ทำไมถึงควรใช้ที่ตรวจครรภ์
ที่ตรวจครรภ์ เป็นเครื่องมือทดสอบการตั้งครรภ์ที่พื้นฐาน และง่ายมากที่สุด ควรใช้ที่ตรวจครรภ์หลังช่วงที่สงสัยว่าปฏิสนธิประมาณ 2 สัปดาห์ หรือเมื่อมีอาการที่ทำให้สงสัยว่าจะท้อง โดยวิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่ ได้แก่
- ประจำเดือนไม่มาตามรอบเดือนหลังการมีเพศสัมพันธ์ หากประจำเดือนในรอบถัดไปยังไม่มา ก็มีโอกาสว่าจะท้องได้ ควรใช้ที่ตรวจครรภ์ตรวจหาการตั้งครรภ์ในเบื้องต้น
- มีอาการแพ้ท้อง อย่างเช่นคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ
- มีตกขาวมาก หรือมีเลือดซึมออกมาจากช่องคลอด แต่ไม่ใช่ประจำเดือน
- เต้านมคัด เจ็บตึง หรือรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกี่ยวกับเต้านม
- อารมณ์แปรปรวน เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งครรภ์
- ปัสสาวะบ่อย หรือท้องผูกบ่อยกว่าปกติ
- ปวดหลัง เหนื่อย อ่อนเพลีย หายใจถี่
- ไวต่อสิ่งเร้าต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องกลิ่น
ยิ่งตรวจพบว่าท้องเร็ว ยิ่งเป็นเรื่องดี เนื่องจากสามารถฝากครรภ์และอยู่ในการดูแลของแพทย์ได้เร็ว ลดความเสี่ยงระหว่างการตั้งครรภ์ได้ เป็นผลดีทั้งกับคุณแม่ และลูกในครรภ์
ที่ตรวจครรภ์มีกี่แบบ
ที่ตรวจครรภ์แต่ละยี่ห้อแตกต่างกัน ทั้งวิธีการทดสอบ ค่าความไวต่อฮอร์โมน (Sensitivity) การอ่านค่า และอื่นๆ ในที่นี้จะแบ่งรูปแบบของที่ตรวจครรภ์ออกเป็น 3 ชนิด ตามอุปกรณ์และวิธีการตรวจครรภ์ ได้แก่
1. ที่ตรวจครรภ์แบบจุ่ม (Test Strip)

อุปกรณ์ที่ให้มาในที่ตรวจครรภ์แบบจุ่ม ประกอบไปด้วย
- แผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ มีลักษณะเป็นแผ่นยาว ปลายด้านหนึ่งเป็นที่จับ ปลายด้านหนึ่งจะมีขีดปริมาณสูงสุดในการจุ่ม ตรงการจะเป็นบริเวณอ่านค่า
- ถ้วยตวงเก็บปัสสาวะ บางยี่ห้ออาจไม่มีให้
เมื่อทดสอบ จะต้องปัสสาวะลงในถ้วยตวงหรือภาชนะ แล้วใช้ปลายแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์จุ่มลงไป ระวังอย่าให้น้ำขึ้นมาเกินขีดที่เขียนไว้ จากนั้นจุ่มไว้ประมาณ 3 วินาที แล้วรอผล 5 นาที
2. ที่ตรวจครรภ์แบบหยด (Pregnancy Test Cassette)

อุปกรณ์ที่ให้มาในชุดตรวจครรภ์แบบหยด ประกอบไปด้วย
- ตลับตรวจครรภ์ ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม มีช่องสำหรับหยดปัสสาวะ และช่องอ่านค่า
- หลอดหยด สำหรับดูดปัสสาวะ
- ถ้วยเก็บปัสสาวะ
เมื่อทดสอบ จะต้องปัสสาวะลงถ้วยเก็บปัสสาวะ จากนั้นให้ใช้หลอดหยดดูดปัสสาวะออกมา หยดลงบนตลับตรวจครรภ์ประมาณ 3 – 4 หยด แล้วจึงอ่านผลหลังจากทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที
3. ที่ตรวจครรภ์แบบปัสสาวะผ่าน หรือแบบปากกา (Pregnancy Midstream Tests)

อุปกรณ์ที่ให้มาในที่ตรวจครรภ์แบบปัสสาวะผ่านหรือแบบปากกา จะมีแค่แท่งสำหรับทดสอบรูปร่างคล้ายปากกา ปลายด้านหนึ่งจะเป็นบริเวณทดสอบสำหรับให้ปัสสาวะไหลผ่าน ซึ่งจะมีฝาครอบไว้ ตรงกลางด้ามจะเป็นที่อ่านค่า
เมื่อใช้ที่ตรวจครรภ์ ให้ถอดฝาครอบออก ถือให้หัวลูกศรชี้ลง จากนั้นปัสสาวะให้ผ่านบริเวณทดสอบประมาณ 30 วินาที หรือจนกว่าจะเปียกชุ่ม จากนั้นให้พักไว้ประมาณ 5 นาทีแล้วจึงอ่านค่า เพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำที่สุด
4. ที่ตรวจครรภ์แบบดิจิทัล (Digital Pregnancy Test)

อุปกรณ์ที่ให้มาในที่ตรวจครรภ์แบบดิจิทัล มีเพียงแท่งตรวจคล้ายที่ตรวจครรภ์แบบปัสสาวะผ่าน แต่บริเวณอ่านค่าจะเป็นหน้าจอแสดงผลแบบดิจิตอล ซึ่งอ่านค่าได้แม่นยำกว่า สามารถแสดงอายุครรภ์โดยคร่าวได้ ว่าอายุครรภ์ 1 – 2 สัปดาห์ 2 – 3 สัปดาห์ หรือมากกว่า 3 สัปดาห์ แต่ราคาก็จะแพงกว่าที่ตรวจครรภ์แบบอื่นๆ
ส่วนวิธีใช้ จะใช้เหมือนกับที่ตรวจครรภ์แบบปัสสาวะผ่าน แต่การอ่านค่าจะเร็วกว่า ที่ตรวจครรภ์แบบดิจิทัลสามารถแสดงผลได้หลังผ่านไปเพียง 3 วินาที ทั้งนี้แม้ที่ตรวจครรภ์แบบดิจิทัลจะมีราคาแพง แต่ก็เป็นที่ตรวจครรภ์ใช้แล้วทิ้งเหมือนกับที่ตรวจครรภ์แบบอื่นๆ ไม่สามารถใช้ซ้ำได้อีก
เรื่องค่าความไวต่อฮอร์โมน (Sensitivity) นั้นมีผลต่อความแม่นยำของผลตรวจในระดับหนึ่ง เนื่องจากยิ่งมีความไวมาก ยิ่งตรวจเจอไว สามารถตรวจเจอว่าท้องได้ตั้งแต่ปริมาณฮอร์โมนยังน้อย
โดยค่าความไวต่อฮอร์โมนจะเป็นค่าตัวเลข มีหน่วยเป็น mIU/ml (Milli-international units per milliliter) ค่าตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณ 20 – 50 mIU/ml ยิ่งตัวเลขน้อย จะยิ่งมีความไวมาก และจะตรวจพบว่าท้องได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ ที่ตรวจครรภ์ที่มีความไวมากก็มีโอกาสคลาดเคลื่อนในกรณีที่กำลังใช้ยาที่มีผลกับฮอร์โมน หรือกำลังเป็นโรคที่ส่งผลกับระดับฮอร์โมนได้
การตรวจการตั้งครรภ์แบบอื่นๆ
นอกจากการตรวจการตั้งครรภ์ด้วยที่ตรวจครรภ์แล้ว ยังมีการตรวจตั้งครรภ์แบบอื่นๆอีก ที่ให้ผลแม่นยำกว่า เป็นการยืนยันผลจากการตรวจด้วยที่ตรวจครรภ์อีกครั้งหนึ่ง โดยการตรวจตั้งครรภ์แบบอื่นๆ ได้แก่
1. การตรวจตั้งครรภ์แบบตรวจปัสสาวะในห้องปฏิบัติการ (Urine Pregnancy Test หรือ UPT)
การตรวจ UPT จะทำงานคล้ายกับที่ตรวจครรภ์ ที่จะตรวจโดยใช้ปัสสาวะ แต่ในห้องปฏิบัติการจะใช้ตัวอ่านค่าที่มีค่าความไวสูง และอ่านค่าโดยนักเทคนิคการแพทย์ ทำให้ผลตรวจที่ได้นั้นแม่นยำว่าที่ตรวจครรภ์
โดยในการตรวจ UPT ที่สถานพยาบาล ทางสถานพยาบาลจะให้กระบอกเก็บตัวอย่างปัสสาวะมาเพื่อเก็บปัสสาวะ จากนั้นจะนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ และแจ้งผลในภายหลังโดยใช้เวลาไม่นาน
2. การตรวจตั้งครรภ์แบบตรวจเลือด (hCG Blood Pregnancy Test)
การตรวจตั้งครรภ์โดยการตรวจเลือด ใช้วิธีการตรวจหาฮอร์โมนในสารคัดหลั่ง ซึ่งการตรวจเลือดนี้จะให้ผลที่แม่นยำมากที่สุด เนื่องจากผู้ที่กำลังท้อง สามารถพบค่าฮอร์โมนบางตัวในเลือดได้ก่อนในปัสสาวะ ซึ่งสามารถตรวจพบว่ากำลังท้องได้ตั้งแต่ก่อน 2 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ
ทั้งนี้การตรวจเลือดตั้งครรภ์มีราคาค่อนข้างสูง จึงไม่แนะนำให้ตรวจเลือด ในกรณีปกติใช้เพียงที่ตรวจครรภ์และตรวจปัสสาวะในห้องปฏิบัติการก็เพียงพอแล้ว การตรวจเลือดนี้จะใช้แค่ในกรณีที่ผู้ที่สงสัยว่าตั้งครรภ์มีประวัติแท้งมาก่อน หรือมีภาวะมีบุตรยาก เพื่อให้วางแผนการตั้งครรภ์ต่อไปได้
3. การตรวจตั้งครรภ์ด้วยการอัลตราซาวด์ (Pregnancy Ultrasound)
อัลตราซาวด์ (Ultrasound) คือคลื่นเสียงความถี่สูง ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในทางการแพทย์ เมื่อปล่อยคลื่นเสียงเข้าไปในร่างกาย คลื่นเสียงดังกล่าวจะไปตกกระทบเนื้อเยื่อ บางส่วนก็จะผ่านลึกลงไป บางส่วนจะสะท้อนกลับมา เครื่องมืออัลตราซาวด์ที่พัฒนาขึ้นจะวิเคราะห์คลื่นที่สะท้อนกลับมาเหล่านั้นเป็นภาพ ทำให้ภาพที่ได้จากการทำอัลตราซาวน์เป็นภาพเนื้อเยื่อบางส่วนภายในร่างกายของเรานั่นเอง
ในการตรวจตั้งครรภ์ การทำอัลตราซาวด์ จะช่วยให้เราเห็นทารก รวมถึงโครงสร้างในครรภ์ได้ ทั้งโครงสร้างของทารกอย่างกระโหลก แขน ขา ปอด หัวใจ และอวัยวะหลักอื่นๆ รวมถึงสามารถตรวจสอบรก สายสะดือ และน้ำคร่ำได้ด้วย
สูตินรีแพทย์ไม่ได้ใช้การอัลตราซาวด์เพื่อดูว่าท้องหรือไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังใช้เพื่อความสมบูรณ์และความผิดปกติของส่วนประกอบในครรภ์ด้วย เพราะการตรวจอัลตราซาวด์จะทำให้ทราบทั้งอายุครรภ์ ดูว่าเป็นครรภ์แฝดหรือไม่ ดูเพศของทารกหลัง 4 เดือนขึ้นไป ตรวจการท้องนอกมดลูก ซีสต์และก้อนเนื้อในรังไข่หรือมดลูก ดูภาวะรกต่ำ เป็นต้น
วิธีอ่านค่าที่ตรวจครรภ์
หากเป็นที่ตรวจครรภ์แบบดิจิทัล การอ่านค่าก็จะง่าย เนื่องจากจะบอกผลทันทีว่าท้อง (Pregnant) หรือไม่ท้อง (Not Pregnant) ซึ่งถ้าหากท้องก็จะบอกอายุครรภ์โดยคร่าวด้วย ว่า 1 – 2 สัปดาห์, 2 – 3 สัปดาห์, หรือ 3 สัปดาห์ขึ้นไป
ส่วนที่ตรวจครรภ์แบบอื่นๆ ทั้งแบบจุ่ม แบบหยด และแบบปัสสาวะผ่าน การอ่านค่าจะเป็นขีด ซึ่งอ่านได้ยากกว่า ในพื้นที่แสดงผลสำหรับอ่านค่า จะมีตัวอักษร 2 ตัว ได้แก่
1. C หรือ Control Line ใช้สำหรับทดสอบในเบื้องต้นว่าที่ตรวจครรภ์ชิ้นนี้ไม่เสีย สามารถอ่านค่าได้ หากหลังจากทดสอบแล้วขีดที่ตัว C ไม่ขึ้น หมายความว่าที่ตรวจครรภ์เสีย ไม่สามารถอ่านค่าได้
2. T หรือ Test Line ใช้สำหรับแสดงผลการทดสอบ ถ้าขีดขึ้น แสดงว่ามีแนวโน้มที่จะตั้งครรภ์
ดังนั้น ผลการทดสอบสามารถเกิดขึ้นได้ 3 แบบ ได้แก่
1. ที่ตรวจครรภ์ขึ้น 1 ขีดที่ตัว C หมายความว่า ตรวจไม่พบการตั้งครรภ์ในขณะนั้น
2. ที่ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีดทั้งตัว C และ T หมายความว่า ตรวจพบการตั้งครรภ์
3. ที่ตรวจครรภ์ไม่ขึ้นขีดเลย หรือขึ้น 1 ขีดที่ตัว T หมายความว่า ที่ตรวจครรภ์เสีย ไม่สามารถอ่านค่าได้ ควรทดสอบด้วยที่ตรวจครรภ์อันใหม่
หากที่ตรวจครรภ์ขึ้นที่ตัว C เข้ม แต่ที่ตัว T ขึ้นจางๆ หมายความว่าอย่างไร? หากขีดที่ตัว T จาง หมายความว่าฮอร์โมนที่ใช้ทดสอบการตั้งครรภ์ยังมีปริมาณไม่มากพอที่จะตรวจพบ ให้รอประมาณ 2 – 3 วันแล้วจึงตรวจใหม่อีกครั้งเพื่อยืนยันผล
ทั้งนี้ ขีดจางอาจเกิดจากร่างกายมีปริมาณฮอร์โมนที่เหมือนกับฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์เล็กน้อยจากโรคบางอย่างที่ส่งผลกับระดับฮอร์โมนในร่างกาย แต่ฮอร์โมนนั้นไม่ได้เกิดจากการตั้งครรภ์ หากทิ้งช่วงแล้วตรวจใหม่ขีดยังคงขึ้นจางอยู่ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายโดยละเอียดต่อไป
ที่ตรวจครรภ์ทำงานอย่างไร
ขีดบนที่ตรวจครรภ์ ขึ้นมาได้อย่างไร? หลักการทำงานของที่ตรวจครรภ์ คือการตรวจหาค่าฮอร์โมน hCG ในปัสสาวะ หากปริมาณฮอร์โมนมีมากเพียงพอ ก็จะมีขีดขึ้นที่ตัว T หมายถึงตรวจพบว่าท้องนั่นเอง
แล้ว hCG คืออะไร? hCG (Human Chorionic Gonadotropin) คือฮอร์โมนที่ใช้ในการตรวจตั้งครรภ์ มีอยู่ทั้งในเพศชายและเพศหญิง ในเพศหญิงฮอร์โมนดังกล่าวจะช่วยในกระบวนการตกไข่
ส่วนในกรณีที่ท้อง ฮอร์โมนดังกล่าวจะหลั่งออกมาจากเซลล์ตัวอ่อน ช่วยให้ตัวอ่อนฝังตัวอยู่ในมดลูกได้ดีมากขึ้น ดังนั้นเมื่อท้อง ฮอร์โมน hCG จะสูงกว่าสภาวะปกติ
ฮอร์โมน hCG จะเริ่มหลั่งจากตัวอ่อนหลังจากปฏิสนธิแล้ว 6 วัน และจะหลั่งออกมามากที่สุดในช่วง 8 – 12 สัปดาห์หลังปฏิสนธิ ทำให้บางครั้งที่ใช้ที่ตรวจครรภ์ในช่วงสัปดาห์แรกที่ตั้งครรภ์ ขีดที่ขึ้นที่ตัว T จึงอาจจะจางกว่าที่ควร และหากตรวจซ้ำก็จะสีเข้มขึ้นตามปริมาณฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
ที่ตรวจครรภ์มีความแม่นยำมากแค่ไหน

ที่ตรวจครรภ์ที่ขายอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน มีค่าความแม่นยำมากถึง 90 – 99% ยิ่งที่ตรวจครรภ์ที่มีความไวสูง ก็ยิ่งตรวจพบการตั้งครรภ์ได้ไว และมีความแม่นยำในการตรวจหาฮอร์โมน hCG มากขึ้น
ทั้งนี้ ที่ตรวจครรภ์ยังคงคลาดเคลื่อนได้ หากเป็นโรคที่ส่งผลกับฮอร์โมน อย่างโรคเกี่ยวกับไทรอยด์ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นโรคอ้วน หรือกำลังใช้ยาที่มีผลกับระดับฮอร์โมน อาจจะตรวจแล้วที่ตรวจครรภ์ 2 ขีดแต่ไม่ท้องได้
นอกจากนี้ยังอาจตรวจแล้วขึ้น 1 ขีด ทั้งที่จริงๆแล้วกำลังท้องได้เช่นกัน ซึ่งอาจเกิดจากปัสสาวะจาง หรือใช้ที่ตรวจครรภ์ในช่วงที่เพิ่งท้อง ระดับฮอร์โมนจึงยังไม่สูงมากพอที่จะตรวจพบด้วยที่ตรวจครรภ์ได้ ในกรณีนี้หากมีอาการคล้ายตั้งครรภ์ ควรทิ้งระยะเวลาประมาณ 2 – 3 วันหรือมากกว่านั้น แล้วจึงตรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่อรอให้ในปัสสาวะมีระดับฮอร์โมน hCG สูงขึ้นก่อน
ตรวจครรภ์ตอนไหนดีที่สุด
ตรวจครรภ์ตอนไหนดี? ช่วงเวลาที่จะตรวจตั้งครรภ์ได้คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด ควรอยู่ในเงื่อนไขดังนี้
- อย่างน้อย 1 สัปดาห์หลังจากวันที่สงสัยว่าปฏิสนธิ แต่ผลจะแม่นยำที่สุดหลังจาก 2 สัปดาห์
- ตรวจหลังจากตื่นนอนทันที ก่อนดื่มน้ำหรือทานอาหาร เพื่อให้ปัสสาวะมีสารปนเปื้อนน้อยที่สุด
- หากสงสัยว่าตั้งครรภ์เนื่องจากประจำเดือนไม่มาในวันที่ควรจะมา ควรรอให้เลยวันที่ควรมีรอบเดือนมาประมาณ 7 วันจึงตรวจตั้งครรภ์ เพื่อให้แน่ใจว่าประจำเดือนไม่ได้เลื่อนจากสาเหตุอื่นๆ อย่างเช่นความเครียด หรือความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมนจากสาเหตุอื่นๆ
- อยู่ในช่วงที่ไม่ได้มีโรคที่ส่งผลกับฮอร์โมน หรือใช้ยาที่มีผลกับฮอร์โมน hCG หากสงสัยว่าตั้งครรภ์ในช่วงเวลาดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจการตั้งครรภ์ด้วยวิธีอื่น และวางแผนการตั้งครรภ์ร่วมกับแพทย์ต่อไป
การใช้ยาทำให้ผลที่ตรวจครรภ์คลาดเคลื่อนได้อย่างไร
ยาที่มีฮอร์โมน hCG เป็นส่วนประกอบ หรือมีผลกับฮอร์โมน hCG จะทำให้ปริมาณของฮอร์โมน hCG ในสารคัดหลั่งต่างๆเพิ่มมากขึ้น ทำให้ที่ตรวจครรภ์ให้ผลคลาดเคลื่อนได้ ที่ตรวจครรภ์อาจขึ้น 2 ขีดทั้งที่ไม่ได้ท้อง ส่วนยาอื่นๆที่ส่งผลต่อฮอร์โมน อย่างยาคุมกำเนิด ไม่ได้ส่งผลอะไรกับการตรวจตั้งครรภ์ หรืออาจมีผลเพียงเล็กน้อย
นอกจากนี้ ในกรณีที่มีบุตรยาก แล้วใช้วิธีการ ฉีดเชื้อผสมเทียม (IUI) หรือทำ IVF ในขั้นตอนการทำ แพทย์จะใช้ยาเพิ่มระดับฮอร์โมน hCG เพื่อให้ไข่พร้อมปฏิสนธิ หรือเพื่อเก็บไข่ไปปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการต่อไป หลังจบขั้นตอนทุกอย่าง รอผลการตั้งครรภ์ การตรวจการตั้งครรภ์หลังจากนี้อาจคลาดเคลื่อนได้
หากใช้ที่ตรวจครรภ์ตรวจการตั้งครรภ์เร็วเกินไป จะทำให้ผลคลาดเคลื่อนเนื่องจากฮอร์โมน hCG ที่แพทย์ให้เพื่อให้ไข่ตกอาจยังไม่ลดระดับลง ทำให้ผลขึ้น 2 ขีด ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจจะไม่ได้ท้อง ทางที่ดีควรรอให้ครบ 2 อาทิตย์หลังจากวันที่ย้ายตัวอ่อนหรือวันที่ฉีดเชื้อผสมเทียม เพื่อให้ผลของที่ตรวจครรภ์ออกมาแม่นยำและคลาดเคลื่อนน้อยลง
ไข่ตกคืออะไร? สามารถนับวันไข่ตกได้อย่างไรบ้าง? : วันไข่ตก
ควรทำอย่างไรหากผลการตั้งครรภ์เป็นบวก

หากผลการตั้งครรภ์จากที่ตรวจครรภ์เป็นบวก คือมีแนวโน้มที่จะตั้งครรภ์ หลังจากนั้นควรไปตรวจการตั้งครรภ์อีกครั้งที่โรงพยาบาลเพื่อยืนยันผล หลังจากนั้นให้เลือกโรงพยาบาลที่ไว้วางใจเพื่อฝากครรภ์ พร้อมทั้งมาพบแพทย์ตามนัด แพทย์จะนัดมาเป็นระยะเพื่อติดตามการตั้งครรภ์ ว่าเป็นปกติหรือไม่ ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์
นอกจากนี้ ทั้งคุณพ่อคุณแม่ควรปรับตัวให้เหมาะสมขณะตั้งครรภ์เพื่อให้เป็นผลดีต่อสุขภาพตนเองและทารกในครรภ์ให้มากที่สุด โดยข้อควรปฏิบัติมีดังนี้
- หากมีโรคประจำตัว หรือกำลังใช้ยาใดอยู่เป็นประจำ ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ เนื่องจากยาบางตัวสามารถส่งผลกับทารกในครรภ์ได้ หรือหากเป็นโรคบางอย่างที่เสี่ยงทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์จะต้องดูแลเป็นพิเศษ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นที่โปรตีนและผักผลไม้ สามารถรับประทานวิตามินได้เพื่อบำรุงสุขภาพเพิ่มเติม แต่ควรได้รับการแนะนำจากแพทย์ก่อน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยการออกกำลังกายที่เหมาะสมต้องไม่หักโหม เหนื่อย หรือทำรุนแรงจนเกินไป เพราะอาจเกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ได้ ตัวอยากการออกกำลังกายที่แนะนำ ได้แก่ การเดิน ว่ายน้ำ แอโรบิกใต้น้ำ หรือโยคะเบาๆ โดยที่ควรมีผู้เชี่ยวชาญดูแลอย่างใกล้ชิด
- พยายามไม่ให้อ้วนขึ้นหรือผอมลงมากเกินไป เนื่องจากมีผลกับฮอร์โมนและสารอาหารที่เพียงพอกับทารก ถ้าน้ำหนักของคุณแม่เปลี่ยนมากเกินกว่าที่ควรอาจเกิดอันตรายกับทารกได้
- ผ่อนคลายความเครียด เพราะความเครียดสามารถทำให้เกิดอันตรายได้ อาจทำให้คลอดก่อนกำหนด ไปจนถึงเกิดภาวะแท้งได้ด้วย
- งดการดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือสารเสพติดอื่นๆ
- ปรับเปลี่ยนบ้านให้ปลอดภัย ป้องกันไม่ให้คุณแม่ลื่น ล้ม หรือกระแทกอะไรแรงๆ
แม้ข้อควรปฏิบัติจะเน้นไปที่ฝั่งคุณแม่มากกว่า แต่หากคุณพ่อสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ด้วยได้จะเป็นผลดีกับคุณแม่และทารกอย่างมาก เพราะการทำกิจกรรมร่วมกันจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันและกันในเรื่องความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ หลังการมีลูกได้มากขึ้น
อีกทั้งพฤติกรรมบางอย่าง อย่างการที่เครียดมากๆ หรือการสูบบุหรี่ อาจส่งผลต่อพฤติกรรมและสุขภาพของอีกฝ่ายได้ จึงควรทำร่วมกันทั้งคุณพ่อ คุณแม่ และทุกคนในบ้านนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์ : อยากมีลูก เตรียมตัวอย่างไรให้มีลูกง่าย ลดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์?
คำถามเกี่ยวกับที่ตรวจครรภ์และการตรวจตั้งครรภ์
Q: เมนไม่มากี่วันถึงท้อง?
A: การดูว่าท้องหรือไม่นั้น ให้ลองใช้ที่ตรวจครรภ์ตรวจหลังจากประจำเดือนไม่มาตามวันที่ควรมาประมาณ 7 วัน เนื่องจากปกติแล้วประจำเดือนสามารถเลื่อนได้หากฮอร์โมนเปลี่ยน มีความเครียด หรือสาเหตุอื่นๆ หากประจำเดือนมาช้าเกิน 7 วันก็อาจเกิดจากการตั้งครรภ์ได้
Q: ที่ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีดจางๆ แบบจุ่ม แบบตลับ แบบปากกา หรือขึ้น 2 ขีดจางมากๆ ถือว่าท้องหรือไม่?
A: แม้ขีดขึ้นจางมากๆ ก็อาจเกิดจากการตั้งครรภ์ได้ ในกรณีที่ใช้ที่ตรวจครรภ์ในช่วงก่อน 1 – 2 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากปริมาณฮอร์โมน hCG ยังคงมีปริมาณน้อยอยู่ หากขึ้นจางให้เว้นระยะสัก 2 – 3 วัน หรือรอให้ครบสัปดาห์ที่ 2 หลังจากวันที่คิดว่าปฏิสนธิแล้วจึงตรวจอีกครั้ง ก็จะได้ผลที่แม่นยำมากขึ้น
แต่ถ้าหากเว้นระยะแล้วยังคงขึ้น 2 ขีดจางๆ ก็อาจเกิดจากโรคทางฮอร์โมนหรือการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อไป
Q: ที่ตรวจครรภ์ราคาเท่าไหร่?
A: ที่ตรวจครรภ์มีหลายราคา มีตั้งแต่ชิ้นละไม่กี่สิบบาท ไปจนถึงเป็นพันบาท ชนิดที่ราคาถูกที่สุดจะเป็นที่ตรวจครรภ์แบบจุ่ม แพงขึ้นมาอีกจะเป็นแบบตลับ และแบบปากกาตามลำดับ ส่วนแบบดิจิทัลราคาจะอยู่ที่ประมาณ 500 – 1000 บาท ซึ่งแพงกว่าที่ตรวจครรภ์แบบอื่นมาก แต่ก็จะสามารถบอกผลได้ละเอียดกว่า
Q: ตรวจครรภ์ได้ตอนไหน ตรวจตั้งครรภ์เร็วสุดกี่วันถึงตรวจได้ ท้องกี่สัปดาห์ตรวจเจอ?
A:เร็วที่สุดคือประมาณ 1 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ ที่ตรวจครรภ์ที่มีความไวมากจะสามารถตรวจพบได้ แต่ถ้าจะให้ผลแม่น ควรรอหลังจาก 2 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ และควรตรวจในช่วงเช้า เนื่องจากยังไม่ทานอะไร ปัสสาวะจะปนเปื้อนน้อยกว่า ทำให้ผลคลาดเคลื่อนน้อยกว่าการตรวจในช่วงเย็น
Q: ตรวจครรภ์ตอนเย็นได้ไหม?
A: สามารถตรวจได้ แต่ผลก็อาจคลาดเคลื่อนได้มากกว่าการตรวจตอนเช้า เนื่องจากปัสสาวะอาจปนเปื้อนอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาที่บริโภคเข้าไป ดังนั้นการตรวจการตั้งครรภ์โดยใช้ที่ตรวจครรภ์นั้นควรทำตอนเช้าจะเป็นการดีที่สุด
Q: อาการคนท้อง 3 วันเป็นอย่างไร กี่วันถึงจะรู้ว่าท้อง?
A: ในช่วง 3 วันแรก มีน้อยมากที่จะมีอาการบ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ เนื่องจากตัวอ่อนยังปล่อยฮอร์โมนออกมาไม่มากพอที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกายหรืออารมณ์ อย่างเร็วที่สุดจะเป็นในช่วงหลังจากวันปฏิสนธิ 7 วัน คุณแม่บางท่านก็จะเริ่มรู้ตัวว่าท้อง เนื่องจากรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง อาการง่วงนอน เหนื่อยล้า อ่อนเพลียมากกว่าปกติ หน้ามืด เวียนศีรษะ ตัวรุมๆ อยากอาหาร เป็นต้น
Q: ท้อง 1 อาทิตย์ตรวจเจอไหม ท้อง 1 เดือนตรวจเจอไหม?
A: ท้อง 1 สัปดาห์ตรวจเจอได้ หากใช้ที่ตรวจครรภ์ที่มีค่าความไวในช่วง 20 – 25 mIU/ml หรือไปตรวจปัสสาวะที่โรงพยาบาล ส่วนท้อง 1 เดือนสามารถตรวจเจอได้และเจอได้ง่าย เพราะค่าฮอร์โมน hCG จะมีมากแล้วนั่นเอง
Q: ตรวจฉี่แล้วไม่ท้อง ไม่มีอาการคนท้อง แต่ประจําเดือนไม่มา ประจําเดือนไม่มา 1 เดือนตรวจแล้วไม่ท้อง เกิดจากอะไร?
A: หากใช้ที่ตรวจครรภ์ตรวจอย่างเดียว ก็อาจเกิดจากผลคลาดเคลื่อนได้ แต่หากตรวจซ้ำหลายรอบแล้ว หรือไปตรวจที่สถานพยาบาลแล้วยังไม่พบว่าท้อง การที่ประจำเดือนไม่มาก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ อย่างการใช้ยาคุมกำเนิด ความเครียด ความผิดปกติในระบบฮอร์โมนหรือระบบสืบพันธุ์ หากประจำเดือนไม่มาโดยไม่ทราบสาเหตุควรเข้าพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะอาจเกิดจากโรคที่จำเป็นต้องรักษา หรืออาจเกิดภาวะมีบุตรยากตามมาได้
Q: จับท้องยังไงให้รู้ว่าท้อง?
A: การท้องในสัปดาห์แรกๆ จะยังไม่เห็นหน้าท้องนูนออกมา เพราะตัวอ่อนยังมีขนาดเล็กมาก การจับท้องจึงไม่สามารถทราบได้ว่าท้องหรือไม่ จะเริ่มรู้สึกว่าท้องป่องหรือจับท้องแล้วนูนๆ เมื่อผ่านไปประมาณ 10 สัปดาห์หรือ 2 เดือนครึ่ง
ทั้งนี้ระยะเวลาที่เริ่มรู้สึกว่าท้องเริ่มป่องออกมาจะไม่เท่ากันในคุณแม่แต่ละคน หากมีท้องแรกก็จะดูยาก ออกกำลังกายมีหน้าท้อง หรือหน้าท้องป่องอยู่แล้วก็จะไม่ค่อยรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงในช่วงเดือนแรกๆ แต่เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 5 – 6 เดือนก็จะจับแล้วรู้ว่ากำลังท้องได้มากขึ้น
Q: ที่ตรวจครรภ์แบบไหนดีที่สุด?
A: ถ้าในเรื่องคุณภาพ ที่ตรวจครรภ์ดิจิทัลคุณภาพดีที่สุดและใช้สะดวกที่สุด แต่ก็ราคาสูงทั้งยังใช้ได้ครั้งเดียว หากคุณภาพดี ใช้งานง่าย ราคาไม่สูงมาก ก็จะเป็นที่ตรวจครรภ์แบบปัสสาวะผ่านหรือแบบปากกา แต่ถ้าต้องการราคาถูกมากๆ ที่ตรวจครรภ์แบบจุ่มจะเหมาะสมมากกว่า
อ้างอิง
Chard, T. (1992, May). Pregnancy tests: a review. Pubmed. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/16
39991/#:~:text=With%20most%20current%20pregnancy%20test,the%20woman%20
is%20not%20pregnant.
Gurevich, R. (2022, June 5). When to Take a Pregnancy Test. Verywellfamily. https://www
.verywellfamily.com/when-is-the-best-time-to-take-an-early-pregnancy-test-1960163
Mayo Clinic Staff. (2021, Feb 24). Home pregnancy tests: Can you trust the results?. Mayo Clinic.
https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/getting-pregnant/in-depth/home-pregnancy-
tests/art-20047940#:~:text=Fertility%20drugs%20or%20other%20medications,accura
cy%20of%20home%20pregnancy%20tests.
National Health Service. (2022, 9 February). Doing a pregnancy test. NHS. https://www.nhs.uk
/pregnancy/trying-for-a-baby/doing-a-pregnancy-test/
Stacey, D. (2022, May 26). How Accurate Is an hCG Blood Pregnancy Test?. Verywellfamily.
https://www.verywellfamily.com/blood-pregnancy-tests-906667