การนับวันไข่ตก หรือดูวันไข่ตก เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของทุกๆ คน การเรียนรู้วิธีนับวันไข่ตกสามารถช่วยคู่รักเพื่อวางแผนเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ และยังสามารถบ่งบอกปัญหาภายในร่างกายผู้หญิงได้อีกด้วย
ในบทความนี้ Wellness Health Center จะพามาทำความรู้จักกับวิธีนับวันไข่ตก นับอย่างไรให้เพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ วันไข่ตกคืออะไร ทำไมต้องนับวันไข่ตก ไข่ตกช่วงไหน มีอาการอย่างไร
ทำความเข้าใจกับรอบประจำเดือน
ตามธรรมชาติแล้วรอบประจำเดือนมีหลักการทำงานคือ ใน 1 รอบเดือน ประจำเดือนจะมาไม่เกิน 7 วัน โดยเฉลี่ยแล้วรอบเดือนที่ปกติจะห่างกันประมาณ 28 วัน หรือระหว่าง 21-35 วัน เพราะสามารถคลาดเคลื่อนได้หากมีการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ มีความเครียด หรือใช้ชีวิตอย่างไม่เป็นระบบ
ในแต่ละคนจะมีรอบเดือนแตกต่างกันไป โดยมีวิธีนับรอบเดือน หรือนับรอบประจำเดือน ดังนี้
ประจำเดือนมาวันแรก จะนับเป็นวันที่ 1 หลังจากนั้นให้นับไป 28 วัน ถึงจะเป็นวันที่มีประจำเดือนครั้งหน้า โดยการที่จะรู้ว่ารอบเดือนตนเองนั้นมากี่วัน ควรนับย้อนหลังประวัติการมีรอบเดือนของตนเองไปประมาณ 3 เดือน
ดังนั้นการมีรอบเดือนที่ปกติผู้หญิงควรมีรอบเดือนสม่ำเสมอในทุกๆ เดือน หากรอบเดือนห่างกันเกิน 35 วัน หรือน้อยกว่า 2 สัปดาห์ ประจำเดือนมามากผิดปกติ รวมถึงในแต่ละรอบนั้นมีประจำเดือนนานเกิน 7 วัน จะถือว่าเข้าข่ายภาวะรอบเดือนผิดปกติ ควรมาพบสูตินรีแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุ และประเมินความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หรือความผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูกและรังไข่
ทำไมถึงต้องนับรอบประจำเดือน?
- สามารถรู้ว่ารอบเดือนจะมาเมื่อไหร่ ช่วงไหน เพื่อให้สามารถเตรียมตัวได้ สะดวกต่อการวางแผนทำกิจกรรมต่างๆ
- ช่วยสังเกตปัญหาสุขภาพที่เกิดจากประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น อวัยวะสืบพันธุ์มีความผิดปกติ ภาวะพังผืดในโพรงมดลูก ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) รวมไปถึงรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
- ช่วยนับวันไข่ตก สำหรับผู้ที่ต้องการมีลูก โดยช่วงวันไข่ตกจะมีโอกาสเกิดการปฏิสนธิสูง
- ช่วยสร้างระยะปลอดภัยในการทำกิจกรรมทางเพศ หรือการที่หลายๆ คนรู้จักกันว่า หน้า 7 หลัง 7 แต่ในกรณีนี้ใช้ได้กับคนที่มีประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ และไม่แนะนำให้ใช้เป็นวิธีคุมกำเนิด เพราะอาจมีการผิดพลาดได้
การนับวันไข่ตกคืออะไร ทำไมถึงสำคัญ
การตกไข่คืออะไร? (Ovulation) การตกไข่ หรือไข่ตก คือกระบวนการที่ไข่ถูกปล่อยออกจากรังไข่ หลังจากที่ไข่ถูกปล่อยแล้วจะเคลื่อนที่มายังท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิ เป็นเวลา 12-24 ชั่วโมง หากไม่ได้รับการปฏิสนธิจากเชื้ออสุจิก็จะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน
ในแต่ละเดือนรังไข่ของผู้หญิงจะมีไข่หลายใบเจริญเติบโตในถุงน้ำฟอลลิเคิล (Follicles) และจะมีไข่เพียง 1 ใบเท่านั้นที่ตกลงมา ปกติกระบวนการตกไข่จะเกิดก่อนมีประจำเดือนประมาณ 2 สัปดาห์ โดยมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing Hormone : LH) และ ฮอร์โมน FSH (Follicle Stimulating Hormone) คอยควบคุมการผลิตและคัดเลือกไข่เพื่อให้ไข่ตกในแต่ละเดือน
ทำไมต้องนับวันตกไข่ สำคัญอย่างไร?
ตามธรรมชาติแล้วร่างกายของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์จะมีการตกไข่เดือนละ 1 ครั้ง และจะมีเซลล์ไข่ประมาณ 2-5 แสนฟอง แต่จะมีเพียง 400-500 ฟองเท่านั้นที่แข็งแรงทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ หลังจากวันที่ 5 ของรอบเดือน จะมีฟองไข่ที่เจริญเติบโตอยู่ประมาณ 15-20 ฟองเท่านั้น ก่อนจะถูกคัดเลือกให้เหลือเพียงแค่ 1 ใบ หากคู่รักที่ต้องการเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์พลาดไข่ใบนี้แล้ว ก็จะต้องรอถึงเดือนหน้า
ในช่วงไข่ตกนี้จะเป็นช่วงที่ไข่กำลังสุก หรือ Fertile Window โดยช่วงไข่สุกคือ ช่วงเวลาก่อนไข่ตก 5 วัน รวมกับวันไข่ตก ซึ่งจะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มระดับขึ้นทำให้ไข่สุก และตกลงมารออสุจิอยู่ที่ปลายท่อนำไข่
ผู้หญิงจะมีโอกาสท้องมากที่สุดคือช่วงไข่ตกนี้ คู่รักจึงควรมีกิจกรรมทางเพศก่อนวันไข่ตกประมาณ 1-2 วัน เพื่อให้เชื้ออสุจิได้รออยู่ในมดลูกก่อน เมื่อถึงวันไข่ตกก็จะเกิดการปฏิสนธิกันขึ้น
นอกจากนี้การนับวันไข่ตก หรือดูวันไข่ตกยังสามารถบอกได้ถึงปัญหาสุขภาพอีกด้วย หากเกิดภาวะไข่ไม่ตก หรือไม่ตกไข่ (Anovulation) อาจเสี่ยงต่อการเกิด ภาวะมีบุตรยาก ภาวะฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) มากเกินไป ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือ PCOS ภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนเวลาอันควร รวมไปถึงปัญหาที่เกิดจากการเครียดมากๆ น้ำหนักตัวไม่สมดุล น้อยหรือมากจนเกินไป เป็นต้น
ตามธรรมชาติแล้วไข่ของผู้หญิงจะเริ่มเสื่อมเมื่อมีอายุมากขึ้น คุณภาพของไข่ และจำนวนไข่จะลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ส่งผลให้มีลูกยากตามมา หากใช้วิธีนับวันไข่ตก โอกาสการตั้งครรภ์ก็อาจจะมีน้อยลงตามไปด้วย แต่ในกรณีที่ผู้หญิงมีอายุมากแล้ว และยังไม่มีแผนแต่งงานแต่อยากมีบุตรในอนาคต สามารถ ฝากไข่ ที่สมบูรณ์ในช่วงอายุยังน้อยเอาไว้ได้
การนับวันไข่ตกจึงสำคัญสำหรับคู่รักที่ อยากมีลูก การนับวันไข่ตกเป็นการเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้มากที่สุด อีกทั้งยังสามารถบ่งบอกได้ถึงปัญหาที่เกิดจากระบบสืบพันธุ์ภายในได้อีกด้วย
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นช่วงไข่ตก
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นช่วงไข่ตก มีวิธีนับไข่ตกอย่างไร สามารถปฏิบัติตามได้ดังนี้
การนับปฏิทิน (Calendar Method)

วิธีนับวันไข่ตกตามปฏิทินเป็นวิธีการคาดเดาช่วงไข่ตกได้ง่ายที่สุด วิธีนี้เหมาะกับคนที่มีประจำเดือนสม่ำเสมอ เนื่องจากไข่จะตกตรงกันทุกเดือน สามารถทำได้โดยการจดบันทึกวันที่เริ่มมีประจำเดือนไปจนถึงวันที่ประจำเดือนหมด
โดยภาวะไข่ตกจะเกิดขึ้นก่อนประจำเดือนมา 2 สัปดาห์ ดังนั้นผู้ที่จะนับวันไข่ตกควรรู้วันที่ประจำเดือนจะมาครั้งต่อไป เพื่อที่จะได้นับย้อนหลังมา 14 วัน ก่อนประจำเดือนครั้งต่อไปจะมา
เมื่อทราบวันที่ไข่จะตกแล้ว ผู้ที่วางแผนเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนวันไข่ตกประมาณ 1-2 วัน เพราะเชื้ออสุจิจะสามารถรออยู่ในร่างกายผู้หญิง 48-72 ชั่วโมง หรือประมาณ 2 วัน เมื่อถึงเวลาไข่ตก ไข่ก็จะเจอกับอสุจิที่รออยู่พอดี
อย่างไรก็ตาม การนับวันไข่ตกอาจมีการคลาดเคลื่อนได้ การนับวันไข่ตกด้วยปฏิทินจึงเป็นเพียงการคาดเดาวันไข่ตกเท่านั้น
การดูมูก (Cervical mucus method)
การดูมูกเป็นอีกหนึ่งวิธีนับวันไข่ตก เมื่อใกล้ช่วงไข่ตกร่างกายจะเกิดการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีปริมาณที่สูง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของมูก โดยในช่วงไข่ตกมูกจะมีลักษณะใส ขาวคล้ายกับไข่ขาวดิบ มีความลื่นและยืดหยุ่นได้ดี มีความชุ่มชื้นสูง และมีปริมาณมากขึ้น เนื่องจากสามารถช่วยให้อสุจิเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้นนั่นเอง
นอกจากนี้ลักษณะมูกต่างๆ ยังบอกอะไรได้อีกบ้าง
- มูกหลังมีประจำเดือน จะมีลักษณะค่อยๆ แห้งจนแข็ง และเหนียว
- มูกช่วงก่อนไข่ตก จะมีลักษณะข้นเล็กน้อย คล้ายเนื้อครีม
- มูกวันไข่ตก จะมีลักษณะขาวใส คล้ายไข่ขาวดิบ ลื่น ยืดหยุ่น (หากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์)
- มูกหลังวันไข่ตก จะมีลักษณะขาวขุ่น เหนียวข้น และเริ่มแห้ง
ชุดทดสอบการตกไข่ (Ovulation predictor kits)
การใช้ชุดทดสอบการตกไข่เป็นวิธีนับวันไข่ตกที่ค่อนข้างให้ผลที่แม่นยำ สามารถใช้ได้กับผู้หญิงที่มีประจำเดือนสม่ำเสมอและไม่สม่ำเสมอ
ชุดทดสอบการตกไข่นี้เป็นชุดทดสอบที่ใช้วัดระดับฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing Hormone : LH) เมื่อฮอร์โมนนี้พุ่งสูงขึ้นหลังจากนั้นจึงจะเกิดการตกไข่ โดยในวันที่ 14-15 ของรอบเดือน ฮอร์โมนลูทิไนซิงจะสูงขึ้นเป็นเวลา 14-27 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้ไข่สุกเต็มที่
ดังนั้นคนที่มีประจำเดือนสม่ำเสมอควรตรวจหลังจากประจำเดือนมาวันแรก 14 วัน แต่ถ้าประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอควรตรวจหลังจากประจำเดือนมาวันแรกประมาณ 10-12 วัน อาจใช้การดูมูกช่วยคาดเดาช่วงวันไข่ตกร่วมด้วยได้
โดยช่วงเวลาตรวจฮอร์โมน LH ที่เหมาะสมที่สุดคือเวลาประมาณ 14.00 น. เนื่องจากฮอร์โมน LH จะถูกสร้างขึ้นในช่วงเช้าและค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นในช่วงบ่าย แต่ก็สามารถตรวจในช่วงเวลา 13.00-20.00 น. ได้เช่นกัน และก่อนการตรวจควรงดดื่มน้ำ 4 ชั่วโมง เพื่อให้ปัสสาวะมีความเข้มข้น
วิธีตรวจสอบหาการตกไข่สามารถทำได้โดยการปัสสาวะลงบนแท่งทดสอบ คล้ายกับการตรวจการตั้งครรภ์
มีวิธีทดสอบด้วยกัน 3 แบบ ดังนี้
- ทดสอบด้วยวิธีจุ่ม (Strip) มีขั้นตอนดังนี้
- ปัสสาวะลงในถ้วย
- ใช้แถบตรวจด้านที่มีหัวลูกศรจุ่มลงในถ้วย ประมาณ 5 วินาที
- นำแถบทดสอบวางในทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง ประมาณ 5 นาที
- อ่านผล
- ทดสอบด้วยวิธีหยด (Cassette) มีวิธีคือหยดปัสสาวะลงในแบบทดสอบประมาณ 3-4 หยด แล้วรอประมาณ 5 นาที จึงค่อยอ่านผล
- ทดสอบด้วยการปัสสาวะผ่าน (Midstream) มีวิธีคือ ถอดฝาครอบออกจากแท่งทดสอบก่อน แล้วจึงค่อยปัสสาวะผ่านตรงส่วนปลายของแท่งทดสอบประมาณ 7-10 วินาที รอประมาณ 5 นาที จึงค่อยอ่านผล
- ทดสอบด้วยวิธีจุ่ม (Strip) มีขั้นตอนดังนี้
วิธีอ่านผลทดสอบชุดการตกไข่ คือ หากขึ้น 1 ขีด หมายถึงยังไม่ใช่วันตกไข่ แต่ถ้าขึ้น 2 ขีดเข้ม หมายถึงเป็นวันที่ไข่ตกแล้ว คู่รักที่ต้องการเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ควรมีกิจกรรมทางเพศภายใน 48 ชั่วโมง
วันไข่ตกอาการเป็นอย่างไร
5 วิธีสังเกตอาการไข่ตก โดยในช่วงไข่ตกอาการจะมีดังนี้
- ตกขาวหรือมีมูกมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากช่วงไข่ตกร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้น ทำให้ช่องคลอดลื่นและมีมูกขาวใส มีลักษณะคล้ายไข่ขาวดิบ โดยมูกที่ปากมดลูก (Cervical mucus) มีจำนวนมากนั้นเป็นเพราะมูกจะช่วยให้อสุจิเคลื่อนที่ไปผสมกับไข่ได้ง่ายขึ้น
- มีอารมณ์ทางเพศเพิ่มมากขึ้น ในช่วงไข่ตกอาการที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงคือ จะมีอารมณ์ทางเพศเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากร่างกายมีการสูบฉีดเลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณช่องคลอดมากขึ้นนั่นเอง
- มีอาการเจ็บ คัดตึงเต้านม เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน อาจส่งผลให้เต้านมและหัวนมไวต่อสัมผัส มีอาการเจ็บคัดตึงเต้านม
- มีอาการปวดท้องน้อยจากไข่ตก (Mittelschmerz) เป็นอาการปวดบริเวณท้องน้อยข้างขวาหรือข้างซ้าย ข้างใดข้างหนึ่ง โดยจะเกิดในระยะเวลาประมาณช่วงกลางระหว่างประจำเดือนแต่ละเดือน ซึ่งจะตรงกับช่วงไข่ตกพอดี อาการปวดท้องนี้จะเกิดขึ้นสั้นๆ หรือเป็นชั่วโมงแล้วแต่บุคคล หากมีการปวดรุนแรง ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย เพราะอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกได้ถึงปัญหาภายในได้ เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีซีสต์ในรังไข่ เป็นต้น
- อุณหภูมิในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ในช่วงไข่ตกฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 0.4-1 องศาเซลเซียส
ควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วงก่อนหรือหลังวันไข่ตก
การเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วงก่อนการตกไข่ เนื่องจากไข่ของผู้หญิงจะอยู่ในร่างกายเพียงแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น จึงควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนไข่ตกเพื่อให้อสุจิได้เข้าไปรออยู่ที่ท่อนำไข่ เมื่อไข่ตก อสุจิจึงจะเข้าไปปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ หากพลาดไข่ฟองนี้ไปแล้ว อาจต้องรอถึงเดือนต่อไปเพื่อให้ไข่ตกใหม่ ดังนั้นการนับวันตกไข่จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ช่วยคาดเดาวันตกไข่ได้
ทำอย่างไรหากประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
ในกรณีที่ผู้หญิงมีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอแล้วอยากนับวันไข่ตก ควรใช้วิธีนับวันไข่ตกโดยการใช้ชุดทดสอบการตกไข่ เพื่อให้ผลที่แม่นยำมากขึ้น และควรสังเกตลักษณะมูกร่วมด้วย
หากประจำเดือนมาสม่ำเสมอหรือผิดปกติ เช่น มีรอบเดือนน้อยกว่า หรือมากกว่า 21-35 วัน หรือประจำเดือนมามากกว่า 7 วัน ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ เพราะอาจมีปัญหาที่ระบบสืบพันธุ์ได้
คำถามที่พบบ่อย
คำถาม ไข่ตกกี่วันถึงจะท้อง
คำตอบ เมื่อไข่ตกแล้วเกิดการปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิ จะเกิดการแบ่งตัวของเซลล์ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งไข่จะอยู่ในท่อนำไข่เป็นเวลาประมาณ 3-4 วัน แล้วจึงค่อยเคลื่อนตัวไปยังมดลูกเพื่อฝังตัวที่ผนังมดลูก ในขั้นตอนนี้เรียกว่า กระบวนการฝังตัวของไข่ หลังตัวอ่อนฝังตัว ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนการตั้งครรภ์ขึ้น หรือฮอร์โมน HCG โดยสามารถตรวจหาฮอร์โมนนี้ได้หลังจาก 1-2 สัปดาห์ หลังจากการมีปฏิสนธิ
คำถาม ไข่ตกอยู่ได้กี่วัน
คำตอบ ไข่จะอยู่ที่ท่อนำไข่ และมีเวลารอปฏิสนธิ 24 ชั่วโมง หากช่วงเวลานี้ไม่ได้รับการปฏิสนธิ เซลล์ไข่ก็จะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน
คำถาม การปฏิสนธิใช้เวลากี่วัน
คำตอบ เมื่อเชื้ออสุจิผสมกับไข่ตก การปฏิสนธิจะเกิดขึ้นทันทีหลังเจอกัน โดยการแบ่งตัวของเซลล์จะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังการปฏิสนธิ ซึ่งไข่จะอยู่ในท่อนำไข่ประมาณ 3-4 วัน หลังจากนั้นก็จะเคลื่อนที่ไปยังมดลูกเพื่อทำการฝังตัวที่ผนังมดลูก นั่นก็คือกระบวนการฝังตัวของไข่ หลังจากนั้นเซลล์ต่างๆ จะค่อยๆ เจริญเติบโต
สรุป
การนับวันไข่ตก สามารถช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำหรับคู่รักที่วางแผนจะมีบุตรได้ โดยวิธีนับวันไข่ตกสามารถทำได้ทั้งการนับปฏิทิน สังเกตมูก และตรวจได้จากชุดทดสอบการตกไข่ คู่รักที่ต้องการเพิ่มโอกาสท้องควรมีเพศสัมพันธ์กันในช่วง 1-2 วันก่อนวันไข่ตก เพื่อให้เชื้ออสุจิได้มารอไข่อยู่ก่อนแล้ว
นอกจากนี้ การเรียนรู้วิธีนับวันไข่ตกยังสามารถบ่งบอกได้ถึงปัญหาสุขภาพภายในที่เกิดขึ้นในผู้หญิงได้ด้วย หากพบปัญหาภาวะไข่ไม่ตกควรรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และรักษาให้เร็วที่สุด