนแช่แข็งดังกล่าวสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 10 ปี โดยที่ไม่ทำให้คุณภาพตัวอ่อนแย่ลงอีกด้วย
อาการหลังใส่ตัวอ่อนอาจจะเวียนศีรษะ หน้ามืด เจ็บหน่วงที่บริเวณท้องน้อยและอวัยวะเพศ ดังนั้นในวันที่ย้ายตัวอ่อนไม่ควรไปคนเดียว ควรมีผู้ดูแลขับรถไปรับไปส่ง และดูแลอย่างใกล้ชิด
ขั้นตอนที่ 6 ตรวจการตั้งครรภ์
หลังจากย้ายตัวอ่อนแล้ว 10 วัน แพทย์จะนัดมาตรวจการตั้งครรภ์ด้วยการตรวจเลือด เพื่อยืนยันผลการตั้งครรภ์อย่างแม่นยำ โดยการตรวจตั้งครรภ์นี้จะทำโดยการตรวจหาปริมาณฮอร์โมน Beta-hCG ในเลือด หากมีปริมาณมากกว่าปกติก็จะอ่านผลได้ว่ากำลังตั้งครรภ์
คู่สมรสหลายคู่อยากทราบผลเร็ว จึงซื้อที่ตรวจครรภ์มาตรวจเอง ในส่วนนี้แพทย์ไม่แนะนำให้ทำ เนื่องจากหากตรวจเร็วเกินไปอาจพบผลบวกเท็จได้
เพราะขั้นตอนกระตุ้นการตกไข่ต้องใช้ฮอร์โมน hCG เช่นเดียวกันกับฮอร์โมนที่ใช้ตรวจหาการตั้งครรภ์ หากตรวจไวเกินไป ฮอร์โมนดังกล่าวยังไม่ลดลง อาจจะพบผลบวกเท็จได้ คือผลตรวจขึ้นว่าตั้งครรภ์ แต่จริงๆแล้วไม่ได้ตั้งครรภ์
ในขณะเดียวกัน ฮอร์โมน hCG ก็ไม่ได้มีปริมาณมากทันทีเมื่อตั้งครรภ์ ทำให้เมื่อตรวจเร็วเกินไป จะไม่พบฮอร์โมน hCG ในปัสสาวะ เกิดเป็นผลลบปลอม คือผลตรวจบอกว่าไม่ตั้งครรภ์ ทั้งที่จริงๆแล้วอาจจะตั้งครรภ์ได้
เพื่อไม่ให้คุณแม่คาดหวังหรือผิดหวังจากผลการตรวจที่ไม่แน่นอนจนทำให้เกิดความเครียดขึ้น ก็ยังไม่ควรตรวจการตั้งครรภ์ก่อนจะพบแพทย์
หรือหากทนไม่ไหวจริงๆ อยากตรวจมาก แพทย์แนะนำให้ตรวจหลังจากย้ายตัวอ่อนแล้วอย่างน้อย 7 วัน เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวจะตรวจพบผลคลาดเคลื่อนได้น้อยลง แต่หลังจากนี้ยังคงต้องยืนยันผลการตรวจโดยแพทย์อีกครั้ง จึงจะเข้ากระบวนการฝากครรภ์ต่อไปได้
การเตรียมตัวสำหรับฝ่ายหญิง
การเตรียมตัวก่อนการทำ ICSI เป็นการปรับปรุงคุณภาพไข่ เพื่อให้ปฏิสนธิได้ง่ายขึ้น ตัวอ่อนคุณภาพดีขึ้น ทั้งยังทำให้ร่างกายเตรียมพร้อมต่อการตั้งครรภ์ด้วย โดยวิธีการเตรียมตัว ได้แก่
1. ทานอาหารที่มีประโยชน์
- เน้นทานอาหารโปรตีนสูง
- ทานผักผลไม้มากๆ ทำระบบขับถ่ายให้สมดุล
- เน้นทานอาหารที่ปรุงสุกสดใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารกึ่งสำเร็จ และอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ
- งดอาหารที่มีไขมัน แป้ง และน้ำตาลในปริมาณมาก
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ – การออกกำลังกายสำคัญกับการสร้างสมดุลฮอร์โมน และสำคัญกับระบบหมุนเวียนโลหิต ทำให้เลือดและสารอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ รวมถึงรังไข่ได้ดีมากขึ้น
การออกกำลังกายต้องเน้นการทำคาร์ดิโอ (Cardio Exercise) คือการออกกำลังกายโดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่นการวิ่ง ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก
ควรทำอย่างต่อเนื่องประมาณ 30 – 45 นาที อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 – 4 ครั้ง
3. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ – การนอนหลับพักผ่อน รวมถึงผ่อนคลายความเครียด สำคัญกับระบบฮอร์โมนในร่างกายอย่างมาก เมื่อฮอร์โมนเป็นปกติ เซลล์ไข่จะมีคุณภาพดีขึ้น ร่างกายก็จะพร้อมกับการตั้งครรภ์มากขึ้นด้วยเช่นกัน
การนอนควรเข้านอนก่อนเวลา 5 ทุ่ม เพื่อให้ฮอร์โมนบางตัวที่สำคัญหลั่งออกมาได้ตามปกติ และควรนอนประมาณ 6 – 7 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ
4. ทานวิตามินตามที่แพทย์แนะนำ – โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ทานวิตามิน ดังนี้
- กรดโฟลิค (Folic acid) ช่วยลดโอกาสทารกผิดปกติ ทั้งความผิดปกติเกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง และความพิการอื่นๆ
- วิตามินซี (Vitamin C)
- วิตามินอี (Vitamin E)
- แอสตาแซนทีน (Astaxanthin)
- โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10)
ทั้งนี้ การทานวิตามินควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ เนื่องจากอาหารเสริมและวิตามินบางตัวอาจก่อผลเสียมากกว่าผลดีได้
การเตรียมตัวสำหรับฝ่ายชาย
การเตรียมตัวสำหรับฝ่ายชายเหมือนกับฝ่ายหญิงทุกประการ โดยมีข้อแตกต่างเล็กน้อย ดังนี้
- การออกกำลังกายควรระวังการกระทบกระเทือนที่อวัยวะเพศและอัณฑะ เพราะจะทำให้คุณภาพอสุจิลดลง และเสี่ยงเกิดภาวะมีบุตรยากได้มากกว่าเดิม
- ไม่ควรหลั่งอสุจิบ่อยจนเกินไป เพราะจะทำให้มีปริมาณน้อยกว่าที่ควรจะเป็นในวันที่เก็บอสุจิ ในขณะเดียวกันก็ควรหลั่งบ้าง เนื่องจากน้ำเชื้อที่ถูกเก็บไว้นานเกินไปจะมีคุณภาพที่ไม่ดีเช่นกัน
- อาหารเสริมบำรุงน้ำเชื้อที่แพทย์แนะนำได้แก่
- แอสตาแซนทีน (Astaxanthin)
- โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10)
- สังกะสี (Zinc)
ข้อดีของการทำ ICSI
ข้อดีของการทำอิ๊กซี่ ICSI
- สามารถเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้ สำหรับผู้ที่มีบุตรยากอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- ทำให้ผู้ที่ทำหมัน หรือเป็นหมันจากปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ สามารถมีลูกได้ในบางกรณี โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหมันจากความเสียหายบริเวณท่อนำไข่หรือท่อนำน้ำอสุจิ สามารถมีลูกด้วยการทำ ICSI ได้ โดยที่ไม่ต้องรักษาอาการเป็นหมัน หรือแก้หมันเลย
- ไข่และอสุจิมีโอกาสปฏิสนธิกันมากกว่าการทำ IVF
- สามารถวางแผนครอบครัวได้ง่าย เนื่องจากการทำ ICSI สามารถทำจากไข่และน้ำเชื้อที่แช่แข็งฝากไว้ได้ ในช่วงเวลาที่พร้อมจะมีลูกแล้วก็สามารถนำออกมาปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน และย้ายเข้าโพรงมดลูกเพื่อตั้งครรภ์ได้เลย
- สามารถฝากไข่ที่ยังไม่ปฏิสนธิ หรือฝากตัวอ่อนที่ปฏิสนธิแล้วได้ ในกรณีที่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ จากทั้งเหตุผลด้านร่างกายและด้านอื่นๆ ซึ่งสามารถฝากไว้ได้ถึง 10 ปีโดยที่คุณภาพของไข่และตัวอ่อนไม่ลดลง
- ลดความเสี่ยงการเกิดความพิการในทารก โรคที่เกิดจากการมีโครโมโซมผิดปกติ เนื่องจากสามารถตรวจหาความผิดปกติในโครโมโซมก่อนการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกได้ จากการตรวจ PGS (Preimplantation Genetic Screening) ด้วยเทคโนโลยี NGS (Next generation sequencing)
- ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแท้งในช่วงอายุครรภ์น้อยกว่า 12 เดือน จากสาเหตุความผิดปกติทางพันธุกรรมได้ ด้วยการตรวจ PGS ด้วยเทคโนโลยี NGS
- ลดความเสี่ยงการส่งต่อโรคทางพันธุกรรมจากคุณพ่อคุณแม่สู่ลูก ด้วยการตรวจโครโมโซม PGT-M (Pre-implantation Genetic Testing for Monogenic diseases)
ทั้งนี้ การตรวจโครโมโซมในขั้นตอนการทำ ICSI เป็นเพียงทางเลือกเท่านั้น ไม่ได้จำเป็นต้องตรวจทุกกรณี การตรวจ PGT-M แพทย์จะให้ทำเมื่อมีความเสี่ยงเท่านั้น เช่นคุณพ่อคุณแม่เป็นโรคที่ส่งต่อได้ทางพันธุกรรม หรือเป็นพาหะของโรค
ส่วนการตรวจ PGS แพทย์จะแนะนำให้ทำในกรณีที่เคยแท้งในช่วงอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ เคยแท้งมามากกว่า 2 ครั้ง มีบุตร หรือมีญาติที่เป็นโรคจากความผิดปกติของโครโมโซม และหากต้องการตรวจเพื่อความสบายใจ ไม่ได้มีความเสี่ยง ก็สามารถทำได้เช่นกัน
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจ PGS ว่าคืออะไร? ต่างจาก PGT-M อย่างไร? ทำไมต้องเทคโนโลยี NGS? : ตรวจโครโมโซมตัวอ่อน
ข้อเสียของการทำ ICSI
ข้อเสียของการทำอิ๊กซี่ ICSI
- การปฏิสนธิด้วยวิธีการทำอิ๊กซี่ จะใช้เข็มฉีดอสุจิเข้าไปในไข่โดยตรง ทำให้มีโอกาสที่ไข่จะได้รับความเสียหาย จนโอกาสปฏิสนธิลดลงได้ ในกรณีที่นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนไม่ชำนาญ
- มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนกับร่างกายของฝ่ายหญิงได้ ที่พบได้บ่อยคือภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian hyperstimulation syndrome หรือ OHSS)
- ในขั้นตอนการย้ายตัวอ่อน ส่วนใหญ่แพทย์จะย้ายตัวอ่อนมากกว่า 1 ตัว ทำให้มีโอกาสเกิดครรภ์แฝดสูงกว่าการตั้งครรภ์ตามปกติ ซึ่งครรภ์แฝดจะทำให้ร่างกายของฝ่ายหญิงรับภาระหนัก เสี่ยงแท้งง่าย ทารกที่คลอดออกมาก็เสี่ยงมีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่าปกติ
- การตั้งครรภ์จากตัวอ่อนที่ได้จากการทำ ICSI อาจเสี่ยงเกิดภาวะแท้งได้ง่ายกว่าการตั้งครรภ์ตามปกติเล็กน้อย
ทํา ICSI ไม่สําเร็จ ทํา ICSI ไม่ติด เกิดจากอะไร
ทำ ICSI ไม่สำเร็จ ทำไม่ติด เกิดได้จากหลายสาเหตุ
- คุณภาพตัวอ่อนไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งคุณภาพตัวอ่อนก็ขึ้นอยู่กับหลายเหตุผล ทั้งคุณภาพของไข่ คุณภาพอสุจิ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการเก็บไข่ ปฏิสนธิ ตรวจโครโมโซมตัวอ่อน หรือความไม่ชำนาญของแพทย์และนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ทำให้ตัวอ่อนไม่ฝังตัว หรือไม่สามารถแบ่งเซลล์เพื่อเติบโตต่อไปได้
- ร่างกายของฝ่ายหญิงยังไม่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์ ทั้งความเหมาะสมของฮอร์โมน และสภาวะภายในโพรงมดลูก ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวและเจริญต่อไปได้
- การดูแลตัวเองหลังการย้ายตัวอ่อน ในช่วงนี้เป็นช่วงที่ตัวอ่อนเปราะบางมาก หากไม่ทำตามข้อแนะนำของแพทย์ก็อาจทำให้ตัวอ่อนฝังตัวไม่ได้ จนทำ ICSI ไม่ติดนั่นเอง
ทำ ICSI ทำลูกแฝดได้ไหม
ทำ ICSI สามารถทำลูกแฝดเทียมได้ แต่ไม่สามารถบังคับให้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากการใส่ตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกตามปกติจะใส่ครั้งละมากกว่า 1 ตัวเพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ หากตัวอ่อนฝังตัวมากกว่า 1 ตัว ก็จะสามารถทำให้เกิดแฝดเทียมได้
ส่วนการทำลูกแฝดแท้นั้น การทำ ICSI ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากแฝดแท้จะเกิดจากความผิดปกติของการแบ่งเซลล์ในช่วงที่ตัวอ่อนเติบโตในครรภ์ ดังนั้นการทำ ICSI ไม่สามารถบังคับให้เกิดแฝดแท้ขึ้นได้ แต่แฝดแท้จากการทำ ICSI ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เหมือนกับการตั้งครรภ์ตามปกตินั่นเอง
ทำ ICSI เลือกเพศลูกได้ไหม
ในทางการแพทย์ การทำอิ๊กซี่ ICSI สามารถเลือกเพศลูกได้ โดยการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน หากพบว่าโครโมโซมเป็น XX แสดงว่าเป็นตัวอ่อนเพศหญิง หากโครโมโซมเป็น XY แสดงว่าเป็นตัวอ่อนเพศชาย
แต่ในทางปฏิบัติ สถานพยาบาลไม่สามารถเลือกเพศทารกที่จะเกิดจากการทำ ICSI หรือเด็กหลอดแก้ววิธีอื่นๆ ได้ เนื่องจากผิดกฎหมายเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย
ทำหมันแล้วทำ ICSI ได้ไหม
ทำหมันแล้วสามารถทำ ICSI ได้ เนื่องจากการทำหมันส่วนใหญ่จะเป็นการผูก ตัด หรือทำให้อุดตัน ที่ท่อนำไข่ หรือท่อนำน้ำอสุจิ แต่ขั้นตอนการทำ ICSI ไม่จำเป็นต้องอาศัยอวัยวะดังกล่าว ทำให้แม้จะทำหมันแล้ว ก็สามารถทำให้ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ด้วยการทำ ICSI ได้ โดยไม่ต้องแก้หมันเลย
สรุป
การทำอิ๊กซี่ ICSI เป็นวิธีการแก้ปัญหามีบุตรยากที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในปัจจุบัน และมีข้อจำกัดการทำที่น้อยกว่าการผสมเทียม หรือทำเด็กหลอดแก้ววิธีอื่น ทั้งนี้ การทำ ICSI ก็มีข้อจำกัด และมีภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างกระบวนเช่นกัน ดังนั้นผู้ที่มีปัญหามีบุตรยาก สนใจทำ ICSI ควรเข้ามาปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางก่อน เพื่อให้แพทย์หาวิธีการรักษาที่เหมาะกับคู่สมรสทุกคู่ได้มากที่สุด
อยากทำอิ๊กซี่ ICSI หรือมีปัญหามีบุตรยาก สามารถเข้ามาเพื่อปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการมีบุตรยาก ได้ที่ Wellnesshealth Club
หรือสามารถทำแบบสอบถามประเมินสุขภาพสำหรับผู้มีบุตรยากได้ที่ : แบบสอบถามเพื่อช่วยวางแผนสำหรับการมีบุตรในอนาคตในรูปแบบเฉพาะบุคคล
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
FAQ: Intracytoplasmic Sperm Injection. UCSF Health. https://www.ucsfhealth.org/education/faq
-intracytoplasmic-sperm-injection
ICSI Explained: Success Rates, Risks and What to Expect. (2021, July 8). IVI. https://www.ivi.uk/
blog/icsi-ivf-success-rates-risks/#:~:text=While%20many%20may%20think%20that,80
%20per%20cent%20of%20cases%20.
Advantage and Disadvantage of ICSI. (2020, April). Indira IVF. https://www.indiraivf.com/blog/
advantage-and-disadvantage-of-icsi#:~:text=The%20risk%20of%20birth%20defects,
having%20fertility%20issues%20increase%20slightly.