เด็กหลอดแก้ว IVF ทางออกของผู้มีลูกยาก

การทำเด็กหลอดแก้ว IVF

การทำเด็กหลอดแก้ว IVF เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาผู้ มีลูกยาก ที่มีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากการทำ IVF มีอัตราการตั้งครรภ์สูง เหมาะสำหรับคู่สมรสที่เริ่มมีอายุมากขึ้นและ อยากมีลูก หรือมีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการส่งต่อโรคทางพันธุกรรม การทำ IVF จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่หลายๆ คนในปัจจุบันให้ความสนใจ

ในบทความเด็กหลอดแก้ว IVF นี้ BDMS Wellness Clinic จะพามาทำความรู้จักกับการทำเด็กหลอดแก้ว IVF คืออะไร? การทำ IVF ต่างจากการทำ ICSI อย่างไร การทำ IVF มีขั้นตอนการทำอย่างไร ข้อดีและข้อจำกัดในการทำ IVF มีอะไรบ้าง? รวมถึงตอบทุกคำถามเกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้ว IVF

เด็กหลอดแก้ว IVF คืออะไร?

การทำ IVF (In-Vitro Fertilization) คือการทำเด็กหลอดแก้วประเภทหนึ่ง โดยใช้วิธีการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย การทำเด็กหลอดแก้ว IVF จะคัดไข่ที่สมบูรณ์จากฝ่ายหญิงและคัดเชื้ออสุจิที่แข็งแรงจากฝ่ายชายมาผสมกันให้เกิดการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการ หลังจากนั้นจะเลี้ยงตัวอ่อนจนถึงระยะที่ 5 (Blastocyst) แล้วค่อยย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์แบบปกติต่อไป

การทำ IVF เหมาะกับใคร?

การทำ IVF เหมาะสำหรับคู่สมรสที่พยายามมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติมานานแต่ยังไม่สำเร็จ หรือคู่สมรสที่ใช้วิธีการผสมเทียมด้วยการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง หรือ การทำ IUI แต่ก็ยังไม่ตั้งครรภ์ รวมไปถึงคู่สมรสที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการมีบุตรยาก

นอกเหนือจากนี้การทำเด็กหลอดแก้ว IVF ยังเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพ เสี่ยงต่อการส่งต่อโรคทางพันธุกรรม เพราะการทำ IVF จะมีการตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมได้บางส่วน ดังนี้

ฝ่ายชาย

  • มีปัญหาในด้านคุณภาพเกี่ยวกับน้ำเชื้อ เช่น อสุจิมีจำนวนน้อย น้ำเชื้อมีปริมาณไม่มาก รูปร่างผิดปกติ ตัวอสุจิเคลื่อนที่ไม่ดี อาจส่งผลให้การเคลื่อนที่ของตัวอสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ของฝ่ายหญิงได้ยากขึ้น

ฝ่ายหญิง

  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือการที่เยื่อบุโพรงมดลูกไปเติบโตอยู่นอกโพรงมดลูกปกติ หรือแทรกในกล้ามเนื้อมดลูก รวมถึงอาจไปเติบโตตามอวัยวะต่างๆ เช่น อุ้งเชิงกราน รังไข่ เป็นต้น ส่งผลให้มีอาการปวดท้องประจำเดือนรุนแรง ประจำเดือนมามากกว่าปกติ 
  • ท่อนำไข่อุดตัน หรือถูกทำลาย คือการที่ท่อนำไข่เกิดการอุดตันทำให้อสุจิไม่สามารถเคลื่อนตัวไปพบกับไข่ได้ ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ หรือถ้าหากอสุจิเล็ดลอดเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ ก็จะไม่สามารถเคลื่อนที่มาฝังตัวที่มดลูกได้ และเกิดการฝังตัวที่ท่อนำไข่ ซึ่งจะทำให้เกิดการท้องนอกมดลูกและเป็นอันตรายต่อชีวิต
  • ปัญหาภาวะตกไข่ช้า หรือภาวะไข่ไม่ตก (Anovulation) เป็นสาเหตุมีบุตรยากที่พบได้บ่อย เนื่องจากมีความผิดปกติของการพัฒนาของไข่และการตกไข่ ส่งผลต่อประจำเดือนมาไม่ปกติ ภาวะไม่ตกไข่ยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ และมะเร็งโพรงมดลูกอีกด้วย
  • มีพังผืดในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Adhesion) เป็นภาวะพังผืดที่มักเกิดขึ้นบริเวณท่อนำไข่ ปีกมดลูก เป็นต้น การมีพังผืดในอุ้งเชิงกรานจะส่งผลให้มีบุตรยาก
  • มีภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย คือภาวะที่รังไข่ของผู้หญิงอายุยังไม่ถึง 40 ปี ไม่สามารถทำหน้าที่ให้เพียงพอต่อการตกไข่ตามปกติได้ โดยมีอาการที่เห็นชัดคือ ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มาเลย 

ทำไมถึงต้องทำ IVF 

การทำเด็กหลอดแก้ว IVF เป็นการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากจากฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ตามธรรมชาติแล้วเมื่อผู้หญิงมีอายุ 35 ปี ขึ้นไป โอกาสความสำเร็จในการตั้งครรภ์จะน้อยลง เนื่องจากคุณภาพ และจำนวนของไข่จะค่อยๆ เสื่อมสภาพและลดจำนวนลง รวมไปถึงปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น ปัญหามดลูกไม่แข็งแรง มดลูกทำงานผิดปกติ ท่อนำไข่อุดตัน หรือปัญหาจากฝ่ายชาย เช่น ปัญหาน้ำเชื้ออสุจิไม่แข็งแรง เป็นต้น การทำเด็กหลอดแก้ว IVF จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้มีภาวะมีบุตรยาก

นอกจากนี้การทำ IVF ยังช่วยลดความเสี่ยงของลูกที่อาจเกิดมามีความผิดปกติของโครโมโซม ด้วยการตรวจ NGS หรือการวิเคราะห์หาความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อน ก่อนจะนำตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก

สำหรับผู้ที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยากและอยากมีลูก ควรเข้ารับการทำ IVF ให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งเร็วเท่าไร คุณภาพของไข่ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากว่าคู่สมรสหรือผู้หญิงยังไม่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ สามารถฝากไข่ เก็บไว้ก่อนได้ เพื่อรักษาคุณภาพของเซลล์ไข่ไว้ในช่วงอายุยังน้อย

IVF ต่างจาก ICSI อย่างไร

IVF ต่างจาก ICSI อย่างไร

IVF กับ ICSI ต่างกันอย่างไร? ความแตกต่างระหว่างการทำ IVF และ ICSI นั้นอยู่ที่ขั้นตอนการปฏิสนธิ โดยการทำ IVF ไข่และอสุจิหลายตัวจะถูกนำไปผสมกันในจานเพาะเลี้ยง อสุจิจะว่ายมาปฏิสนธิกับเซลล์ไข่เองตามธรรมชาติ และเกิดการปฏิสนธิกันขึ้น ในขณะที่การทำ ICSI จะคัดไข่ที่สมบูรณ์ที่สุดเพียง 1 ใบและเชื้ออสุจิที่ดีที่สุด 1 ตัว และใช้เข็มฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง ทำให้เกิดการปฏิสนธิสูง

โอกาสสำเร็จมากแค่ไหนสำหรับ IVF

การทำเด็กหลอดแก้ว IVF นั้นมีข้อแตกต่างจากการทำ ICSI คือขั้นตอนการปฏิสนธิ ซึ่งความแตกต่างในขั้นตอนการปฏิสนธินี้เองจะเป็นตัวบ่งบอกโอกาสความสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้ว

ขั้นตอนการปฏิสนธิแบบ IVF นั้นตัวอสุจิจะว่ายเข้ามาผสมกับเซลล์ไข่ตามธรรมชาติ หากตัวอสุจิของฝ่ายชายไม่แข็งแรง หรือมีความผิดปกติ เมื่อเกิดการปฏิสนธิกันแล้วอาจพบว่าได้ตัวอ่อนเพียง 1 หรือ 2 ตัว หรือไม่ได้ตัวอ่อนเลย

แล้วมีโอกาสสำเร็จมากแค่ไหน หากทำ IVF กับ BDMS Wellness Clinic

จากการรวบรวมข้อมูลทางสถิติพบว่า BDMS Wellness Clinic มีโอกาสความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้วสูงถึง 70% โดยคิดจากจำนวนคนไข้ที่ได้รับการรักษาภาวะมีบุตรยากและได้รับการใส่ตัวอ่อน จนกระทั่งตั้งครรภ์สำเร็จ

การเตรียมตัวสำหรับการทำ IVF

การเตรียมตัวสำหรับการทำ IVF ของฝ่ายหญิงและฝ่ายชายเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง หากมีการเตรียมตัวในด้านสุขภาพดีก็จะยิ่งมีโอกาสได้ไข่ อสุจิ และตัวอ่อนที่มีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ 

  • ดูแลสุขภาพโดยรวมให้ดี รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นทานอาหารที่มีโปรตีนเพียงพอ รับประทานผักและผลไม้ให้เยอะขึ้น ลดอาหารที่มีไขมัน แป้ง และน้ำตาล รวมไปถึงอาหารแปรรูป
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-7 ชั่วโมง และควรนอนหลับผักพ่อนก่อน 5 ทุ่ม เพราะร่างกายจะทำการหลั่งฮอร์โมนที่สำคัญและจำเป็นออกมา
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 30-45 นาที อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3-4 ครั้ง ควรเน้นการออกกำลังกายจำพวกคาร์ดิโอ (Cardio Exercise) เช่น วิ่ง เดินเร็ว ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก เป็นต้น เพราะจะทำให้เลือดสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงรังไข่และลูกอัณฑะ แต่ไม่ควรหักโหมจนเกินไป

ในช่วงวันที่ 2 ของการมีประจำเดือน ควรเข้ามาปรึกษาแพทย์ก่อนเบื้องต้น เพื่อทำการประเมินสภาพของร่างกาย และการทำงานของรังไข่ รวมถึงรับยาเสริมสำหรับการกระตุ้นไข่ในฝ่ายหญิงและเพิ่มคุณภาพของน้ำเชื้อในฝ่ายชาย กลับไปรับประทานก่อนการเข้ารับกระบวนการทำ IVF 

อาหารเสริมควรทานล่วงหน้า 1-2 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ไข่ในจำนวนที่เหมาะสม มีคุณภาพดี และน้ำเชื้อที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตามหากแพทย์ประเมินแล้วสามารถกระตุ้นไข่ได้เลย ก็สามารถกระตุ้นได้ในเดือนนั้น

อาหารเสริมสำหรับฝ่ายหญิง 

อาหารเสริมสำหรับฝ่ายหญิงจะช่วยเพิ่มคุณภาพไข่ของให้โต และมีจำนวนไข่เพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยลดโอกาสเด็กในครรภ์พิการ ทั้งนี้ตัวอาหารเสริมจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

  • แอสต้าแซนธิน (Astaxanthin) 
  • กรดโฟลิค (Folic acid) 
  • วิตามินดี 3 (Vitamin D3) วิตามิน ซี (Vitamin C) วิตามินบี 12 (Vitamin B12) 
  • Coenzyme Q10  

อาหารเสริมสำหรับฝ่ายชาย 

อาหารเสริมสำหรับฝ่ายชายจะช่วยเพิ่มคุณภาพน้ำเชื้อ และเพิ่มปริมาณเล็กน้อย รวมถึงสามารถเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้หากภาวะมีบุตรยากมาจากฝ่ายชาย

  • แอสต้าแซนธิน (Astaxanthin)
  • กรดโฟลิก (Folic Acid) 
  • ซิงค์ อะมิโน แอซิด คีเลต 20% (Zinc Amino Acid Chelate 20%) 
  • แอล-คาร์นิทีน ฟูมาเรท (L-Carnitine Fumarate) 
  • วิตามิน บี (Vitamin B) 
  • Coenzyme Q10

ขั้นตอนการทำ IVF อย่างละเอียด

ขั้นตอนการทำ IVF มี 5 ขั้นตอนหลัก ดังนี้ 

1. ตรวจเลือดและฮอร์โมนต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อม (Preparation Part)

การเตรียมความพร้อมในฝ่ายหญิง

1.1 เจาะเลือดเพื่อดูโรคติดเชื้อ ดังนี้

1.1.1 ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count: CBC)

1.1.2 ตรวจกรุ๊ปเลือด (Blood Group)

1.1.3 ตรวจหมู่เลือดอาร์เอช (Rh Group )

1.1.4 ตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวี (Anti-HIV)

1.1.5 ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส ด้วยวิธี VDRL

1.1.6 ตรวจหาโรคไวรัสตับอักเสบ (HBsAg)

1.1.7 ตรวจหาไวรัสตับอักเสบซี (Anti HCV)

1.1.8 ตรวจหาโรคหัดเยอรมัน (Rubella IgG)

1.1.9 ตรวจหาโรคธาลัสซีเมีย (Hemoglobin typing)

1.2 ตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนของรังไข่ ซึ่งจะตรวจทั้งฮอร์โมน E2 (Estradiol), ฮอร์โมน LH (Luteinizing Hormone), ฮอร์โมน FSH (Follicle Stimulating Hormone), PRL (Prolactin)

1.3 ตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด (Transvaginal Ultrasound: TVS)

1.4 วัดระดับฮอร์โมนที่บ่งบอกปริมาณสำรองของไข่ที่เหลืออยู่ในรังไข่ (Anti Mullerian 

Hormones: AMH)

การเตรียมความพร้อมในฝ่ายชาย

2.1 ตรวจเลือด พร้อมโรคต่างๆ เช่นเดียวกับฝ่ายหญิง 

2.2 ตรวจคุณภาพน้ำเชื้ออสุจิ และตรวจ Sperm DNA Fragmentation (ตรวจการแตกหักของ DNA ในอสุจิ) ก่อนการเก็บน้ำเชื้ออสุจิ ควรงดการหลั่งประมาณ 3-7 วัน เพื่อให้น้ำเชื้อมีปริมาณเพียงพอ และไม่เก่าจนเกินไป

2. การกระตุ้นรังไข่ (Ovarian Stimulation Part)

ขั้นตอนการกระตุ้นรังไข่ (Ovarian Stimulation) จะเริ่มขึ้นเมื่อมีประจำเดือนวันที่ 3 แพทย์จะเริ่มฉีดยากระตุ้นไข่ เช่น Gonal F, Puregon, Pergoveris หรือ Follitrope เพื่อให้ไข่มีความสมบูรณ์ ได้ขนาดตามที่แพทย์ต้องการ โดยปริมาณยาและตัวยาที่แพทย์จะจ่ายให้คนไข้นั้น จะพิจารณาจากอายุและฮอร์โมนของฝ่ายหญิงเป็นรายบุคคล

ในขณะเดียวกันแพทย์จะฉีดยา Orgalutran เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดไข่ตกก่อนเวลาร่วมด้วย กระบวนการกระตุ้นรังไข่นี้ ปกติจะใช้เวลาการฉีดกระตุ้นไข่ประมาณ 8-9 วัน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของคนไข้แต่ละคน

3. ติดตามขนาดไข่

หลังจากกระตุ้นรังไข่ได้ประมาณ 3-5 วัน แพทย์จะทำการนัดเพื่อตรวจติดตามอาการ ด้วยการเจาะเลือดเพื่อดูฮอร์โมน FSH, E2, LH อีกครั้ง และตรวจอัลตราซาวด์ดูการเจริญเติบโตของไข่ (Transvaginal Ultrasound) ต่อยากระตุ้นไข่ หากไข่มีขนาดใหญ่ ประมาณ 18-20 มิลลิเมตร และมีจำนวนที่เหมาะสมตามที่แพทย์ต้องการแล้ว แพทย์จะทำการฉีดยาเพื่อทำให้ไข่ตก

4. การฉีดยากระตุ้นไข่ให้ตก (Ovulation Induction : OI)

เมื่อแพทย์ได้ไข่ที่มีขนาดใหญ่ และมีจำนวนเหมาะสมตามที่ต้องการแล้ว จึงจะทำการฉีดยากระตุ้นไข่ให้ตก (Ovulation Induction : OI) เพื่อให้ไข่พร้อมสำหรับขั้นตอนการเก็บไข่ โดยมีตัวยาที่ใช้ในการฉีดคือ hcG (Human Chorionic Gonadotropin), Ovidrel, Diphereline, หรือ Cetrotide ซึ่งตัวยาและปริมาณนั้นแพทย์จะพิจารณาจากอายุและฮอร์โมนเป็นรายบุคคล

5. ขั้นตอนการเก็บไข่ (Egg Retrieval)

เด็กหลอดแก้ว

ขั้นตอนการเก็บไข่ (Oocyte retrieval) จะเกิดขึ้นหลังจากฉีดยาให้ไข่ตกแล้ว ประมาณ 34-36 ชั่วโมง แพทย์จะทำการเก็บไข่ผ่านทางช่องคลอด โดยใช้วิธีอัลตราซาวด์เพื่อดูตำแหน่งไข่ได้อย่างชัดเจน จากนั้นจึงค่อยๆ นำเข็มที่ใช้ในการเก็บไข่ สอดเข้าไปที่รังไข่แล้วดูดเอาเซลล์ไข่ออกมาให้ครบทุกใบ

กระบวนการเก็บไข่จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที เพราะเป็นการทำหัตถการขนาดเล็กจึงมีการใช้ยาสลบ หลังจากเก็บไข่ควรพักฟื้นอยู่ในห้องพักฟื้น 1-2 ชั่วโมง 

การเตรียมตัวก่อนการเริ่มเก็บไข่

  1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย และสดชื่น
  2. งดแต่งหน้า งดทาสีเล็บ ห้ามใส่เครื่องประดับและคอนแทคเลนส์ เนื่องจากแพทย์ต้องทำการประเมินสภาวะการได้รับออกซิเจนทางปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า และใบหน้า
  3. ก่อนถึงวันเก็บไข่ ควรงดน้ำ งดอาหารทุกชนิด อย่างน้อย 8 ชั่วโมง
  4. สำหรับคนไข้ที่มีจำนวนไข่มาก แนะนำให้ดื่มน้ำไม่เกินวันละ 1 ลิตร และรับประทานโปรตีนเพื่อป้องกันภาวะที่ร่างกายบวมน้ำอันเป็นผลจากการที่รังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป

6. การเก็บน้ำเชื้ออสุจิของฝ่ายชาย (Sperm)

ขั้นตอนการเก็บน้ำเชื้ออสุจิของฝ่ายชาย (Sperm) จะเริ่มเก็บในวันเดียวกับการเก็บไข่ของฝ่ายหญิง เพื่อนำมาคัดแยกเฉพาะอสุจิที่สมบูรณ์ โดยมีวิธีการเก็บน้ำเชื้ออสุจิ ดังนี้

  1. ก่อนวันตรวจอสุจิควรงดการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงงดหลั่งอสุจิประมาณ 3-7 วัน
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ
  3. เมื่อเข้าสู่กระบวนการเก็บน้ำเชื้ออสุจิ จะเก็บน้ำเชื้อจากการช่วยตัวเอง (Masturbation) ในห้องพิเศษที่จัดเตรียมไว้
  4. ล้างมือและอวัยวะเพศให้สะอาด พร้อมเช็ดให้แห้งก่อนการเก็บน้ำอสุจิ 
  5. ทางคลินิกหรือศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก จะให้ภาชนะที่สะอาด ปราศจากเชื้อโรคไว้สำหรับเก็บน้ำอสุจิโดยเฉพาะ
  6. เมื่อเก็บเชื้ออสุจิได้แล้ว ปิดภาชนะให้สนิท ห้ามแช่น้ำแข็ง หรือใส่ตู้เย็น
  7. นำส่งห้องปฏิบัติการทันที เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์คุณภาพอสุจิ

ในขั้นตอนการตรวจอสุจินี้ นักวิทยาศาสตร์จะทำการวิเคราะห์คุณภาพเชื้ออสุจิ ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่แพทย์จะช่วยตัดสินใจว่าควรทำ IVF หรือ ICSI หากคุณภาพน้ำเชื้ออสุจิไม่แข็งแรง แพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธี ICSI แทน เนื่องจากวิธีการทำ ICSI จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ไข่และอสุจิมีการปฏิสนธิกันมากขึ้น เพราะเป็นการนำเชื้ออสุจิฉีดเข้าเซลล์ไข่โดยตรง จึงมีโอกาสตั้งครรภ์สูง

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจอสุจิ : ตรวจอสุจิคืออะไร? น้ำอสุจิที่ดีควรเป็นอย่างไร? อสุจิไม่แข็งแรงสาเหตุหนึ่งของการมีลูกยาก

ในกรณีที่ฝ่ายชายไม่สามารถเก็บอสุจิในวันดังกล่าวได้ ก็สามารถเก็บอสุจิมาจากบ้านได้ โดยวิธีการช่วยตัวเองเช่นกัน การเก็บน้ำเชื้ออสุจิไม่ควรเก็บโดยการหลั่งนอก เพราะน้ำเชื้ออาจมีการปะปนกับน้ำหล่อลื่นจากช่องคลอดฝ่ายหญิงได้ และไม่ควรเก็บน้ำอสุจิโดยใช้ถุงยาง เนื่องจากสารในถุงยางอาจทำให้อสุจิตายได้ หลังจากเก็บน้ำอสุจิได้แล้วควรรีบนำส่งห้องปฏิบัติการทันทีภายใน 1 ชั่วโมง และห้ามนำใส่ตู้เย็น

7. การปฏิสนธิ (Fertilization)

หลังจากการเก็บไข่ของฝ่ายหญิงและเก็บน้ำเชื้อของฝ่ายชาย นักวิทยาศาสตร์จะทำการปฏิสนธิตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการควบคุมพิเศษ หลังจากนั้นจะทำการตรวจด้วยเทคโนโลยี NGS (Next Generation Sequencing) เพื่อคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อน โดยจะรู้ผลการปฏิสนธิภายใน 1-2 วัน

โดยการปฏิสนธิด้วยวิธี IVF มีขั้นตอน ดังนี้

  1. เซลล์ไข่และอสุจิหลายตัวจะถูกนำไปผสมในจานเพาะเลี้ยง
  2. ตัวอสุจิจะว่ายเข้ามาผสมกับเซลล์ไข่เองตามธรรมชาติ
  3. หลังจากนั้นจะเข้าสู่การปฏิสนธิจนได้ตัวอ่อน โดยนักวิทยาศาสตร์จะทำการคัดเลือกตัวอ่อนที่ดีและแข็งแรงที่สุดเพื่อเพาะเลี้ยง หากในขั้นตอนนี้ไม่ได้ตัวอ่อน นักวิทยาศาสตร์จะทำการแก้ไขโดยการปฏิสนธิด้วยวิธี ICSI เพื่อให้ได้ตัวอ่อน

8. การย้ายตัวอ่อน (Embryo Transfer)

ก่อนจะเริ่มขั้นตอนการย้ายตัวอ่อน (Embryo transfer) แพทย์จะทำการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อดูความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกของฝ่ายหญิงก่อน ถ้ามีความหนาพอตามที่แพทย์ต้องการแล้ว แพทย์ถึงจะกำหนดวันย้ายตัวอ่อน ปกติแล้วการย้ายตัวอ่อนจะย้าย 5 วัน หลังจากการตรวจอัลตราซาวด์ 

เมื่อได้ตัวอ่อนแล้ว นักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อน (Embryologist) จะทำการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน (Embryo Culture) ในน้ำยาเลี้ยงตัวอ่อน หลังจากนั้นจะปล่อยให้ตัวอ่อนพัฒนา เจริญเติบโต และแบ่งเซลล์จนถึงวันที่ 5 ระยะ Blastocyst จึงจะย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก

การย้ายตัวอ่อนมี 2 แบบ โดยมีข้อแตกต่างกันที่วิธีการเตรียมโพรงมดลูกก่อนการย้าย ซึ่งแพทย์จะแนะนำตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ดังนี้

แบบที่ 1 การย้ายตัวอ่อนในรอบสด (Fresh ET)

การย้ายตัวอ่อนในรอบสดเป็นการย้ายตัวอ่อนหลังจากการเก็บไข่ ซึ่งจะย้ายในวันที่ 5 ระยะ Blastocyst ถ้าตัวอ่อนมีการเติบโตดี มีพัฒนาการแข็งแรง แพทย์จะนัดมาย้ายตัวอ่อนที่คัดเลือกเข้าสู่โพรงมดลูก

แบบที่ 2 การย้ายตัวอ่อนในรอบแช่แข็ง (Frozen-thawed ET)

การย้ายตัวอ่อนในรอบแช่แข็งคือการแช่แข็งตัวอ่อนเก็บไว้ก่อน แล้วค่อยย้ายตัวอ่อนในภายหลัง โดยในขั้นตอนนี้มีกระบวนการเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูก และการใส่ตัวอ่อนกลับอยู่ 2 ขั้นตอนหลัก ดังนี้

  1. การย้ายรอบธรรมชาติ (Natural Frozen-thawed Embryo Transfer) ต้องมีการตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมน และอัลตราซาวด์เพื่อคาดวันไข่ตก เนื่องจากการเตรียมมดลูกจะมีการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) จากรังไข่ ไม่มีการใช้ยาฮอร์โมนจากภายนอก หลังจากนั้นแพทย์จะนัดย้ายตัวอ่อนหลังจากที่มีการตกไข่ไปแล้ว 5-6 วัน
  2. การเตรียมโพรงมดลูกด้วยยา (Artificial or Medicated Embryo Transfer) เป็นการใช้ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) จากภายนอก เช่น ยารับประทาน การแปะ ทา หรือ สอดทางช่องคลอดอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้ร่วมกัน เพื่อช่วยสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกให้หนาขึ้น บางรายที่เตรียมโพรงมดลูกยากอาจมีการฉีดยาเพื่อกดการทำงานของรังไข่ไว้ชั่วคราว ก่อนเริ่มยาฮอร์โมนเอสโตรเจน 

ขั้นตอนการย้ายตัวอ่อน

  1. รับประทานยาฮอร์โมนเพื่อเป็นการควบคุมความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก
  2. ก่อนการใส่ตัวอ่อน 1 วัน แพทย์จะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับการทำงานของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
  3. แพทย์จะอัลตราซาวด์บริเวณหน้าท้องเพื่อค้นหาตำแหน่งที่เหมาะสมในการฝังตัวอ่อน
  4. หลังจากใส่ตัวอ่อนไปแล้ว 11 วัน แพทย์จะนัดตรวจเลือดสำหรับดูการตั้งครรภ์
  5. แพทย์จะให้รับประทานยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ประมาณ 8-10 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการฝังตัวอ่อนในโพรงมดลูก และป้องกันการแท้งลูก

การปฏิบัติตัวหลังจากย้ายตัวอ่อน

  1. ไม่ควรขับรถมาเอง ควรมีคนใกล้ชิดมาด้วย เพราะอาจเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดได้
  2. หลังจากย้ายตัวอ่อนควรพักผ่อนให้มากขึ้นและงดออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเปรี้ยวและเผ็ด ควรรับประทานอาหารที่มีเส้นใยเยอะๆ เพื่อป้องกันการท้องผูก หรือท้องเสีย
  3. ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ ประมาณ 14 วัน และไม่ควรสวนล้างช่องคลอด
  4. ไม่ควรรับประทานยาอื่นๆ นอกเหนือจากที่แพทย์กำหนด
  5. หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องน้อย มีเลือดออกทางช่องคลอด ให้รีบเข้ามาปรึกษาแพทย์ให้เร็วที่สุด

ข้อดีของการทำ IVF

IVF คือ

  • การทำ IVF สามารถ ตรวจโครโมโซมตัวอ่อน (NGS) เพื่อหาความผิดปกติ และยังช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ ได้ทารกที่สมบูรณ์ รวมถึงลดอัตราการแท้งบุตร
  • การทำ IVF สามารถตรวจหาความผิดในระดับโครโมโซมของตัวอ่อนได้ (PGT-A) และสามารถตรวจหาโรคผิดปกติในระดับยีน (PGT-M) แพทย์จะแนะนำให้เช็คในผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป เพราะมีโอกาสเกิดโครโมโซมผิดปกติสูง หรือผู้ที่เคยมีโรคทางพันธุกรรมในครอบครัว รวมไปถึงผู้ที่เคยแท้ง 2 ครั้งขึ้นไป
  • ช่วยให้ได้บุตรที่ปกติสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่มีโรคผิดปกติทางพันธุกรรม
  • การทำเด็กหลอดแก้ว IVF มีโอกาสตั้งครรภ์มากกว่าการฉีดเชื้อ IUI
  • สามารถกำหนดช่วงเวลาที่จะวางแผนตั้งครรภ์ได้
  • ผู้หญิงที่เคยทำหมันมาแล้วก็สามารถมีบุตรด้วยการทำ IVF ได้

ข้อจำกัดการทำ IVF

  • ในระหว่างกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว และการฝากถ่ายตัวอ่อน อาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น กระสับกระส่าย ร้อนวูบวาบ ปวดหัว เป็นต้น
  • การทำ IVF มีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับ IUI
  • มีโอกาสเกิดอาการรังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian Hyperstimulation Syndrome: OHSS) แต่ภาวะนี้ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบไม่บ่อย
  • มีโอกาสแท้งลูก โดยอัตราการแท้งลูกจะแปรผันตามอายุที่เพิ่มมากขึ้นของผู้ที่ตั้งครรภ์
  • มีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูก เนื่องจากไข่ที่ได้รับการผสมแล้วอาจไปฝังที่บริเวณท่อนำไข่ แทนที่จะฝังตัวภายในมดลูก
  • มีโอกาสตั้งครรภ์ลูกแฝด

ค่าใช้จ่าย 

การทำเด็กหลอดแก้ว IVF ราคาทั้งหมด 424,000-630,000 บาท โดยการทำ IVF ฝ่ายหญิงราคา 400,000-600,000 บาท การทำ IVF ฝ่ายชายราคา 24,000-30,0000 บาท

คำถามที่พบบ่อยจากคนไข้

การทำเด็กหลอดแก้ว IVF เหมือนการทำกิฟต์ไหม

ทํากิ๊ฟ

การทำเด็กหลอดแก้ว IVF ไม่เหมือนกับการ ทำกิฟต์ (GIFT) เนื่องจากการทำเด็กหลอดแก้ว IVF เป็นการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย โดยการนำเอาเชื้ออสุจิและเซลล์ไข่มาผสมกันในห้องทดลอง แล้วเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจนถึงระยะที่ 5 จากนั้นจึงค่อยนำกลับเข้าสู่โพรงมดลูก ในขณะที่การทำกิฟต์นั้นเป็นกระบวนการปฏิสนธิโดยนำเอาเชื้ออสุจิ และไข่ใส่เข้าไปในท่อนำไข่ของฝ่ายหญิง เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิกันภายในร่างกาย

การตั้งครรภ์ด้วยวิธี IVF มีการดูแลต่างจากการตั้งครรภ์แบบธรรมชาติไหม

การตั้งครรภ์ด้วยวิธี IVF อาจมีการใช้ยาหรือฮอร์โมนในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ประมาณ 4-6 สัปดาห์ และต้องเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจเลือด วัดระดับฮอร์โมน และอัลตราซาวด์บ่อยกว่าการตั้งครรภ์แบบธรรมชาติเล็กน้อย แต่เมื่อเลย 10 สัปดาห์ไปแล้ว สามารถดูแลการตั้งครรภ์ได้เหมือนการท้องตามธรรมชาติเลย

เด็กที่เกิดจากการทำ IVF จะมีความผิดปกติหรือแตกต่างจากเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติหรือไม่

จากการศึกษาพบว่าเด็กที่เกิดจากเด็กหลอดแก้ว IVF ไม่มีความแตกต่างกับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติทั้งเรื่องการเจริญเติบโต พัฒนาการ หรือความผิดปกติต่างๆ

จำกัดอายุสำหรับทำ IVF หรือไม่

ปัจจุบันกฎหมายในประเทศไทยมีการจำกัดอายุสำหรับการรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยจำกัดอายุไม่เกิน 55 ปี สำหรับกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว IVF แต่ในทางการแพทย์ไม่มีการกำหนดอายุสำหรับการทำ IVF หรือ ICSI เพราะปกติแล้วเมื่ออายุ 45-48 ปี ขึ้นไป รังไข่ของฝ่ายหญิงจะเริ่มเสื่อมสภาพ และไม่สามารถกระตุ้นไข่ได้

ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างก่อนการทำ IVF

เอกสารที่ต้องเตรียมก่อนการทำเด็กหลอดแก้ว IVF คือ ทะเบียนสมรส ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีการช่วยเจริญพันธุ์ปี พ.ศ.2558

ทำไมต้องเลี้ยงและย้ายตัวอ่อนในวันที่ 5

หากตัวอ่อนถูกเลี้ยงจนถึงวันที่ 5 ในระยะ Blastocyst แล้วรอดชีวิต แสดงว่าตัวอ่อนมีการเจริญเติบโตที่ปกติ แข็งแรง มีคุณภาพดี เมื่อย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกจะเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์มากขึ้น อีกทั้งระยะตัวอ่อนวันที่ 5 เป็นการเจริญเติบโตเลียนแบบธรรมชาติ เพราะตามปกติแล้วตัวอ่อนในระยะนี้จะย้ายเข้าไปฝังในโพรงมดลูก

สรุป

การทำเด็กหลอดแก้ว IVF เป็นหนึ่งในวิธีรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก รวมไปถึงคู่สมรสที่มีโรคประจำตัว เสี่ยงต่อการส่งต่อโรคทางพันธุกรรม ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้การทำ IVF เริ่มเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เนื่องจากการทำเด็กหลอดแก้ว IVF เป็นการเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้มากกว่าการตั้งครรภ์แบบธรรมชาติและการฉีดเชื้อ รวมถึงการทำ IVF ยังช่วยลดโอกาสเสี่ยงแท้ง และลดโอกาสที่เด็กจะเกิดมามีความผิดปกติของโครโมโซมอีกด้วย

ทั้งนี้ผู้ที่มีภาวะมีลูกยาก หรือผู้ที่อยากเข้ารับการทำเด็กหลอดแก้ว IVF ควรเข้าปรึกษากับแพทย์ก่อนที่คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก เพื่อที่แพทย์จะได้ประเมิน และตรวจร่างกายก่อนเบื้องต้น 

เพื่อการวางแผนมีบุตรอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถติดต่อเข้ารับบริการได้ที่ BDMS Wellness Clinic 

เรามุ่งมั่นที่จะดูแลสุขภาพของผู้เข้ารับบริการทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ โดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ รวมถึงเรายังส่งเสริมสุขภาพของผู้หญิงทุกวัยแบบองค์รวม เริ่มตั้งแต่สำรวจพฤติกรรมการใช้ชีวิต ตรวจเช็คสุขภาพ ช่วยวางแผนการมีบุตร รวมไปถึงภาวะวัยทอง 

หรือสามารถทำแบบสอบถามประเมินสุขภาพสำหรับผู้มีบุตรยากได้ที่ : แบบสอบถามเพื่อช่วยวางแผนสำหรับการมีบุตรในอนาคตในรูปแบบเฉพาะบุคคล

คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก และส่งเสริมสุขภาพสตรี

2/4 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

โทรศัพท์ 028269971

E-mail : info@bdmswellness.com

Line: @womenandfertility or https://lin.ee/kna2NJA

อ้างอิง 

In vitro fertilization (IVF). (2021, September 10). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/in-vitro-fertilization/about/pac-20384716

Ovarian Stimulation IVF Protocols Medications and Drugs for In Vitro Fertilization. (n.d.). Advanced Fertility Center of Chicago. https://advancedfertility.com/ivf-in-detail/ovarian-stimulation/