ตรวจอสุจิคืออะไร? น้ำอสุจิที่ดีควรเป็นอย่างไร? อสุจิไม่แข็งแรงสาเหตุหนึ่งของการมีลูกยาก

ตรวจอสุจิ

การตรวจอสุจิ หรือการวิเคราะห์น้ำเชื้ออสุจิ (Semen Analysis) ในฝ่ายชายคือการตรวจสอบคุณภาพและองค์ประกอบของอสุจิ เพื่อนำไปวินิจฉัยและวางแผนการมีบุตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การตรวจอสุจิยังสามารถบ่งบอกปัญหาของการมีบุตรยากที่เกิดจากฝ่ายชายได้ นอกจากนี้การตรวจวิเคราะห์อสุจิยังเป็นการตรวจเพื่อยืนยันผลสำเร็จหลังจากการทำหมันอีกด้วย

ภาวะมีบุตรยาก นั้นไม่ได้เกิดจากฝ่ายหญิงเสมอไป ในปัจจุบันพบว่าปัญหามีบุตรยากที่มาจากฝ่ายชายนั้นสูงถึง 30-40% ซึ่งการตรวจอสุจิจะช่วยวิเคราะห์หาสาเหตุของการมีลูกยากได้

 

ทำความรู้จักกับอสุจิ

อสุจิคือ

อสุจิ (Sperm) คือเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชาย ที่เกิดขึ้นโดยกระบวนการภายในระบบสืบพันธุ์และถูกขับออกจากร่างกายผ่านการหลั่งทางอวัยวะเพศ เช่น เมื่อถึงจุดสุดยอด หรือการช่วยตัวเอง รวมไปถึงการขับออกมาตามธรรมชาติ ที่เรียกว่า ฝันเปียก (Wet dream) 

โดยปกติแล้วการหลั่งน้ำอสุจิ 1 ครั้ง เฉลี่ยแล้วในคนปกติจะหลั่งออกมาประมาณ 3-4 มิลลิลิตร และมีจำนวนอสุจิเฉลี่ยประมาณ 300-500 ล้านตัว อสุจิมีหน้าที่เดินทางไปยังระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงเพื่อปฏิสนธิกับไข่ หากมีการปฏิสนธิเสร็จสมบูรณ์ก็ทำให้เกิดการตั้งครรภ์

น้ำอสุจิเป็นอย่างไร?

น้ำเชื้อ หรือน้ำอสุจิ (Semen) จะมีสีขาวข้นหรือสีเทา เมื่อมีการหลั่งน้ำอสุจิออกมา น้ำอสุจิจะจับตัวกันเป็นลิ่มทันที หลังจากนั้นประมาณ 5-40 นาที น้ำอสุจิจะค่อยๆ กลายเป็นของเหลว อสุจิที่ไม่จับตัวกันหรือมีลักษณะเหลวอาจมีสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติของภาวะเจริญพันธุ์ได้

โดยปกติแล้วน้ำอสุจิจะมีปริมาณอยู่ที่ 1.5-7.6 มิลลิลิตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถี่ในการหลั่ง ผู้ที่มีการหลั่งอสุจิบ่อยอาจทำให้ปริมาณน้ำอสุจิลดน้อยลง และผู้ที่หลั่งนานๆ ครั้งอาจทำให้น้ำอสุจิมีปริมาณมาก แต่ถ้าหากมีน้ำอสุจิต่ำกว่า 1.5 มิลลิลิตร อาจมีภาวะน้ำอสุจิน้อยกว่าปกติ (Hypospermia) ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้

น้ำอสุจิประกอบด้วย 2 ส่วนคือ 

  1. ส่วนที่เป็นเซลล์ ได้แก่ ตัวอสุจิ (Spermatozoa) เซลล์เยื่อบุ และเม็ดเลือดขาว
  2. ส่วนที่เป็นของเหลว (Seminal fluid) ซึ่งจะมีสารต่างๆ ที่หล่อเลี้ยงตัวอสุจิ เช่น สังกะสี (Zinc) ฟลาวีน (Flavine) กรดซิตริค (Citric Acid) เป็นต้น

สีของอสุจิบ่งบอกโรคอะไรได้บ้าง

  • สีชมพูหรือน้ำตาลแดง อาจเกิดจากการปะปนของเลือดหรือการอักเสบที่มาจากปัญหาสุขภาพและส่งผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้หลอดเลือดเสียหายและมีเลือดไหลออกมาปะปนกับน้ำอสุจิ
  • สีเหลือง ปนเขียว อาจเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อของต่อมลูกหมาก หรือภาวะเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ (Leukocytospermia) รวมไปถึงการมีสารตกค้างในน้ำอสุจิ

การตรวจอสุจิ ตรวจอะไรบ้าง

การตรวจอสุจิจะช่วยประเมินคุณภาพของน้ำอสุจิ ที่ส่งผลต่ออัตราการตั้งครรภ์ โดยจะตรวจอสุจิหลักๆ ดังนี้

  • ปริมาณน้ำอสุจิ (Volume) และ จำนวนตัวอสุจิ (Number of sperm)

การตรวจอสุจิจะช่วยวิเคราะห์ความผิดปกติของปริมาณน้ำอสุจิ และจำนวนตัวอสุจิที่อาจเกิดจากท่อนำอสุจิตีบตัน ทำให้อัณฑะมีการสร้างอสุจิน้อย หรือไม่มีการสร้างตัวอสุจิเลย

  • รูปร่างของอสุจิ (Shape of sperm)

การตรวจอสุจิจะช่วยวิเคราะห์รูปร่างของอสุจิ โดยตัวอสุจิที่มีรูปร่างผิดปกติจะส่งผลต่อการปฏิสนธิกับไข่

  • การเคลื่อนไหวของอสุจิ (Sperm Motility)

การตรวจอสุจิจะช่วยวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของอสุจิ หากพบว่าอสุจิมีการเคลื่อนที่ไม่ดี จะเกิดปัญหาทำให้ไม่สามารถว่ายผ่านปากมดลูกเพื่อไปพบกับไข่ในท่อนำไข่ของฝ่ายหญิงได้

ใครบ้างที่ควรตรวจอสุจิ

สำหรับคู่สมรสที่ต้องการวางแผนการมีบุตร ฝ่ายชายควรเข้ารับการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ เพราะจะช่วยบ่งบอกถึงคุณภาพอสุจิได้ อีกทั้งยังช่วยหาสาเหตุของการมีบุตรยากได้ด้วย 

  • ฝ่ายชายที่ไม่สามารถทำให้คู่ครองตั้งครรภ์ได้ หรือผู้ที่พยายามมีบุตร แต่ไม่สำเร็จ ควรเข้ารับการตรวจอสุจิเพราะปัญหามีลูกยากอาจเกิดจากฝ่ายชาย
  • เมื่อเริ่มเข้าสู่อายุ 30 ปี เนื่องจากน้ำอสุจิจะเริ่มมีคุณภาพลดลงเมื่ออายุหลัง 30 ปีขึ้นไป
  • ภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ (Hypogonadism) หรือภาวะฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำ จะส่งผลต่อการสร้างเชื้ออสุจิ ปริมาณอสุจิน้อย
  • มีการบาดเจ็บที่ลูกอัณฑะ เช่น การทำหมัน การฉายรังสี การทำเคมีบำบัด และแผลบาดเจ็บ
  • การติดเชื้อที่ลูกอัณฑะ 
  • มีภาวะโรคแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน ที่จะทำลายระบบประสาท อาจเป็นสาเหตุของการหลั่งน้ำอสุจิ
  • ผู้ที่มีโรคร้ายแรงที่อาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ เช่น โรคหนองใน โรคเริมอวัยวะเพศ ต่อมลูกหมากอักเสบ โรคคางทูม โรคตับ โรคไต และโรคเม็ดเลือดขาวรูปเคียว (Sickle cell anemia)
  • มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ เช่น การหลั่งเร็ว การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • เคยผ่าตัดต่อมลูกหมากโต และทำหมันด้วยการผ่าตัดเพื่อผูกท่อนำอสุจิ

ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการสร้างอสุจิ

การใช้ชีวิตประจำก็อาจมีผลต่อการสร้างอสุจิ และคุณภาพของอสุจิ ดังนี้

  • ผู้ชายที่มีกิจวัตรในชีวิตประจำวันเสี่ยงต่อการมีคุณภาพอสุจิไม่แข็งแรง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติด สิ่งเหล่านี้จะทำให้การสร้างตัวอสุจิน้อยลง
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก มีรอบเอวใหญ่ จะทำให้มีปริมาณน้ำเชื้อและจำนวนตัวอสุจิน้อย
  • การออกกำลังกายที่หักโหมมากเกินไปจะทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำ ส่งผลให้การผลิตอสุจิลดลง
  • สารเคมีบางชนิดที่เข้าสู่ร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ยาฆ่าแมลง ตะกั่ว ทองแดง
  • มีการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยา Phenytoin และ ยา Cimetidine
  • ขาดสารอาหารในผัก ผลไม้ เช่น กรดโฟลิก (Folic Acid) พบมากในผักใบเขียว สารไลโคปีน (Lycopene) พบมากในมะเขือเทศ
  • การอาบน้ำร้อนบ่อยๆ

การตรวจอสุจิมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

ขั้นตอนการตรวจอสุจิ

การตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ (Semen Analysis) เป็นการตรวจหาปริมาณ และคุณลักษณะของน้ำอสุจิ เช่น การเคลื่อนไหว ความผิดปกติของรูปร่างอสุจิ เพื่อหาสาเหตุของการมีบุตรยากในผู้ชาย โดยการตรวจอสุจิมี 2 ขั้นตอน ดังนี้

1. การตรวจอสุจิดูด้วยตาเปล่า (Macroscopic Examination) เป็นการตรวจเพื่อดูลักษณะทั่วไปของอสุจิ ได้แก่ 

  • สีน้ำอสุจิโดยรวม
  • ความขุ่นใสของน้ำอสุจิ 
  • ความหนืด (Viscosity) 
  • การละลายตัว (Liquefaction) 
  • ปริมาตรของน้ำอสุจิ (Volume) 

2. การตรวจอสุจิดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscopic Examination) เป็นการตรวจดูอสุจิโดยละเอียด ดังนี้

  • จำนวนตัวอสุจิทั้งหมด (Total sperm count in ejaculate) 
  • ความเข้มข้นของอสุจิ (Sperm concentration) 
  • อัตราการเคลื่อนไหวของอสุจิ (Sperm motility) 
  • อัตราการมีชีวิตรอดของอสุจิ (Vitality)
  • รูปร่างของอสุจิ (Sperm morphology) 
  • เม็ดเลือดขาว และเม็ดเลือดแดง

การเตรียมตัวสำหรับการตรวจเก็บเชื้ออสุจิ

ขั้นตอนการเตรียมตัวสำหรับการเก็บน้ำเชื้ออสุจิ มีดังนี้

  1. ก่อนวันตรวจอสุจิควรงดการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงงดหลั่งอสุจิประมาณ 3-7 วัน
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ
  3. เมื่อเข้าสู่กระบวนการเก็บน้ำเชื้ออสุจิ จะเก็บน้ำเชื้อจากการช่วยตัวเอง (Masturbation) ในห้องพิเศษที่จัดเตรียมไว้
  4. ล้างมือและอวัยวะเพศให้สะอาด พร้อมเช็ดให้แห้งก่อนการเก็บน้ำอสุจิ 
  5. ทางคลินิกหรือศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก จะให้ภาชนะที่สะอาด ปราศจากเชื้อโรคไว้สำหรับเก็บน้ำอสุจิโดยเฉพาะ
  6. เมื่อเก็บเชื้ออสุจิได้แล้ว ปิดภาชนะให้สนิท ห้ามแช่น้ำแข็ง หรือใส่ตู้เย็น
  7. นำส่งห้องปฏิบัติการทันที เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์คุณภาพอสุจิ

คำแนะนำ : ไม่ควรเก็บน้ำเชื้ออสุจิโดยใช้ถุงยางอนามัย เพราะถุงยางอนามัยมีสารหล่อลื่นที่สามารถทำลายตัวอสุจิตายได้

ผลตรวจอสุจิที่ดีควรเป็นอย่างไร

อสุจิแข็งแรงดูยังไง

อสุจิแข็งแรงดูยังไง? อสุจิที่ดี มีคุณภาพ เคลื่อนไหวเร็ว จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์มากขึ้น โดยอสุจิที่ดีสามารถดูได้จากผลตรวจอสุจิดังนี้ 

1. ความหนืด (Viscosity) 

เมื่อทำการหยดไม่ควรยืดยาวเกิน 2 เซนติเมตร เพราะจะมีผลต่อการเคลื่อนที่ของอสุจิ

2. ความเป็นกรดด่างของน้ำอสุจิ (pH) 

น้ำอสุจิที่ดีควรมีค่าความเป็นด่างอ่อนๆ หรือควรมีค่า pH มากกว่า 7.2

3. การละลายตัว (Liquefaction) 

การละลายตัวของน้ำอสุจิที่ดี ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง

4. ปริมาตรของน้ำอสุจิ (Volume) 

โดยปกติแล้วการหลั่งน้ำอสุจิ 1 ครั้ง ควรมีปริมาณ 1.5-7.6 มิลลิลิตร 

5. จำนวนตัวอสุจิทั้งหมด (Total sperm count in ejaculate) 

ตามปกติจำนวนอสุจิควรมีอย่างน้อย 39-928 ล้านตัว แต่อสุจิที่ดีควรอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 300-500 ล้านตัว

6. ความเข้มข้นของอสุจิ (Sperm concentration) 

ควรมีอย่างน้อย 15-259 ล้านตัว ต่อ 1 มิลลิลิตร

7. อัตราการเคลื่อนไหวของอสุจิ (Sperm motility) 

ปกติแล้วควรมีตัวอสุจิที่สามารถเคลื่อนที่ทั้งหมดได้ประมาณ 40%-81% 

8. อัตราการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าของอสุจิ (Sperm Progressive Motility) 

อสุจิที่ดีควรมีอสุจิที่เคลื่อนที่ได้เร็ว เป็นเส้นตรงไปข้างหน้า อย่างน้อย 32%

9. อัตราการมีชีวิตรอดของอสุจิ (Vitality) 

ปกติแล้วอสุจิควรมีชีวิตรอดมากกว่า 58% ขึ้นไป

10. รูปร่างของอสุจิ (Sperm morphology) 

อสุจิที่ดีควรมีรูปร่างที่ปกติประมาณ 4-48%

11. จำนวนเม็ดเลือดขาว (WBC) 

อสุจิที่ดีควรมีจำนวนเม็ดเลือดขาวไม่เกิน 1 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร หากมีจำนวนเกินอาจแสดงถึงการติดเชื้อ

12. จำนวนเม็ดเลือดแดง (RBC) 

อสุจิที่ดีควรมีจำนวนเม็ดเลือดแดงน้อยกว่า 1 ล้านตัวต่อมิลลิตร หากมีมากเกินอาจเกิดการติดเชื้อ หรือบาดเจ็บหลังการหลั่งน้ำอสุจิ

ผลตรวจอสุจิที่อาจจะทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้

ผลตรวจอสุจิที่ผิดปกติ จะมีปัญหาในเรื่องการเข้าถึงไข่ของตัวอสุจิ ทำให้ตัวอสุจิเจาะเซลล์ไข่ของผู้หญิงได้ยาก เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก ผลตรวจอสุจิที่อาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ มีดังนี้

  • ปริมาณอสุจิ และตัวอสุจิน้อย ไม่ผ่านเกณฑ์
  • คุณภาพอสุจิไม่ผ่านเกณฑ์ เช่น อสุจิเคลื่อนที่ไม่ดี มีรูปร่างผิดปกติ
  • มีฮอร์โมนเพศต่ำ ทำให้ลูกอัณฑะไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างปกติ

หากพบความผิดปกติของการตรวจเชื้ออสุจิ อาจจะต้องทำการวินิจฉัยเพิ่ม รวมทั้งวิเคราะห์ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองและอัณฑะที่มีผลต่อการสร้างอสุจิ  ในบางกรณีอาจจะต้องตรวจโครโมโซมเพิ่มเติมด้วย

สำหรับผู้ที่พบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับอสุจิ หรือผลตรวจอสุจิ สามารถเข้ามาปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ Wellnesshealth Club ได้

คำถามที่พบบ่อย

เชื้ออสุจิน้อยสามารถมีบุตรได้ไหม

น้ำอสุจิน้อย หรือไม่ผ่านเกณฑ์สามารถท้องได้ แต่อาจจะไม่ใช่วิธีธรรมชาติ เนื่องจากการจะตั้งครรภ์ได้ ฝ่ายชายควรมีจำนวนอสุจิที่หลั่งไปที่ช่องคลอด อย่างน้อย 10-15 ล้านตัว จึงจะเพียงพอต่อการเข้าไปปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ได้

ถ้าหากอยากมีบุตรสามารถใช้วิธีผสมเทียม หรือทำเด็กหลอดแก้ว IVF หรือ ICSI ได้ เพราะการทำเด็กหลอดแก้วนั้นจะใช้วิธีการปฏิสนธิภายนอก ซึ่งมีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากกว่าการปฏิสนธิแบบธรรมชาติ 

เป็นหมันสามารถมีบุตรได้ไหม

เป็นหมันสามารถมีบุตรได้ โดยการทำ PESA / TESE เนื่องจากเป็นการเก็บอสุจิโดยตรงจากอัณฑะ ทำให้สามารถเก็บตัวอสุจิได้ และยังเหมาะกับผู้ที่ทำหมันด้วยการตัดและผูกท่อนำอสุจิทั้ง 2 ข้าง 

อสุจิปริมาณเท่าไหร่ถึงท้องได้

การตั้งครรภ์จากการมีเพศสัมพันธ์ด้วยวิธีธรรมชาติ ต้องมีตัวอสุจิที่หลั่งไปในช่องคลอดอย่างน้อย 10-15 ล้านตัว ถึงจะเพียงพอที่จะเข้าไปปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ได้

สรุป

การตรวจอสุจิจะช่วยตรวจดูความผิดปกติของอสุจิในฝ่ายชายได้ เพื่อประเมินความสามารถในการมีบุตร หรือช่วยวิเคราะห์ปัญหาการมีบุตรยาก เนื่องจากภาวะมีบุตรยากนั้นไม่ได้เกิดจากฝ่ายหญิงเพียงฝ่ายเดียว การเข้ามาตรวจอสุจิจะทำให้ทราบสาเหตุการมีบุตรยากได้อย่างแท้จริง นอกเหนือจากนี้การตรวจอสุจิสามารถช่วยวางแผนการมีบุตรในอนาคตได้

Wellnesshealth Club เราพร้อมให้คำปรึกษาและหาวิธีป้องกันพฤติกรรมที่อาจเป็นความเสี่ยงต่อการมีบุตรของท่าน โดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญด้านการช่วยเจริญพันธุ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว 

แหล่งอ้างอิง

Chertoff J. (2018, August 29). What Is a Normal Sperm Count?. Healthline. https://www.healthline.com/health/mens-health/normal-sperm-count

Johnson S. (2017, July 2). Semen Analysis and Test Results. Healthline. https://www.healthline.com/health/semen-analysis#abnormal-results