หลายคู่ประสบปัญหามีลูกยาก พยายามเท่าไหร่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเสียที จึงหันมาพึ่งวิธีทางการแพทย์ การผสมเทียม IUI เป็นวิธีแรกๆ ที่แพทย์แนะนำ และเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเนื่องจากมีขั้นตอนที่ง่ายและซับซ้อนน้อยกว่าการทำเด็กหลอดแก้วอย่าง ICSI หรือ IVF
สำหรับใครที่สนใจแต่ยังมีข้อสงสัยว่า การทำ IUI คืออะไร? เหมาะสำหรับใคร? มีขั้นตอนการทำอย่างไร? รวมถึงมีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง?
IUI คืออะไร?
IUI หรือ Intra-Uterine Insemination คือการผสมเทียมผ่านการฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปยังโพรงมดลูกโดยตรง แพทย์จะเลือกใช้อสุจิที่แข็งแรงจำนวนมากฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกช่วงไข่ตก เพื่อให้อสุจิสามารถว่ายไปปฏิสนธิกับรังไข่ได้โดยตรง โดยจะคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงเพื่อลดอัตราการตายของอสุจิ ช่วยให้อสุจิผสมกับรังไข่ได้ง่ายขึ้น เพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ ใกล้เคียงวิธีทางธรรมชาติ
การผสมเทียมแบบ IUI เพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ได้ราว 10 – 15% เมื่อเทียบกับการทำเด็กหลอดแก้วแบบ IVF หรือ ICSI แล้ว แม้จะมีโอกาสในการตั้งครรภ์ที่น้อยกว่า แต่ IUI ก็เป็นวิธีการผสมเทียมที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ ทำให้เจ็บตัวน้อยกว่าวิธีดังที่กล่าวไปข้างต้น ซับซ้อนน้อยกว่ารวมถึงมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าด้วยเช่นกัน
ทำไมถึงต้องทำ IUI?
การทำ IUI สามารถแก้ปัญหามีลูกยากที่สาเหตุเกิดจากอสุจิไม่สามารถวิ่งไปถึงรังไข่ได้ ทำให้น้ำเชื้อว่ายไปถึงรังไข่ ร่วมกับการกำหนดวันฉีดน้ำเชื้อให้ตรงกับวันที่ไข่ตกอย่างแม่นยำ เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์มากกว่าวิธีทางธรรมชาติ
จากการที่ปากมดลูกแคบกว่าช่องคลอด ร่วมกับสภาวะเป็นกรดของช่องคลอด ทำให้ในการหลั่งน้ำเชื้อ 1 รอบของผู้ชาย จากที่ควรมีอสุจิอยู่ที่ราว 200 ล้านตัว เมื่อผ่านเข้าสู่ช่องคลอด เชื้ออสุจิช่วงใหญ่จะอ่อนแรง ตาย ไม่สามารถว่ายไปถึงรังไข่ที่อยู่สุดปลายท่อรังไข่ได้ เชื้ออสุจิจาก 200 ล้านตัวจึงเหลือที่ไปถึงไข่เพียง 200 – 500 ตัวเท่านั้น
และหากอสุจิของฝ่ายชายมีปัญหาด้านความแข็งแรง ปริมาณ ความเข้มข้น และการเคลื่อนที่ จำนวนอสุจิที่สามารถเข้าไปถึงไข่ได้จะยิ่งมีจำนวนลดลงกว่าเดิมมาก จนทำให้อสุจิไม่สามารถไปถึงรังไข่และฝ่ายหญิงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
การทำ IUI เป็นหนึ่งในหนทางแก้ไขปัญหาดังที่กล่าวไปข้างต้น เนื่องจากเป็นการทำให้น้ำเชื้อเข้มข้นขึ้น คัดเลือกเพียงน้ำอสุจิที่แข็งแรงและสมบูรณ์ และฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรง อสุจิที่แข็งแรงจะมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น ประกอบกับการฉีดเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรงช่วยร่นระยะทาง เพิ่มอัตราการปฏิสนธิที่รังไข่ได้มากขึ้น นอกจากการคัดเลือกอสุจิแล้ว แพทย์ยังกำหนดวันฉีดน้ำเชื้อให้ตรงกับวันที่ไข่ของฝ่ายหญิงจะตกอีกด้วย ทำให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ก่อนที่ไข่จะฝ่อไป
การทำ IUI เหมาะกับ
- ฝ่ายชายที่
- น้ำเชื้อของตนมีปัญหา เช่น มีความเข้มข้นน้อย มีปริมาณน้ำเชื้อน้อย อสุจิมีปัญหาเรื่องการเคลื่อนที่หรือแข็งแรงไม่พอ
- มีเชื้ออสุจิที่เคลื่อนที่ได้ดีมากกว่า 5 ล้านตัวขึ้นไป ถึงจะเพียงพอต่อการทำ IUI
- ฝ่ายหญิงที่
- ควรอายุน้อยกว่า 30 ปี เนื่องจากมีโอกาสน้อยที่จะเกิดภาวะมดลูกเสื่อม
- มีปัญหาเกี่ยวกับอุ้งเชิงกราน เช่น ปากมดลูกหรือคอมดลูกตีบ (Cervical stenosis) เป็นเหตุให้อสุจิเคลื่อนที่เข้าโพรงมดลูกลำบาก
- มีภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังจากความผิดปกติต่างๆ เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ Polycystic Ovary Syndrome (PCOS)
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ ไม่สม่ำเสมอ
- ต้องการตั้งครรภ์ด้วยน้ำเชื้อที่แช่แข็งไว้ (Frozen sperm)
- ต้องการตั้งครรภ์ แต่ไม่ประสงค์ที่จะมีเพศสัมพันธ์
- แพ้น้ำเชื้อ (Semen allergy) ช่องคลอดแดงหรือระคายเคืองเมื่อสัมผัสน้ำเชื้อ
- ท่อนำไข่ปกติทั้ง 2 ข้าง หรืออย่างน้อยต้องดีข้างใดข้างหนึ่ง
การทำ IUI ยังสามารถใช้ แก้ไขภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ (Unexplained infertility) ได้ ถือเป็นการแก้ไขปัญหาการมีบุตรยากเบื้องต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะทำ IUI ฉีดยากระตุ้นไข่ตก และฉีดน้ำเชื้อผสมเทียมในวันที่ไข่ตกพอดี
การทำ IUI ไม่เหมาะกับ
- ฝ่ายหญิงที่ท่อนำไข่ไม่ปกติ ปีกมดลูกอุดตันทั้ง 2 ข้าง ทำให้อสุจิไม่สามารถเข้าถึงไข่ได้
- ฝ่ายหญิงที่มีพังผืดในอุ้งเชิงกรานจากภาวะเยื่อมดลูกเจริญผิดที่ระดับรุนแรง
- ฝ่ายชายไม่สามารถหลั่งน้ำเชื้อได้
- ฝ่ายชายมีน้ำเชื้อน้อยกว่า 1 ล้านตัว
- ฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง หรือทั้งสองฝ่าย ผ่านการทำหมันมาแล้ว
- เคยฉีดน้ำเชื้อมาแล้วมากกว่า 3 – 6 รอบ แล้วยังไม่ประสบผลสำเร็จ
- มีแนวโน้มที่ตัวอ่อนจะเกิดโรคทางพันธุกรรม
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยากมีลูก แต่ไม่สามารถทำ IUI ได้ แพทย์จะพิจารณาการผสมเทียมรูปแบบอื่น เช่น แนะนำให้ทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธีการทำ ICSI หรือที่เรียกว่าอิ๊กซี่ และทำ IVF แทน การผสมเทียมแบบ ICSI และ IVF ไม่อาศัยท่อนำไข่ ท่อนำน้ำเชื้อ
วิธีที่ให้ผลการรักษาสูงที่สุด มีโอกาสตั้งครรภ์มากที่สุดคือ ICSI ผู้ที่สนใจควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเลือกวิธีแก้ปัญหาภาวะมีบุตรยากที่เหมาะสำหรับคู่ตัวเองที่สุด
โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จหลังทำ IUI มีมากน้อยเพียงใด?
โอกาสในการตั้งครรภ์สำเร็จหลังทำ IUI อยู่ที่ 10 – 15% เพิ่มจากวิธีปกติประมาณ 5-6 เท่า ทั้งนี้ โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จหลังทำ IUI ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องคุณภาพอสุจิของฝ่ายชายและความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกของฝ่ายหญิงในวันที่ฉีดน้ำเชื้อ และใช้เชื้ออสุจิปริมาณน้อย และสามารถตรวจโรคทางพันธุกรรมได้ก่อนการตั้งครรภ์ได้อีกด้วย
ข้อดีของการทำ IUI
- เป็นวิธีที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด
- ไม่เจ็บตัวเท่ากับการทำเด็กหลอดแก้ว
- ราคาไม่แพงเท่าการทำเด็กหลอดแก้วแบบ IVF หรือ ICSI
- สามารถเลือกระยะเวลาการตั้งครรภ์ได้ตามต้องการ จากการใช้น้ำเชื้อแช่แข็งที่ฝากไว้ เหมาะสำหรับครอบครัวที่ฝ่ายชายหญิงไม่ได้อยู่ด้วยกัน ให้สามารถวางแผนการมีบุตรของครอบครัวได้
- ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ยากระตุ้นในบางกรณี
ข้อจำกัดการทำ IUI
- อาจเกิดการติดเชื้อในขั้นตอนการทำ IUI อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อนี้พบได้น้อยมาก
- มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด ตั้งครรภ์ลูกแฝด เสี่ยงแท้ง จากการฉีดยากระตุ้นไข่ตกอาจทำให้ไข่ตกมากกว่า 1 ฟอง
- อาจเกิดการระคายเคือง ไม่สบายตัว หรือเลือดออกเล็กน้อย จากสายสวนขนาดเล็กที่สอดเข้าช่องคลอดในการฉีดน้ำอสุจิ แต่ไม่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์
การเตรียมตัวก่อนทำ IUI
ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ หรือการผสมเทียมแบบ IUI, IVF และ ICSI แพทย์จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับการใช้วิตามินบำรุง เพื่อให้ได้ไข่และน้ำเชื้อที่มีคุณภาพสูง และช่วยลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ลดโอกาสเกิดความผิดปกติต่างๆ ในทารกได้ด้วย การเตรียมตัวก่อนทำ IUI สามารถปฏิบัติได้ตามข้อแนะนำดังต่อไปนี้
1. ปรับเปลี่ยน Lifestyle
1.1 ทานอาหารที่มีโปรตีนสูง ทานผักผลไม้และอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน หลีกเลี่ยงจำพวกไขมัน แป้ง น้ำตาล และอาหารแปรรูป
1.2 ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องครั้งละ 30 – 45 นาที อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 – 4 ครั้ง โดยเน้นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ (Cardio Exercise) ที่ช่วยให้เลือดสูบฉีดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย รวมถึงรังไข่และลูกอัณฑะ
1.3 พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับวันละ 6 -7 ชั่วโมง และหากเป็นไปได้ควรนอนก่อน 5 ทุ่ม เพราะเวลาหลังจากนั้นจะเป็นช่วงที่ร่างกายหลั่งฮอร์โมนซ่อมแซมตัวเอง
1.4 หากิจกรรมคลายเครียด พยายามเครียดให้น้อยที่สุด เพราะความเครียดอาจทำให้ฮอร์โมนผิดปกติได้
2. ทานวิตามินหรืออาหารเสริมตามคำแนะนำของแพทย์
อาหารเสริมจะช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง และยังช่วยแก้ปัญหาสาเหตุการมีบุตรยากได้ตามกรณี โดยควรทานวิตามินและอาหารเสริมตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น อาหารเสริมที่แพทย์แนะนำ เช่น
- อาหารเสริมสำหรับฝ่ายหญิง
- กรดโฟลิค (Folic acid) – ช่วยลดความผิดปกติเกี่ยวกับหลอดเลือดสมองของทารก
- แอสตาแซนทีน (Astaxanthin), โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10), วิตามินซี (Vitamin C) และ วิตามินอี (Vitamin E) – ช่วยเพิ่มคุณภาพของไข่
- อาหารเสริมสำหรับฝ่ายชาย
- แอสตาแซนทีน (Astaxanthin), โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10), และสังกะสี (Zinc) – ช่วยเพิ่มคุณภาพและความเข้มข้นของน้ำเชื้อ จำเป็นอย่างมากต่อการผสมเทียบแบบ IUI
หลังจากเตรียมตัวเบื้องต้นด้วยตัวเองแล้ว การเตรียมตัวในลำดับถัดไปจะเป็นการเตรียมตัวทางการแพทย์ โดยการตรวจโรคต่างๆ ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ตรวจเลือด ตรวจคุณภาพน้ำเชื้อของฝ่ายชายว่ามีความเหมาะสมต่อการทำ IUI หรือไม่
การเตรียมตัวสำหรับฝ่ายหญิง
- ตรวจเลือดชุดฝากครรภ์และโรคติดเชื้อ (Routine Blood work for female) ประกอบไปด้วย
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count หรือ CBC)
- ตรวจหมู่เลือด (Blood group and Rh group)
- ตรวจเชื้อ HIV (Anti HIV)
- ตรวจเชื้อซิฟิลิส (Venereal Disease Research Laboratory test หรือ VDRL)
- ตรวจไวรัสตับอักเสบ (HBsAg และ Anti HCV)
- ตรวจโรคหัดเยอรมัน (Rubella IgG)
- ตรวจโรคธาลัสซีเมีย (Hemoglobin typing)
- ตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด (Transvaginal Ultrasound หรือ TVS)
- ตรวจระดับฮอร์โมนในเลือด (Hormone Blood Tests) โดยตรวจ
- Estradiol (E2)
- Follicle Stimulating Hormone (FSH)
- Prolactin
- Luteinizing Hormone (LH)
- Anti-Mullerian Hormone (AMH)
การเตรียมตัวสำหรับฝ่ายชาย
- ตรวจเลือดทั่วไป พร้อมโรคต่างๆ (Routine Blood work for male) ดังนี้
- ตรวจเชื้อ HIV (Anti HIV)
- ตรวจเชื้อซิฟิลิส (Venereal Disease Research Laboratory test หรือ VDRL)
- ตรวจไวรัสตับอักเสบ (HBsAg และ Anti HCV)
- ตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ (Sperm Count) ว่ามีความแข็งแรง มีปริมาณมากพอหรือไม่
- ข้อควรปฏิบัติก่อนการเก็บอสุจิ
- เว้นจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการหลั่งน้ำเชื้อเป็นเวลา 3 – 5 วัน ก่อนการเก็บน้ำเชื้อ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ไม่ทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์
- งดการดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
- ทำความสะอาดมือและอวัยวะเพศให้สะอาดก่อนการเก็บน้ำเชื้อ
ขั้นตอนการทำ IUI
1. แพทย์จะกระตุ้นไข่ฝ่ายหญิง เมื่อเริ่มมีประจำเดือนในวันที่ 2-3 ของรอบเดือน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือน โดยใช้
- ยาสำหรับกระตุ้นไข่ เพื่อขยายขนาดของไข่ ให้เหมาะสมกับการผสมเทียมแบบ IUI ยาสำหรับกระตุ้นไข่จะเป็นฮอร์โมน มีให้เลือกทั้งแบบเม็ดและแบบรับประทาน แพทย์จะเป็นคนกำหนดว่ากระตุ้นเพียงครั้งเดียว หรือมากกว่าหนึ่งครั้ง รวมถึงตัวยาที่เลือกใช้ เช่น Femara, Glucophage, และ Puregon เป็นต้น
- ยาสำหรับกระตุ้นให้ไข่ตก ฉีดเมื่อไข่มีขนาดที่เหมาะสม สังเกตผ่านอัลตราซาวน์ แพทย์จะเริ่มติดตามตั้งแต่วันที่ 12 หลังจากเริ่มมีประจำเดือน ตัวยากระตุ้นไข่ให้ตกจะเป็นฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin) ตัวอย่างยา เช่น HCG, Ovidrel, และ Diphereline เป็นต้น
เมื่อระบุวันที่ไข่จะตกได้แล้ว แพทย์จะนัดหมายวันฉีดเชื้อผสมเทียมในลำดับต่อไป
2. แพทย์จะนัดหมายให้ฝ่ายชายหญิงมาเพื่อเก็บน้ำเชื้อ และผสมเทียม หลังจากฉีดยาสำหรับกระตุ้นให้ไข่ตก 1 – 2 วัน ทั้งนี้ หากต้องการตั้งครรภ์โดยใช้เชื้ออสุจิแช่แข็ง ไม่จำเป็นที่ฝ่ายชายจะต้องมาพบแพทย์ในวันดังกล่าว
3. แพทย์จะให้ฝ่ายชายทำการหลั่งด้วยตัวเองสำหรับการเก็บน้ำเชื้อเพื่อผสมเทียม IUI น้ำเชื้อที่ได้รับจะผ่านกระบวนการทำความสะอาด และคัดเลือกเพียงอสุจิตัวที่แข็งแรงและสมบูรณ์เท่านั้น จนได้น้ำเชื้อที่มีความเข้มข้นมากขึ้น ขั้นตอนนี้ใช้เวลาราว 1 – 2 ชั่วโมง
4. หลังจากได้รับน้ำเชื้อ แพทย์จะฉีดน้ำเชื้อที่ผ่านการทำความสะอาดและคัดเลือกเข้าสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิงโดยตรง ระยะเวลาในการฉีดอยู่ที่ 20 – 30 นาที เนื่องจากไม่มีการใช้ยาสลบในขั้นตอนนี้ ฝ่ายหญิงจึงอาจรู้สึกเจ็บหรือระคายเคืองจากเครื่องมือฉีดได้ อย่างไรก็ตาม อาการจะดีขึ้นและหายไปเอง
ขั้นตอนการปฏิบัติตัวหลังทำ IUI
การปฏิบัติตัวเบื้องต้นหลังจากการฉีดผสมเทียม IUI ในช่วงแรก ฝ่ายหญิงควรนอนนิ่งๆ ขยับตัวให้น้อยที่สุด เพื่อให้น้ำเชื้อเคลื่อนไปยังท่อนำไข่ได้ดีกว่าเดิม ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์สูงขึ้น
สิ่งที่ห้ามทำหลังฉีดเชื้อ IUI คือ ห้ามมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันไม่ให้มดลูกถูกรบกวน และช่วยให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ดีขึ้น แต่หลังผ่านไป 2-3 วัน สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ยังช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้อีกด้วย
ในกรณีที่ฝ่ายหญิงรู้สึกเจ็บบริเวณช่องคลอดเป็นเวลานานหลังทำ IUI หรือพบอาการผิดปกติอื่นๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุอาการ เพื่อตรวจสอบภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
ควรลองตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเองหลังฉีดเชื้อไปแล้วประมาณ 2 อาทิตย์ เพราะเป็นช่วงที่เร็วที่สุดที่สามารถตรวจสอบการตั้งครรภ์ได้อย่างแม่นยำ ไม่ควรตรวจก่อนระยะนี้เพราะอาจได้ผลที่คลาดเคลื่อน
ทั้งนี้ แม้ตั้งครรภ์แล้วก็อาจตรวจไม่พบการตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนที่บ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ยังไม่เพิ่มระดับมากพอที่ที่ตรวจจะตรวจพบได้ ในทางกลับกัน อาจตรวจพบว่าตั้งครรภ์แม้ไม่ได้ตั้งครรภ์เช่นเดียวกัน เนื่องจากชุดตรวจครรภ์อาจแจ้งผลผิดพลาดได้จากระดับฮอร์โมน HCG ที่ฉีดเพื่อให้ไข่ตกยังไม่ลดลง
หลังจากตรวจการตั้งครรภ์แล้ว แพทย์จะนัดหมายให้มาตรวจเลือดที่โรงพยาบาลอีกรอบ เพื่อตรวจสอบการตั้งครรภ์ให้แม่นยำโดยการตรวจระดับฮอร์โมน ซึ่งมีความแม่นยำสูงกว่าการตรวจด้วยชุดตรวจทั่วไปที่ตรวจจากปัสสาวะ
ในกรณีที่ไม่เกิดการตั้งครรภ์ แพทย์จะแนะนำให้ทำ IUI ซ้ำอีกราว 3 – 6 รอบ หลังจากนั้นหากยังตั้งครรภ์ไม่สำเร็จอีก แพทย์จะพิจารณาการทำเด็กหลอดแก้ว IVF หรือ ICSI ในอันดับต่อไป
ค่าใช้จ่ายในการทำ IUI ราคาเท่าไหร่?
ค่าทำ IUI ราคารวมทั้งโปรแกรมจะอยู่ที่ประมาณ 22,644 – 33,817 บาท โดยค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับตัวยากระตุ้นไข่ที่ใช้ตามดุลพินิจของแพทย์ ตัวเลือกการแช่แข็งเชื้ออสุจิหากต้องการตั้งครรภ์โดยใช้น้ำเชื้อแช่แข็ง และจำนวนครั้งที่พบแพทย์
หากสนใจการทำ IUI สามารถเข้ามาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลบีเอ็นเอชเพื่อปรึกษา รวมถึงพิจารณาวิธีการแก้ไขภาวะมีบุตรยาก ที่เหมาะสมกับคู่สมรสแต่ละคู่ได้
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายการทำ IUI เพิ่มเติม : รายละเอียด Package การทำ IUI
คำถามเกี่ยวกับการทำ IUI ที่พบบ่อยจากคนไข้
1. IUI มีความเสี่ยงที่เด็กจะเป็นพิการหรือไม่
ตอบ: การทำ IUI เพิ่มโอกาสตั้งท้องไข่หลายใบได้ จากการขั้นตอนการฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตกได้มากกว่า 1 ฟอง มีโอกาสเกิดการปฏิสนธิกับไข่ทั้งสองใบหรือมากกว่านั้น จนเกิดครรภ์แฝด ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ท้องแฝดย่อมมีความเสี่ยงแท้ง คลอดก่อนกำหนด และทารกน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ซึ่งอันตรายกว่าครรภ์ปกติ ยิ่งท้องลูกแฝดเยอะ ความเสี่ยงก็จะยิ่งเยอะตาม
2. การทำ IUI สามารถมีลูกแฝดได้ไหม?
ตอบ: การทำ IUI มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ท้องแฝดได้ อย่างไรก็ตาม จะไม่สามารถควบคุมให้เกิดอย่างเฉพาะเจาะจงได้ กล่าวคือ ไม่สามารถทำ IUI เพื่อให้ได้ลูกแฝดได้ เพียงแต่มีโอกาสที่จะเกิดลูกแฝด โดยมีโอกาสเกิดได้ทั้งแฝดไข่คนละใบและแฝดไข่ใบเดียวกัน เพราะในการฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก มีโอกาสไข่ตกมากกว่า 1 ฟอง และเกิดการปฏิสนธิได้ สำหรับแฝดไข่ใบเดียวกัน มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ
3. การทำ IUI สามารถ สำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกได้เลยหรือไม่
ตอบ: การทำ IUI มีโอกาสที่จะสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำ เนื่องจากมีการทานยาและฉีดฮอร์โมนกระตุ้นร่วมด้วย ทำให้มีปริมาณฟองไข่เพิ่มมากขึ้น คุณภาพไข่ดียิ่งขึ้น ในการทำ IUI หนึ่งรอบจะเพิ่มฟองไข่จากธรรมชาติ 1 ฟองเป็น 2-3 ฟอง และมีอัตราการสำเร็จในการทำ IUI เพิ่มมากกว่าธรรมชาติถึง 5-6 เท่าตัว อย่างไรก็ตาม หากทำ IUI ไม่สำเร็จในครั้งแรก สามารถฉีดเชื้อ IUI ซ้ำประมาณ 3 – 6 ครั้ง แต่หากยังไม่สำเร็จ ควรพิจารณาทำ IVF หรือ ICSI
4. ผู้ชายที่ทำหมัน แล้วสามารถทำ IUI ได้หรือไม่
ตอบ: ผู้ชายที่ทำหมันแล้ว ไม่สามารถทำ IUI ได้ เพราะการทำหมันในเพศชายจะทำให้ท่อนำน้ำอสุจิอุดตัน ฝ่ายหญิงที่ทำหมันแล้วก็ไม่สามารถทำ IUI ได้เช่นกัน เพราะท่อนำไข่จะอุดตันเช่นเดียวกัน จนไม่มีโอกาสที่อสุจิกับไข่จะเข้าไปผสมกันแบบ IUI สำหรับผู้ที่ทำหมันแล้ว ไม่ว่าจะฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง แต่อยากมีลูก แพทย์จะแนะนำให้ทำเด็กหลอดแก้วแบบ ICSI และ IVF เท่านั้น
สรุป
การทำ IUI หรือ Intra-Uterine Insemination คือหนึ่งในทางเลือกผสมเทียมสำหรับผู้ที่ประสบปัญหามีบุตรยาก IUI ทำได้โดยการฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง โดยจะฉีดในวันที่รังไข่ของฝ่ายหญิงตกพอดี เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ แม้ IUI จะเป็นวิธีผสมเทียมที่ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด แต่ก็มีข้อจำกัดในผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากบางกรณี ที่ไม่สามารถทำ IUI ได้ และแพทย์แนะนำให้เปลี่ยนไปทำเด็กหลอดแก้วแบบ IVF และ ICSI แทน
สำหรับผู้ที่สงสัยว่าตนเองและคู่มีภาวะการมีบุตรยาก เคยทำ IUI มาแล้วหลายรอบแล้วแต่ก็ยังไม่ตั้งครรภ์ ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและตรวจสอบหาสาเหตุในการมีบุตรยากอย่างละเอียด โดยการตรวจอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เพื่อให้สามารถระบุสาเหตุของการตั้งครรภ์ไม่สำเร็จได้อย่างชัดเจน และเลือกวิธีการผสมเทียมที่เหมาะสมกับคู่ของตนที่สุดได้
สนใจทำ IUI ต้องการวางแผนการมีบุตร รักษาภาวะมีบุตรยาก สามารถติดต่อศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก BDMS Wellness Clinic เพื่อพูดคุยและแก้ไขปัญหาร่วมกันกับแพทย์เฉพาะทางด้านการมีบุตรยาก
หรือสามารถทำแบบสอบถามประเมินสุขภาพสำหรับผู้มีบุตรยากได้ที่ : แบบสอบถามเพื่อช่วยวางแผนสำหรับการมีบุตรในอนาคตในรูปแบบเฉพาะบุคคล