การตรวจโครโมโซมตัวอ่อน เป็นการตรวจโครโมโซมจากตัวอ่อนที่ได้จากการทำเด็กหลอดแก้ว ทั้งวิธีการ IVF และการทำ ICSI เพื่อตรวจคุณภาพของตัวอ่อนที่ได้มา ให้แน่ใจว่ามีโอกาสเกิดภาวะแท้งน้อย และมีโอกาสที่ลูกที่เกิดมาจะพิการตั้งแต่ในครรภ์ลดลง
แต่แล้วตรวจโครโมโซมตัวอ่อน NGS คืออะไร? PGD, PGT, PGS, และ CCS ต่างกันหรือไม่ เกี่ยวข้องกับการตรวจโครโมโซมตัวอ่อนอย่างไร? ในบทความนี้ Wellnesshealth Club ได้รวบรวมเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ที่สนใจมีข้อมูลไว้พิจารณาก่อนการไปพบแพทย์
การตรวจโครโมโซมคืออะไร?
ก่อนจะรู้จัก NGS เราควรจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจโครโมโซมก่อน ว่าคืออะไร มีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร และสามารถทำอย่างไรได้บ้าง
การตรวจโครโมโซมตัวอ่อน หรือ PGD (Pre-implantation Genetic Disorder) คือการตรวจว่าตัวอ่อนที่ได้มาจากขั้นตอนการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการ ทั้งวิธีการ IVF และ ICSI มีคุณภาพดีพอที่จะนำกลับไปใส่ในโพรงมดลูก เพื่อให้ตั้งครรภ์ และเติบโตเป็นทารกต่อไปหรือไม่
ซึ่งการจะดูว่ามีคุณภาพหรือไม่นั้น จะดูทั้งจำนวนโครโมโซม ลำดับเบสใน DNA และโรคแฝงในยีนที่อาจส่งต่อมาจากคุณพ่อ คุณแม่ หรือทั้งสองคน เพื่อให้ทราบก่อนตั้งครรภ์ว่าทารกที่จะเกิดมาจากตัวอ่อนดังกล่าว มีโอกาสเกิดความผิดปกติ พิการ หรือเป็นโรคทางพันธุกรรมหรือไม่ และยังสามารถทราบได้ด้วยว่าตัวอ่อนที่จะย้ายเข้าไปในโพรงมดลูกมีโอกาสแท้งในช่วงอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์หรือเปล่า
ซึ่งการตรวจโครโมโซม PGD เพื่อประเมินคุณภาพตัวอ่อนจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่
1. PGT-M (Pre-implantation Genetic Testing for Monogenic diseases)
PGT-M คือการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน เพื่อการหาโรคแฝงที่อยู่ในยีน ซึ่งโรคดังกล่าวจะเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของยีนเดี่ยว (Single Gene Disorder) อย่างเช่นโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia), โรคท้าวแสนปม (Neurofibromatosis), โรคเลือดไหลไม่หยุดฮีโมฟีเลีย (Hemophilia)
ซึ่งการตรวจ PGT-M นี้ จะทำก็ต่อเมื่อมีความเสี่ยง คือพ่อหรือแม่เป็นโรค หรือทั้งพ่อและแม่เป็นพาหะของโรค
2. PGT-A หรือ PGS (Pre-implantation Genetic Testing for Aneuploidy or Screening)
PGT-A หรือ PGS คือการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน เพื่อดูที่โครโมโซมว่ามีความผิดปกติด้านจำนวนทั้งขาดและเกิน หรือโครงสร้างของโครโมโซมผิดปกติหรือไม่
ปกติแล้ว มนุษย์เราจะมีโครโมโซมทั้งหมด 46 แท่ง 23 คู่ โดยที่ 22 คู่แรกเป็นโครโมโซมร่างกาย (Autosome) ส่วนคู่ที่ 23 จะเป็นโครโมโซมเพศ (Sex Chromosome) ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าทารกที่เกิดมาจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิง
หากโครโมโซมเหล่านี้ บางคู่ขาดไป เพิ่มมา หรือโครงสร้างผิดไป อย่างลำดับเบสผิด หรือส่วนที่ควรอยู่ในโครโมโซมคู่หนึ่ง ไปอยู่อีกคู่หนึ่ง ก็จะทำให้ทารกมีความผิดปกติทางพันธุกรรมได้
ซึ่งความผิดปกตินี้จะทำให้เกิดโรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม (Chromosomal Aberration Disorder) เช่น กลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome), กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome), กลุ่มอาการพาทัวร์ (Patau Syndrome), โรคมนุษย์หมาป่า (Wolf-Hirschhorn Syndrome) เป็นต้น
การตรวจโครโมโซม PGS จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อยตามเทคนิคที่ใช้ตรวจ ได้แก่
2.1 FISH (Fluorescence in situ Hybridization) เป็นเทคนิคเก่า ที่จะตรวจโดยการย้อมสีโครโมโซม และนับจำนวนว่ามีจุดสีครบคู่หรือไม่ แต่วิธีการนี้ สีที่ย้อมจะติดที่โครโมโซมเพียง 9 คู่ ทำให้ผลการตรวจไม่แม่นยำเท่าใดนัก
2.2 CCS (Comprehensive Chromosome Screening) เป็นเทคนิคที่จะตรวจโดยใช้ DNA ของตัวอ่อนจับคู่กับ DNA ควบคุม ทำให้สามารถตรวจนับได้ครบทั้ง 23 คู่ ทำให้ผลการตรวจแม่ยำมากขึ้น
2.3 NGS (Next Generation Sequencing) เป็นเทคนิคใหม่ล่าสุดในการตรวจโครโมโซมตัวอ่อนที่จะตรวจโดยการหาลำดับเบส (นิวคลีโอไทด์) ของตัวอ่อน ทำให้ได้ข้อมูลของโครโมโซมและสารพันธุกรรมอย่างละเอียด ทั้งยังทำได้เร็ว และค่าใช้จ่ายถูกกว่าการทำ CCS จึงเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน
การตรวจ PGS ด้วยเทคนิค NGS สามารถทำได้ทั้งในกรณีที่มีความเสี่ยง ความจำเป็นด้านอื่น หรือตรวจเพื่อความสบายใจก็สามารถทำได้เช่นกัน
ทำไมถึงต้องตรวจความผิดปกติโครโมโซมตัวอ่อน (PGS)?
1. เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์
การที่ตัวอ่อนมีโครโมโซมผิดปกติ อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ตัวอ่อนไม่ฝังตัวในมดลูก หรือไม่สามารถเจริญต่อจนเป็นทารกได้ ทำให้ทำเด็กหลอดแก้วไม่สำเร็จ ดังนั้นการตรวจโครโมโซมตัวอ่อนสามารถเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วอย่าง IVF และ ICSI ได้ จากโอกาสตั้งครรภ์ 40% เพิ่มขึ้นเป็น 60 – 70%
2. เพื่อลดโอกาสแท้ง
ความผิดปกติในโครโมโซมสามารถทำให้เกิดภาวะแท้งได้ในช่วงอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ สามารถเกิดได้ทั้งกับการผสมเทียม การทำเด็กหลอดแก้ว และการตั้งครรภ์ตามปกติ จากการเก็บข้อมูล พบว่าสาเหตุหลักของภาวะแท้งเกิดจากโครโมโซมผิดปกติ โดยที่มีตัวอ่อนในครรภ์แท้งจากเหตุผลดังกล่าวมากถึง 60%
ดังนั้น การตรวจโครโมโซมก่อนตั้งครรภ์ สามารถทำเพื่อเลือกตัวอ่อนที่สมบูรณ์ย้ายเข้าสู่โพรงมดลูก ลดโอกาสเกิดภาวะแท้งได้
3. เพื่อลดระยะการตั้งครรภ์ในรอบการรักษา
ในรอบการรักษาเด็กหลอดแก้วครั้งหนึ่ง อาจมีการย้ายตัวอ่อนมากกว่า 1 ครั้ง หากได้ไข่หลายใบ และมีตัวอ่อนปกติที่แช่แข็งไว้ เมื่อย้ายตัวอ่อนไม่ติดในครั้งแรกก็จะย้ายตัวอ่อนซ้ำเมื่อร่างกายของคุณแม่พร้อมตั้งครรภ์ ทำให้รอบการรักษานานขึ้น ดังนั้นการตรวจโครโมโซมตัวอ่อนก่อนจึงเป็นการลดระยะการตั้งครรภ์ในรอบการรักษาได้นั่นเอง
4. เพื่อให้ทารกที่จะเกิดมามีโอกาสเกิดโรคทางพันธุกรรมได้น้อยลง
โรคทางพันธุกรรมสามารถเกิดได้จากทั้งจำนวน โครงสร้าง และรูปร่างของโครโมโซมผิดปกติ รวมถึงลำดับเบสในโครโมโซมเองก็มีผลทำให้เกิดความผิดปกติด้วยเช่นกัน
ซึ่งโรคทางพันธุกรรมดังกล่าวมีหลากหลายชนิดซึ่งรวมถึงความพิการตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ด้วย การตรวจโครโมโซมคัดเลือกตัวอ่อนที่มีโครโมโซมปกติก็สามารถช่วงลดโอกาสเกิดโรคทางพันธุกรรมให้กับลูกที่จะเกิดมาด้วย
5. เพื่อลดโอกาสที่จะต้องตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์
นอกจากการตรวจโครโมโซมก่อนการย้ายตัวอ่อนแล้ว ยังมีการตรวจโครโมโซมด้วยการตรวจน้ำคร่ำ หรือตรวจผ่านเลือดของคุณแม่ด้วย แต่การตรวจดังกล่าวจะทำหลังจากตั้งครรภ์ไปแล้ว 16-20 สัปดาห์
หากแพทย์พบว่าเด็กพิการ เป็นโรคทางพันธุกรรมที่มีโอกาสรอดต่ำ หรือมีปัจจัยบางอย่างที่อาจก่อผลเสียแก่ชีวิตกับทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ แพทย์จะพิจารณาให้เลือกยุติการตั้งครรภ์ โดยให้คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้เลือกว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่
ซึ่งเรื่องนี้สามารถสร้างผลกระทบทางจิตใจให้กับครอบครัวอย่างมาก การตรวจโครโมโซมตั้งแต่ก่อนย้ายตัวอ่อนและเริ่มต้นตั้งครรภ์ จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่านั่นเอง
การตรวจโครโมโซมตัวอ่อนด้วยเทคโนโลยี NGS
NGS (Next Generation Sequencing) คือเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซม โดยการหาลำดับเบสนิวคลีโอไทด์ในโครโมโซมของตัวอ่อน ทำให้ตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซมได้ค่อนข้างละเอียด ผลการตรวจแม่นยำมากถึง 98%
สิ่งที่สามารถตรวจได้โดยการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน PGS ด้วยเทคนิค NGS ได้แก่
- จำนวนแท่งโครโมโซมผิดปกติ (Numerical abnormalities) โครโมโซมของตัวอ่อนควรมี 46 แท่ง 23 คู่ หากขาดหายไป หรือเกินมาจะทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นได้ อย่างเช่น โครโมโซมคู่ที่ 23 ผิดปกติ หายไป 1 แท่ง มีโครโมโซม X เพียงตัวเดียว จะทำให้เกิดกลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome), โครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง (Trisomy 21) จะทำให้เกิดกลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome)
- โครงสร้างโครโมโซมผิดปกติ (Structural abnormalities) โดยปกติแล้วแท่งโครโมโซมของแต่ละคู่จะหน้าตาเหมือนกับคู่ของตนเอง หากโครงสร้างบางส่วนหายไป อยู่ผิดที่ ไปต่อกับคู่อื่น หรือมีโครโมโซมรูปวงแหวน จะทำให้เกิดความผิดปกติขึ้น เช่น กลุ่มอาการคริดูชาต (Cri du chat syndrome or Cat cry syndrome)
ที่คลินิกรักษาผู้มีบุตรยากและส่งเสริมสุขภาพสตรี BDMS Wellness Clinic เราให้บริการตรวจ PGS ด้วยเทคนิคใหม่ล่าสุดอย่าง NGS ซึ่งมีจุดประสงค์หลักเพื่อลดความเสี่ยงการแท้งขณะมีอายุครรภ์น้อยกว่า 12 เดือน ให้ทำ IVF หรือ ICSI สำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก และหลีกเลี่ยงผลกระทบทางจิตใจในกรณีที่แท้งบุตรด้วย
การตรวจโครโมโซมด้วยเทคนิค NGS เหมาะกับใครบ้าง?
การตรวจโครโมโซมตัวอ่อนด้วยเทคนิค NGS เหมาะกับคู่สมรสที่ทำเด็กหลอดแก้วทั้ง IVF และ ICSI ในกรณีที่
- คุณแม่อายุมากกว่า 35 ปี
- คุณแม่มีประวัติแท้งซ้ำมากกว่า 2 ครั้ง ในช่วงที่อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์
- คุณแม่มีประวัติแท้ง และตรวจตัวอ่อนพบว่าตัวอ่อนที่แท้งไปมีพันธุกรรมผิดปกติ
- คู่สมรสเคยทำเด็กหลอดแก้ว ไม่ว่าจะเป็น IVF หรือ ICSI มากกว่า 2 ครั้ง แล้วตั้งครรภ์ไม่สำเร็จ
- คู่สมรสทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีพันธุกรรมผิดปกติ หรือทราบว่าเป็นพาหะ
- คู่สมรสเคยมีลูกที่พิการ หรือมีพันธุกรรมผิดปกติ
- มีคนในครอบครัวเป็นโรคทางพันธุกรรม
- คุณพ่อมีอสุจิที่ผิดปกติอย่างรุนแรง
- มีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้ประโยชน์จากสเต็มเซลล์ของทารก เพื่อตรวจดูก่อนว่าตัวอ่อนที่จะย้ายไปเพื่อตั้งครรภ์ มีพันธุกรรมที่สามารถนำสเต็มเซลล์ไปใช้กับคนในครอบครัวที่กำลังป่วยอยู่ได้หรือไม่
ขั้นตอนการตรวจโครโมโซมด้วยเทคนิค NGS
1. เก็บตัวอย่างเซลล์ออกมาจากตัวอ่อน
การเก็บตัวอย่างเซลล์ จะทำเมื่อเพาะเลี้ยงตัวอ่อนได้ประมาณ 5 วัน จนตัวอ่อนเข้าสู่ระยะ Blastocyst เนื่องจากเป็นระยะที่มีเซลล์จำนวนมากพอ และพร้อมที่จะย้ายเข้าสู่โพรงมดลูกแล้ว การเก็บเซลล์ออกมาเพื่อตรวจโครโมโซมจะเก็บออกมาประมาณ 3 – 5 เซลล์ ขั้นตอนนี้จะต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะที่ทันสมัย และต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะหากผิดพลาดอาจทำให้ตัวอ่อนเสียหาย จนโอกาสตั้งครรภ์ลดลงได้
2. เพิ่มจำนวนสารพันธุกรรม
การตรวจโครโมโซมตัวอ่อนด้วยเทคนิค NGS จะต้องใช้สารพันธุกรรมเป็นจำนวนมาก แต่สารพันธุกรรมที่ได้จากเซลล์ตัวอ่อนเพียง 3 – 5 เซลล์นั้นไม่เพียงพอ จึงต้องเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมก่อนจะเข้ากระบวนการ NGS
3. นำไปตรวจด้วยเทคนิค NGS
การตรวจด้วยเทคนิค NGS จะทำโดยแยก DNA หรือ RNA ออกจากกันจนเป็นเบสสายสั้นๆ และเข้ากระบวนการให้สารพันธุกรรมกลับมาต่อกันจนกลายเป็นจีโนม (Genome) หรือ DNA ที่เป็นรูปเกลียว จากนั้นผู้เชี่ยวชาญจะนำข้อมูลของจีโนมไปวิเคราะห์ต่อว่ามีความผิดปกติหรือไม่
สรุป
การตรวจโครโมโซมตัวอ่อนมีประโยชน์มากในเรื่องการตรวจสอบความพิการ และโอกาสที่อาจเกิดภาวะแท้ง แต่การตรวจก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ตัวอ่อนไม่แข็งแรง ดังนั้นการเลือกว่าจะตรวจโครโมโซมตัวอ่อนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง และการตัดสินใจของคุณพ่อคุณแม่เอง
หากยังไม่แน่ใจ สามารถเข้ามาปรึกษากับแพทย์จาก Wellnesshealth Club ได้ เราให้คำปรึกษา พร้อมบริการพิเศษครบวงจรเกี่ยวกับสุขภาพในทุกๆ ด้าน สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สนใจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรักษาผู้มีบุตรยาก และรับบริการสุด Exclusive สามารถเข้ามาติดต่อที่ Wellnesshealth Club ได้โดยตรง
แหล่งอ้างอิง
A beginner’s guide to NGS. Illumina. https://www.illumina.com/science/technology/next-
generation-sequencing/beginners.html#:~:text=Learn%20More-,How%20NGS%20
Works,is%20similar%20to%20capillary%20electrophoresis.
Chromosome testing (Next Generation Sequencing) What is pre-implantation genetic testing
with next generation sequencing?. IVFAustralia. https://www.ivf.com.au/treatments/
preimplantation-genetic-testing-pgt/chromosome-testing-next-generation-sequencing
#:~:text=Next%20generation%20sequencing%20amplifies%20DNA,the%20cells%20from
%20the%20embryo.
Ortiz, J. A. PGD, PGS, CCS and PGT-A: are they all one and the same?. Instituto Bernabeu.
https://www.institutobernabeu.com/en/blog/are-pgd-pgs-and-ccs-all-one-and-the-same/