เด็กหลอดแก้ว เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อัตราความสำเร็จสูง คืออะไร? มีวิธีการทำอย่างไร?

เด็กหลอดแก้ว

เด็กหลอดแก้ว (หรือที่เรียกว่าเด็กในหลอดแก้ว, ทารกหลอดแก้ว, และลูกหลอดแก้ว) เป็นวิธีการแก้ปัญหาสำหรับ ผู้มีบุตรยาก(Infertility)  รูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีข้อจำกัดน้อยกว่าเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อื่นๆ  ทำให้คู่รักที่มีภาวะมีบุตรยาก จากทั้งฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง หรือทั้งสองฝ่ายสามารถมีบุตรได้ ถึงแม้จะทำหมันแล้วก็ยังสามารถตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วได้เช่นเดียวกัน

ในบทความนี้ เราจะมาพูดกันเรื่องเกี่ยวกับเด็กหลอดแก้ว ว่าเด็กหลอดแก้วคืออะไร มีกี่วิธี ขั้นตอนในการทำมีอะไรบ้าง การเตรียมตัวก่อนการทำเด็กหลอดแก้ว ต้องทำอย่างไร มีโอกาสสำเร็จมากน้อยแค่ไหน 

พร้อมทั้งตอบคำถามทุกข้อเกี่ยวกับเด็กหลอดแก้ว โดยแพทย์จากคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก และส่งเสริมสุขภาพสตรี ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก ที่แนะนำประสานงานโดย โรงพยาบาลบีเอ็นเอช (BNH Hospital)

Wellness Health Club คลับของคนรักสุขภาพ เรามอบการดูแลสุขภาพให้แก่ผู้ที่ต้องการมีอิสระในการใช้ชีวิต ให้คุณได้รับบริการการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดในทุกๆ ด้าน

สารบัญบทความ

เด็กหลอดแก้ว เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน

เด็กหลอดแก้ว คืออะไร?

ทำไมถึงต้องทำเด็กหลอดแก้ว?

เด็กหลอดแก้ว คือการผสมแบบใด?

IVF ต่างจาก ICSI อย่างไร?

การทำเด็กหลอดแก้ว ราคาเท่าไร?

โอกาสสำเร็จมากแค่ไหนสำหรับ เด็กหลอดแก้ว (Success Rate)

การเตรียมตัวสำหรับการทำเด็กหลอดแก้ว

วิธีทำเด็กหลอดแก้ว มีกี่ขั้นตอน อะไรบ้าง?

ข้อดีของการทำเด็กหลอดแก้ว

ข้อจำกัดในการทำเด็กหลอดแก้ว

ทำเด็กหลอดแก้ว ที่ไหนดี?

 คำถามที่พบบ่อยจากคนไข้

 สรุป

เด็กหลอดแก้ว เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน

“เด็กหลอดแก้ว” โดยทั่วไปจะหมายถึงเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ IVF (In-Vito Fertilization) ซึ่งเป็นวิธีการปฏิสนธิภายนอก และเพาะเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ เมื่อตัวอ่อนพร้อมฝังตัว จึงย้ายเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อเจริญเป็นทารกต่อไป

ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีการทำเด็กหลอดแก้วที่เรียกว่าอิ๊กซี่ (ICSI หรือ Intracytoplasmic Sperm Injection) ด้วย ซึ่งเป็นวิธีการที่คล้ายกับ IVF ต่างกันเพียงวิธีการปฏิสนธิเท่านั้น

การทำเด็กหลอดแก้ว จะมีราคาถูกกว่าเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์วิธีอื่นๆ ซึ่งการทำเด็กหลอดแก้วราคาจะอยู่ที่ประมาณ 454,000 – 630,000 บาท ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีเสริมที่แพทย์แนะนำให้ทำควบคู่ไปด้วย

เด็กหลอดแก้ว คืออะไร?

 ivfคือ

เด็กหลอดแก้ว คือเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์รูปแบบหนึ่ง เพื่อแก้ปัญหามีบุตรยากทั้งที่เกิดจากทางฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดยวิธีการทำเด็กหลอดแก้ว จะทำโดยการนำเซลล์ไข่จากฝ่ายหญิง (Oocyte) และเซลล์อสุจิจากฝ่ายชาย (Sperm) มาผสมกันในห้องปฏิบัติการให้เป็นตัวอ่อน

เมื่อตัวอ่อนเข้าสู่ระยะที่เหมาะสมแล้ว จึงจะย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวและเจริญเป็นทารกต่อไป

การทำเด็กหลอดแก้วในปัจจุบันมี 2 วิธีการหลัก คือการทำ IVF และการทำ ICSI ซึ่งทั้งสองวิธี เป็นการนำเซลล์ไข่และเซลล์อสุจิมาผสมในห้องปฏิบัติการเหมือนกัน ต่างกันเพียงวิธีการทำให้เซลล์ทั้งสองปฏิสนธิกันเท่านั้นการทำ ICSI จะมีราคาค่าบริการสูงกว่าเล็กน้อย แต่ก็สามารถแก้ปัญหาการมีบุตรยากได้จากหลายสาเหตุมากกว่าการทำ IVF 

คู่รักหลายคู่ที่ต้องการมีลูก แต่มีปัญหามีบุตรยาก มักจะกังวลถึงผลของการทำเด็กหลอดแก้ว กลัวว่าการที่เด็กปฏิสนธิและเจริญเป็นตัวอ่อนนอกร่างกายของคุณแม่ จะเป็นเด็กที่ผิดปกติ ทั้งด้านพัฒนาการ และความพิการที่อาจเกิดขึ้นในร่างกายหรือ?

ในความเป็นจริงแล้ว การตั้งครรภ์ตามธรรมชาติก็สามารถทำให้ทารกเกิดความผิดปกติต่างๆ ขึ้นได้เช่นกัน และอัตราการเกิดความผิดปกติดังกล่าวนี้ ไม่ต่างจากอัตราการเกิดความผิดปกติของทารกที่เกิดจากการทำเด็กหลอดแก้วเลย

กล่าวคือการทำเด็กหลอดแก้ว ไม่ได้มีผลทำให้เด็กผิดปกติ ทั้งด้านพัฒนาการ และความพิการแต่อย่างใด

จริงๆ แล้ว คู่รักที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่อาจส่งผลให้ลูกผิดปกติด้วยได้นั้น แพทย์มักจะแนะนำให้ทำเด็กหลอดแก้วมากกว่าการปฏิสนธิตามธรรมชาติ เพราะการทำเด็กหลอดแก้ว สามารถตรวจโครโมโซมตัวอ่อนก่อนย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกได้ ดังนั้นทารกที่จะเกิดมาจึงมาจากตัวอ่อนที่มีโครโมโซมปกติ และมีโอกาสเกิดความผิดปกติด้านต่างๆ ได้น้อยลงนั่นเอง

ทำไมถึงต้องทำเด็กหลอดแก้ว?

ทำลูก

เพราะการทำเด็กหลอดแก้ว ช่วยแก้ปัญหาภาวะมีบุตรยากจาก

  1. ฝ่ายชายมีน้ำเชื้อน้อย คุณภาพน้ำเชื้อไม่ดี ทั้งเรื่องรูปร่าง การเคลื่อนไหว และประสิทธิภาพในการเจาะเซลล์ไข่
  2. ฝ่ายชายมีปัญหาท่อนำไข่อุดตัน
  3. ฝ่ายหญิงมีอายุ 35 ปีขึ้นไป ทำให้คุณภาพของเซลล์ไข่และรังไข่ไม่ดี ผนังเซลล์ไข่หนาเกินไป หรือเซลล์ไข่ไม่สามารถพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนได้
  4. ฝ่ายหญิงระบบสืบพันธุ์และฮอร์โมนที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ มีก้อนเนื้อในมดลูก ท่อนำไข่ตัน ภาวะตกไข่ผิดปกติ หรือทำให้ไข่ไม่ตก ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ
  5. คู่รักที่ทำหมันแล้ว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย ด้วยวิธีการทำให้ท่อนำไข่หรือท่อนำน้ำอสุจิอุดตัน หากเป็นหมันจากการตัดมดลูก ตัดรังไข่ทั้งสองข้าง หรือตัดลูกอัณฑะด้วยเหตุผลบางประการ จะไม่สามารถทำเด็กหลอดแก้วได้

ทำไมต้องทำเด็กหลอดแก้ว? เพราะไม่ใช่คู่รักทุกคู่ ที่สามารถมีลูกได้ด้วยวิธีการปฏิสนธิตามธรรมชาติ จากทั้งการมีเพศสัมพันธ์ตามปกติ หรือการฉีดเชื้อผสมเทียม (IUI หรือ Intra – Uterine Insemination) การทำเด็กหลอดแก้ว จึงเป็นทางเลือกของคู่รักที่เซลล์ไข่ และเซลล์อสุจิไม่สามารถผสมกันได้ตามปกติ

การปฏิสนธิตามปกตินั้น จะเริ่มจากการที่ฝ่ายหญิงเข้าสู่ช่วงไข่ตก เซลล์ไข่ของฝ่ายหญิงจะตกออกมาจากรังไข่ และเคลื่อนที่มาเรื่อยๆ จนอยู่ในบริเวณท่อนำไข่ หากมีเพศสัมพันธ์ หรือมีการฉีดเชื้อผสมเทียมในช่วงเวลาดังกล่าว จะทำให้มีโอกาสที่อสุจิของฝ่ายชาย เคลื่อนที่ไปหาเซลล์ไข่ที่ท่อนำไข่ เกิดการปฏิสนธิในบริเวณดังกล่าว และเกิดเป็นตัวอ่อนขึ้นมา จากนั้นตัวอ่อนจะเคลื่อนที่ลงมาที่โพรงมดลูก ก่อนจะฝังตัวและเจริญเป็นทารกในครรภ์

ปัจจัยการมีบุตรยากที่เกิดจากผู้ชาย อย่างเช่นการมีน้ำเชื้อน้อยเกินไป การเคลื่อนไหวของอสุจิผิดปกติ หรือรูปร่างของอสุจิผิดปกติ ทำให้อสุจิไม่สามารถว่ายเข้าหาเซลล์ไข่ที่อยู่บริเวณท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิ หรือไม่สามารถเจาะเซลล์ไข่เข้าไปเพื่อปฏิสนธิได้ ทั้งยังอาจเกิดจากท่อนำน้ำอสุจิอุดตันได้ด้วย

ส่วนปัจจัยการมีบุตรยากที่เกิดจากฝ่ายหญิง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของคุณภาพไข่ที่แย่ลงเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี จนปฏิสนธิไม่สำเร็จ อาจเกิดจากท่อนำไข่อุดตันจนไข่ตกตามปกติไม่ได้ ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ หรือโพรงมดลูกอาจไม่รองรับการฝังตัวของตัวอ่อน จนไม่สามารถตั้งครรภ์ได้

เมื่อเกิดปัญหาเหล่านี้ แพทย์จะแนะนำให้ทำเด็กหลอดแก้ว ที่สามารถทำให้เกิดการปฏิสนธิได้ แม้อสุจิจะรูปร่างไม่ดี จำนวนน้อย มีปัญหาเรื่องการเจาะไข่ หรือเซลล์ไข่คุณภาพไม่ดี ผนังเซลล์ไข่หนาเกินไป และท่อนำไข่อุดตัน

และเนื่องจากการทำเด็กหลอดแก้ว แพทย์จะนำอสุจิ และเซลล์ไข่ออกมาจากร่างกายเพื่อปฏิสนธิภายนอกร่างกายอยู่แล้ว โดยไม่ต้องอาศัยท่อนำน้ำอสุจิและท่อนำไข่ ทำให้นอกจากจะแก้ปัญหามีบุตรยากแล้ว ผู้ที่ทำหมันแล้วก็ยังสามารถทำเด็กหลอดแก้วเพื่อตั้งครรภ์ได้ โดยไม่ต้องแก้หมันอีกด้วย

หมายเหตุ : คู่รักที่สามารถทำเด็กหลอดแก้วได้ จะต้องเป็นคู่ที่มีทะเบียนสมรสเท่านั้น ด้วยเหตุผลทางด้านกฎหมาย

เด็กหลอดแก้ว คือการผสมแบบใด?

เด็กหลอดแก้ว คือการผสมแบบการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย คือแพทย์จะนำเซลล์ไข่และอสุจิออกมาภายนอกร่างกายและทำให้เกิดการปฏิสนธิภายนอก เพื่อแก้ปัญหาที่เซลล์ไข่และเซลล์อสุจิไม่สามารถผสมกันภายในได้ตามปกติจากหลายสาเหตุ

ทั้งผนังเซลล์ไข่หนา, เซลล์ไข่บางเซลล์คุณภาพไม่ดีจากอายุของฝ่ายหญิงที่มากขึ้น, น้ำอสุจิของฝ่ายชายมีน้อย, ตัวอสุจิไม่สมบูรณ์และมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว, หรือไม่สามารถเจาะไข่ได้ ปัญหาทั้งหมดนี้สามารถแก้ไขด้วยการทำเด็กหลอดแก้วได้ ซึ่งการผสมแบบปฏิสนธิภายนอกแบบนี้ สามารถเพิ่มโอกาสปฏิสนธิให้มากขึ้นถึง 50 – 80%

IVF ต่างจาก ICSI อย่างไร?

ทำเด็กหลอดแก้ว

ทั้ง IVF และ ICSI ล้วนเป็นเทคนิคการทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งทั้งสองวิธีจะมีขั้นตอนการทำคล้ายกัน คือจะเริ่มจากการกระตุ้นให้ไข่ตก เก็บไข่จากฝ่ายหญิง และเก็บน้ำเชื้อฝ่ายชาย จากนั้นจะนำไปเข้ากระบวนการปฏิสนธิ เมื่อเป็นตัวอ่อน ก็จะย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก จากนั้นจะตรวจการตั้งครรภ์ และเข้ากระบวนการฝากครรภ์ตามปกติต่อไป

แล้ว IVF ต่างจาก ICSI อย่างไร? ส่วนที่ต่างกันคือขั้นตอนในกระบวนการปฏิสนธิ

การทำ IVF คือกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วที่จะทำโดยการคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงมาจำนวนหนึ่ง และคัดเลือกเซลล์ไข่มา 1 เซลล์ แล้วจึงนำเซลล์ไข่ 1 เซลล์ และอสุจิที่แข็งแรงหลายตัว มาไว้ในพื้นที่เดียวกัน จากนั้นจะปล่อยให้อสุจิเจาะเซลล์ไข่เข้าไปปฏิสนธิเองตามธรรมชาติ

ในขณะที่การทำ ICSI คือกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว ที่จะคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงที่สุดเพียง 1 ตัว และเซลล์ไข่ 1 เซลล์ มาผสมกันโดยการนำอสุจิ ใส่ไว้ที่ปลายเข็มขนาดเล็กแล้วใช้เข็มฉีดอสุจิเข้าที่เซลล์ไข่โดยตรง เพื่อเพิ่มโอกาสเกิดการปฏิสนธิ

ซึ่งการทำเด็กหลอดแก้ว IVF และ ICSI มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป IVF เป็นเทคนิคที่มีค่าบริการการทำถูกกว่าและเซลล์ไข่ไม่เสี่ยงเสียหายในขั้นตอนการทำ แต่ก็มีข้อเสียคือโอกาสปฏิสนธิอาจจะน้อยกว่าการทำ ICSI หากเซลล์ไข่คุณภาพไม่ดี

ส่วนการทำ ICSI โดดเด่นที่โอกาสการปฏิสนธิสำเร็จมีสูงมาก แต่เซลล์ไข่ก็เสี่ยงเสียหายจนไม่เกิดการปฏิสนธิได้เช่นกัน หากมีข้อผิดพลาดในขั้นตอนการฉีดอสุจิเข้าสู่ไข่

ปัญหาการมีบุตรยากของคู่รักแต่ละคู่แตกต่างกันไป แพทย์จะพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้น และเลือกเทคนิคการทำเด็กหลอดแก้วที่เหมาะสมที่สุดให้กับคู่รักแต่ละคู่ต่อไป

การทำกิฟต์ (GIFT) คืออะไร? ต่างจากการทำเด็กหลอดแก้วอย่างไร? : ทำกิฟต์ (GIFT) หนึ่งวิธีช่วยในการมีบุตรที่นิยมในอดีต

การทำเด็กหลอดแก้ว ราคาเท่าไร?

 เด็กหลอดแก้วราคา

ทำเด็กหลอดแก้วที่ BDMS Wellness Club ครั้งหนึ่ง ค่าใช้จ่ายจะเริ่มต้นที่ประมาณ 400,000 บาท ขึ้นอยู่กับรายละเอียดขั้นตอนในการทำ ได้แก่

  • การตรวจความพร้อมก่อนการทำเด็กหลอดแก้ว – หากมีการตรวจพันธุกรรมของคุณพ่อคุณแม่ (PCR) นอกเหนือจากการตรวจร่างกายทั่วไป ราคาก็จะสูงขึ้น กรณีนี้แพทย์จะแนะนำให้ตรวจในกรณีที่สงสัยว่าเป็นโรคทางพันธุกรรม หรือเป็นพาหะของโรคทางพันธุกรรม
  • ยาที่ใช้สำหรับการกระตุ้นไข่ และกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกก่อตัว – คุณแม่บางรายมีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน อาจจะต้องใช้ยาแตกต่างจากกรณีปกติ ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
  • เทคนิคที่ใช้ในการปฏิสนธิ – สถานพยาบาลบางแห่ง ค่าบริการการทำ IVF และ ICSI จะไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่การทำ ICSI จะราคาสูงกว่า
  • การแช่แข็งไข่ อสุจิ และตัวอ่อน – ในกรณีที่ต้องการทำเด็กหลอดแก้ว แต่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ด้วยร่างกายอาจจะยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ หรืออาจจะยังไม่พร้อมมีบุตรด้วยเหตุผลด้านการวางแผนครอบครัว ก็สามารถเลือกแช่แข็งเซลล์ไข่ น้ำเชื้อ หรือตัวอ่อนที่ผ่านการปฏิสนธิแล้วได้ เมื่อพร้อมตั้งครรภ์ก็จะนำมาละลายด้วยเทคนิคเฉพาะ และนำมาปฏิสนธิหรือย้ายเข้าโพรงมดลูกได้โดยที่คุณภาพไม่ลดลง
  • วิธีการเก็บอสุจิ – โดยปกติแพทย์จะเก็บอสุจิโดยการให้คุณพ่อหลั่งออกมาด้วยตัวเองตามปกติ แต่ในกรณีที่ผ่านการทำหมันมา มีน้ำเชื้อน้อยเกินไป หรือมีตัวอสุจิในน้ำเชื้อน้อยเกินไป แพทย์จะเก็บอสุจิจากท่อพักน้ำเชื้อ (PESA หรือ Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration) หรือจากเนื้อเยื่ออัณฑะโดยตรง (TESE หรือ Testicular Epididymal Sperm Extraction)
  • การรักษาปัญหามีบุตรยากก่อนการตั้งครรภ์ – อย่างเช่นการขูดมดลูก หรือการผ่าตัดรักษาปัญหาเกี่ยวกับมดลูก จะต้องคิดค่าบริการแยกจากค่าบริการทำเด็กหลอดแก้ว

โอกาสสำเร็จมากแค่ไหนสำหรับ เด็กหลอดแก้ว (Success Rate)

โอกาสการตั้งครรภ์สำเร็จจากการทำเด็กหลอดแก้ว มีประมาณ 40% และสามารถมากขึ้นได้หากดำเนินการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนที่มีประสบการณ์สูง เพราะโอกาสสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่

  • คุณภาพของไข่และอสุจิ – หากคุณภาพของไข่และอสุจิไม่ดี ก็มีโอกาสที่จะไม่เกิดการปฏิสนธิ แม้จะเป็นการทำ ICSI ที่จะฉีดอสุจิเข้าสู่ไข่โดยตรง ก็มีโอกาสที่ไข่และอสุจิจะไม่ปฏิสนธิและแบ่งเซลล์เป็นตัวอ่อนได้เช่นกัน
  • อายุของคุณแม่ – หากคุณแม่อายุมาก ก็จะทำให้โอกาสปฏิสนธิลดลง
    1. คุณแม่อายุน้อยกว่า 35 ปี โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จจะอยู่ที่ 34.8% 
    2. คุณแม่อายุ 35-39 ปี โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จจะอยู่ที่ 26.5%
    3. คุณแม่อายุมากกว่า 40 ปี โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จอยู่ที่ 11.4%

ซึ่งโอกาสการตั้งครรภ์สำเร็จที่ลดลงเหล่านี้มักเกิดจากการที่เซลล์ไข่คุณภาพลดลง และเกิดจากภาวะมดลูกเสื่อมจากอายุที่มากขึ้น แต่ผู้ที่ตั้งใจจะมีบุตรเมื่ออายุมากแล้ว สามารถเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำเร็จได้จากการฝากไข่ตั้งแต่อายุยังน้อย

  • ขั้นตอนการปฏิสนธิและเพาะเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ – หากห้องปฏิบัติการไม่ได้มาตรฐาน หรือนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนไม่เชี่ยวชาญมากพอ จะทำให้โอกาสปฏิสนธิลดลง เซลล์ไข่หรือตัวอ่อนเสียหายจนคุณภาพไม่ดี ทำให้โอกาสการตั้งครรภ์สำเร็จลดลงไปด้วยได้
  • การปฏิบัติตัวหลังการย้ายตัวอ่อน – หากคุณแม่ดูแลตนเองไม่ดีจะมีผลกับการฝังตัวของตัวอ่อน หากตัวอ่อนไม่ฝังตัวที่โพรงมดลูก ก็จะไม่เกิดการตั้งครรภ์

อ่านเพิ่มเกี่ยวกับการฝากไข่ เรื่องที่ควรทำสำหรับผู้ที่ต้องการมีบุตรในช่วงอายุมากกว่า 30 ปี :  ฝากไข่ (Egg Freezing) อีกหนึ่งหนทางสำหรับผู้หญิงที่ยังไม่พร้อมมีบุตร และวางแผนเพื่อการมีบุตรในอนาคต

การเตรียมตัวสำหรับการทำเด็กหลอดแก้ว

การเตรียมตัวก่อนทำivf

การเตรียมตัวก่อนทำเด็กหลอดแก้ว หรือการเตรียมตัวก่อนทำ IVF และ ICSI เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากการดูแลตัวเองของคุณพ่อคุณแม่ มีผลต่อคุณภาพของเซลล์ไข่และอสุจิ ทั้งยังสามารถลดโอกาสเกิดตัวอ่อนผิดปกติ หรือป้องกันการติดโรคติดต่อจากคุณพ่อคุณแม่สู่ลูกได้ด้วย ซึ่งหากดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์ จะทำให้โอกาสการตั้งครรภ์สำเร็จเพิ่มมากขึ้นได้

การเตรียมตัวด้านสุขภาพ

  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ – เน้นทานอาหารโปรตีนสูง ผัก ผลไม้ อาหารปรุงสุกใหม่ และควรหลีกเลี่ยงอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ และอาหารที่มี ไขมัน แป้ง น้ำตาลในปริมาณมาก
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ – การออกกำลังกายช่วยในเรื่องสมดุลฮอร์โมนและระบบหมุนเวียนโลหิต ควรออกกำลังกายโดยเน้นที่กล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Cardio Exercise) อย่างต่อเนื่องครั้งละ 30 – 45 นาที และควรทำอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง
    คุณพ่อต้องระวังเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่กระทบ หรือกระแทกอวัยวะเพศและอัณฑะมากเกินไป เพราะจะทำให้คุณภาพของน้ำเชื้อแย่ลงได้
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ – การนอนหลับพักผ่อนช่วยลดความเครียด และปรับสมดุลฮอร์โมนได้ ควรนอนก่อนเวลา 23.00 น. และนอนต่อเนื่องเป็นเวลา 6 – 7 ชั่วโมง
  • ทานวิตามินตามที่แพทย์แนะนำ – การทานวิตามินจะเป็นการเพิ่มคุณภาพของเซลล์ไข่และอสุจิ และวิตามินบางตัวมีผลดีอย่างมากต่อการตั้งครรภ์ โดยวิตามินที่แพทย์มักจะแนะนำให้ทาน ได้แก่
    1. วิตามินสำหรับคุณพ่อ – แอสตาแซนทีน (Astaxanthin), โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10), สังกะสี (Zinc) มีผลดีกับคุณภาพน้ำเชื้อ
    2. วิตามินสำหรับคุณแม่
      1. วิตามินเพิ่มคุณภาพเซลล์ไข่ – วิตามินซี (Vitamin C), วิตามินอี (Vitamin E), แอสตาแซนทีน (Astaxanthin), โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10)
      2. วิตามินที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์ – กรดโฟลิค (Folic acid) ช่วยลดโอกาสทารกผิดปกติเกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง

ทั้งนี้ การทานวิตามินควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ เนื่องจากอาหารเสริมและวิตามินบางตัวอาจก่อผลเสียมากกว่าผลดีได้

  • คุณพ่อควรระวังการหลั่งน้ำเชื้อ – ไม่ควรหลั่งน้ำเชื้อด้วยการมีเพศสัมพันธ์หรือวิธีใดๆก็ตาม ประมาณ 3 – 7 วันก่อนวันเก็บน้ำเชื้อ เพราะอาจจะทำให้ได้น้ำเชื้อน้อยเกินไป ในขณะเดียวกัน ช่วงก่อน 7 วันก็ควรจะหลั่งน้ำเชื้อบ้าง เพื่อไม่ให้น้ำเชื้อค้างอยู่ในร่างกายนานเกินไป

การเตรียมตัวด้านการตรวจก่อนทำ เด็กหลอดแก้ว (Preparation Part)

การตรวจก่อนทำเด็กหลอดแก้ว จะเป็นการตรวจร่างกายเพื่อประเมินความพร้อมในการตั้งครรภ์ และเพื่อตรวจหาโรคติดต่อที่อาจส่งผลกับการตั้งครรภ์ หรือกับทารกด้วย และในบางกรณี แพทย์อาจจะแนะนำให้ตรวจความผิดปกติในยีนด้วย

โดยการตรวจร่างกายก่อนการทำเด็กหลอดแก้ว Pre-Screening Preparation for IVF/ICSI Check-up มีรายการตรวจดังนี้

  • การตรวจร่างกายสำหรับคุณแม่
      1. ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count หรือ CBC)
      2. ตรวจหมู่โลหิต (ABO Group)
      3. ตรวจหมู่เลือด (Rh Group)
      4. ตรวจหาพาหะธาลัสซีเมีย (Hemoglobin typing)
      5. ตรวจหาการติดเชื้อซิฟิลิส (VDRL)
      6. ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg)
      7. ตรวจภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี (HBs Antibody หรือ Anti HBs)
      8. ตรวจภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบซี (Anti HCV)
      9. ตรวจภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Anti HIV)
      10. ตรวจภูมิคุ้มกันโรคหัดเยอรมัน (Rubella IgG)
      11. ตรวจหาโรคติดเชื้อจากปรสิต (Toxoplasma IgG)
      12. ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Stimulating Hormone)
      13. ตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ (Free T4)
      14. ตรวจฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin)
      15. ตรวจปริมาณฮอร์โมนรังไข่ (AMH)
      16. ตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด (Ultrasound Transvaginal)
      17. การตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรม PCR (Polymerase Chain Reaction) – ไม่ได้จำเป็นต้องตรวจทุกกรณี 
  • การตรวจร่างกายสำหรับคุณพ่อ
    1. ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count หรือ CBC)
    2. ตรวจหมู่โลหิต (ABO Group)
    3. ตรวจหมู่เลือด (Rh Group)
    4. ตรวจหาพาหะธาลัสซีเมีย (Hemoglobin typing)
    5. ตรวจหาการติดเชื้อซิฟิลิส (VDRL)
    6. ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg)
    7. ตรวจภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี (HBs Antibody หรือ Anti HBs)
    8. ตรวจภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบซี (Anti HCV)
    9. ตรวจภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Anti HIV)
    10. ตรวจความแข็งแรงของสเปิร์ม (Semen analysis)
    11. การตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรม PCR (Polymerase Chain Reaction) – ไม่ได้จำเป็นต้องตรวจทุกกรณี 

วิธีทำเด็กหลอดแก้ว มีกี่ขั้นตอน อะไรบ้าง?

ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว มีขั้นตอนทั้งหมด 5 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว

การกระตุ้นให้ไข่ตก Ovulation Induction (OI)

ขั้นตอนการกระตุ้นไข่ เป็นขั้นตอนที่แพทย์จะให้ยากระตุ้นให้รังไข่สร้างไข่ขึ้น เมื่อได้ขนาดที่ใหญ่มากพอ เหมาะกับการผสมแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการเก็บไข่ต่อไป

ในขั้นตอนการกระตุ้นไข่นี้ แพทย์จะนัดมาในวันที่ 2 – 3 ของรอบเดือน (นับจากวันที่ประจำเดือนมาวันแรก) เพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมน หากฮอร์โมนอยู่ในระดับปกติ แพทย์จะให้ฉีดกระตุ้นไข่ด้วยยากระตุ้นที่บรรจุอยู่ในเข็มลักษณะคล้ายปากกา เพื่อให้คุณแม่นำกลับไปฉีดเองที่บ้านได้ง่าย 

การฉีดยากระตุ้นไข่นี้ แพทย์จะให้ฉีดติดต่อกันเป็นเวลา 8 – 10 วัน ซึ่งในระหว่างนี้ แพทย์จะนัดมาอัลตราซาวด์วัดขนาดไข่เป็นระยะ เมื่อไข่มีขนาดที่เหมาะสมแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนการเก็บไข่ต่อไป

หมายเหตุ : หากคุณแม่กลัวเข็ม ไม่กล้าฉีดกระตุ้นไข่เอง สามารถมาที่คลินิกเพื่อให้พยาบาลเป็นผู้ฉีดให้ได้

การเก็บไข่ Egg Retrieval

เมื่อไข่ได้ขนาด ประมาณ 0.18 มิลลิเมตร จะถือว่าพร้อมสำหรับเก็บไข่แล้ว แพทย์จะฉีดยากระตุ้นไข่ตกให้ เมื่อผ่านไป 34 – 36 ชั่วโมง ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเก็บไข่

ในขั้นตอนการเก็บไข่ แพทย์จะเริ่มจากอัลตราซาวด์ดูตำแหน่งไข่ จากนั้นจึงเก็บไข่ด้วยเครื่องมือเฉพาะผ่านทางช่องคลอด กระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาเพียง 15 นาที แต่ในขั้นตอนนี้จำเป็นต้องใช้ยาสลบ คุณแม่จึงควรงดน้ำ งดอาหารก่อนการเก็บไข่ประมาณ 8 ชั่วโมง

หากเก็บไข่แล้ว ยังไม่ต้องการตั้งครรภ์ ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ด้วยสาเหตุหลายอย่าง สามารถแช่แข็งไข่ฝากไว้ได้ เมื่อพร้อมตั้งครรภ์จึงค่อยนำไข่ออกมาปฏิสนธิ เป็นตัวอ่อนต่อไป

การเก็บน้ำเชื้อฝ่ายชาย Sperm

ในวันเดียวกันกับวันที่เก็บไข่ แพทย์จะนัดเก็บน้ำเชื้อจากฝั่งคุณพ่อด้วย ก่อนการเก็บน้ำเชื้อ หากเก็บน้ำเชื้อด้วยการหลั่งด้วยตัวเองตามปกติ ควรงดหลั่งประมาณ 3 – 7 วัน แต่ถ้าฝั่งคุณพ่อเป็นหมัน ผ่านการทำหมันมาแล้ว หรือมีภาวะมีบุตรยากจากปัจจัยอื่นๆ แพทย์จะพิจารณาให้เก็บน้ำเชื้อด้วยวิธี PESA, TESA, หรือ MESA

เมื่อเก็บน้ำเชื้อแล้ว แพทย์จะนำไปปั่นแยกตัวอสุจิ ออกจากเศษเซลล์อื่นๆ จากนั้นจะนำไปเข้าสู่กระบวนการปฏิสนธิ

หากมาเก็บน้ำเชื้อแล้ว ยังไม่ต้องการนำไปปฏิสนธิทำเด็กหลอดแก้ว หรือต้องการเก็บไว้เผื่อการปฏิสนธิรอบอื่นๆ ก็สามารถนำมาแช่แข็งฝากไว้ที่คลินิกได้

การปฏิสนธิ Fertilization

การทำลูก

การปฏิสนธิเด็กหลอดแก้ว จะเลือกเทคนิคโดยการพิจารณาคุณภาพของไข่ และอสุจิ หากไข่มีผนังเซลล์ไข่ที่หนา หรืออสุจิการเคลื่อนไหวไม่ดี รูปร่างไม่ดี ไม่สามารถเจาะเซลล์ไข่เองได้ แพทย์จะพิจารณาให้ทำเด็กหลอดแก้วด้วยเทคนิค ICSI

หากปฏิสนธิด้วยเทคนิค IVF แพทย์จะนำไข่และอสุจิหลายตัว มาผสมกันในจานเพาะเลี้ยง ปล่อยให้อสุจิกับไข่ผสมกันเองตามธรรมชาติ ส่วนการปฏิสนธิด้วยเทคนิค ICSI แพทย์จะนำอสุจิ มาฉีดเข้าสู่เซลล์ไข่โดยตรงภายใต้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง เพื่อช่วยการปฏิสนธิอย่างแม่นยำ และลดความเสียหายที่อาจเกิดกับเซลล์ไข่ 

หลังจากนำไปเข้ากระบวนการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการแล้ว ก็จะรู้ผลการปฏิสนธิภายใน 1 – 2 วัน เมื่อเซลล์แบ่งตัวเป็นตัวอ่อนแล้ว นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการต่อเป็นเวลา 5 – 6 วัน จนเข้าสู่ระยะบลาสโตซิสท์ (Blast Cyst Culture) 

หากมีความเสี่ยง แพทย์จะแนะนำให้ตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อน (Preimplantation Genetic Screening: PGS) จากเซลล์ตัวอ่อนที่อยู่ในระยะบลาสโตซิสท์ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดอย่าง NGS (Next-generation sequencing)

เมื่อผ่านการปฏิสนธิจนเป็นตัวอ่อนแล้ว แต่ยังไม่ต้องการตั้งครรภ์ หรือยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้จากสภาพร่างกาย อย่างเช่นแพทย์ตรวจพบว่าผนังมดลูกก่อตัวน้อยเกินไป บางเกินไป ก็สามารถแช่แข็งตัวอ่อนเก็บไว้ได้เช่นกัน 

PGS การตรวจโครโมโซมที่ช่วยลดโอกาสแท้ง เพิ่มโอกาสการมีลูกได้ อ่านต่อเกี่ยวกับการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน : ตรวจโครโมโซมตัวอ่อน NGS หาความผิดปกติของทารกตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์

การย้ายตัวอ่อน Embryo Transfer : ET

แช่แข็งตัวอ่อน

เมื่อตัวอ่อนเข้าสู่ระยะบลาสโตซิสท์ ก็จะเข้าสู่กระบวนการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก โดยแพทย์จะเลือกตัวอ่อนที่สมบูรณ์และแข็งแรงที่สุดมา 1 – 2 ตัว เพื่อย้ายเข้าสู่โพรงมดลูกพร้อมกัน เป็นการเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์โดยที่ไม่ทำให้โอกาสตั้งครรภ์แฝดเพิ่มขึ้นมากนัก

ซึ่งการย้ายตัวอ่อนนี้มีทั้งหมด 2 วิธี ได้แก่

  1. การย้ายตัวอ่อนในรอบสด (Fresh ET) – เป็นการย้ายตัวอ่อนหลังจากเข้าสู่ระยะบลาสโตซิสท์เลยแพทย์จะใช้วิธีนี้เมื่อตรวจร่างกายคุณแม่แล้วพบว่าพร้อมตั้งครรภ์ ก็สามารถย้ายตัวอ่อนได้เลย
  2. การย้ายตัวอ่อนในรอบแช่แข็ง (Frozen-thawed ET) – เป็นการย้ายตัวอ่อนที่ผ่านการแช่แข็งมาแล้ว ในกรณีที่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ หรือแพทย์พิจารณาว่าร่างกายของคุณแม่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ในรอบนี้

เมื่อร่างกายของคุณแม่พร้อมตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ หรือพร้อมโดยการใช้ฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกแล้ว แพทย์จะนำตัวอ่อนออกมาละลายด้วยเทคนิคเฉพาะ จากนั้นจึงย้ายเข้าสู่โพรงมดลูกตามปกติ โดยที่การแช่แข็งนี้ ไม่ได้ทำให้คุณภาพตัวอ่อนลดลงแต่อย่างใด

โดยขั้นตอนการย้ายตัวอ่อน แพทย์จะย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกด้วยเครื่องมือเฉพาะผ่านทางช่องคลอด และไม่จำเป็นต้องใช้ยาสลบ

ในช่วงอาทิตย์แรก ควรพักผ่อนมากๆ ผ่อนคลายความเครียด ไม่ควรทำกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายกระเทือนมากเกินไป อย่างเช่นการวิ่ง การขึ้นบันได หรือการออกกำลังกาย เพราะจะทำให้โอกาสที่ตัวอ่อนจะฝังตัวลดลงได้ และในช่วง 14 วันหลังจากฝังตัวอ่อน ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากจะทำให้โอกาสตั้งครรภ์ลดลงได้

ข้อดีของการทำเด็กหลอดแก้ว

  • เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้นได้ สำหรับผู้ที่มีปัญหามีบุตรยาก หรือผ่านการทำหมันมาแล้ว
  • สามารถตรวจเช็คโครโมโซมของตัวอ่อนด้วยวิธีการต่างๆ ก่อนการตั้งครรภ์ได้ เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแท้ง (ตรวจ PGS) และลดโอกาสเกิดโรคที่เกิดจากพันธุกรรมในทารก (ตรวจ PGS และ PGT-M)
  • ลดโอกาสเกิดความพิการ หรือความผิดปกติอื่นๆ ในทารก
  • สามารถวางแผนครอบครัวได้ง่าย เนื่องจากสามารถกำหนดช่วงที่จะตั้งครรภ์ได้คร่าวๆ
  • ทั้งตัวอ่อน ไข่ และน้ำเชื้อ สามารถแช่แข็งเก็บไว้ได้นานถึง 10 ปี

ข้อจำกัดในการทำเด็กหลอดแก้ว

  • มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงในช่วงที่ใช้ยากระตุ้นไข่ เช่น อาการปวดหัว กระสับกระส่าย หรืออาการผลข้างเคียงอันตรายที่พบได้น้อยอย่างอาการรังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian Hyperstimulation Syndrome: OHSS)
  • มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด และมีโอกาสเกิดภาวะแท้งได้มากกว่าการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ
  • มีโอกาสตั้งครรภ์ลูกแฝดได้มากกว่าการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ ที่ทำให้ลูกน้ำหนักตัวน้อย และเสี่ยงแท้งได้มากกว่าปกติ
  • มีโอกาสท้องนอกมดลูก จากการที่ตัวอ่อนฝังตัวในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม
  • หากตรวจโครโมโซมตัวอ่อน แม้จะสามารถตรวจหาความผิดปกติได้ แต่ในขณะเดียวกัน ขั้นตอนการตรวจก็อาจทำให้ตัวอ่อนเสียหายและไม่สมบูรณ์เท่าเดิมได้

ทำเด็กหลอดแก้ว ที่ไหนดี?

ทำเด็กหลอดแก้ว ที่ไหนดี

ทำเด็กหลอดแก้วที่ไหนดี? ที่ Wellness Health Club เราให้บริการด้านการมีบุตรยากผ่าน BDMS Wellness Clinic ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก ที่แนะนำประสานงานโดย โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ศูนย์รักษาด้านการมีบุตรยากชั้นนำของประเทศ ที่พร้อมให้คุณได้รับการบริการที่ดีที่สุดจากเรา

ที่ BDMS Wellness Clinic จะให้บริการด้านการมีบุตรยากโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของประเทศทั้ง 5 ท่าน ได้แก่ นายแพทย์พูลศักดิ์ ไวความดี, แพทย์หญิงชโลมขวัญ ประยูรเวชช์, แพทย์หญิงวราธิป โอทกานนท์, นายแพทย์ธนิก โชคจิรวัฒน์, และแพทย์หญิงรุ่งทิวา กมลเดชเดชา

ที่ผ่านมา BDMS Wellness Clinic สามารถเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์สำเร็จจากการทำเด็กหลอดแล้ว จากมาตรฐานความสำเร็จ 40% เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้สูงถึง 70% ได้โดยแพทย์ที่เชี่ยวชาญและทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง ทำให้มั่นใจได้ว่าเราจะให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สดุเท่าที่จะเป็นได้กับผู้เข้ารับการรักษาทุกคน

คำถามที่พบบ่อยจากคนไข้

การทำเด็กหลอดแก้ว เหมาะกับใคร?

  • คู่สมรสทั้งคู่ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภาวะมีบุตรยาก
  • คู่สมรสทั้งคู่ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผ่านการทำหมันมาแล้ว
  • คู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ ทดลองทำ IUI แล้วไม่ได้ผล
  • ฝ่ายหญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป 
  • ผู้ที่ต้องการตั้งครรภ์จากไข่ที่ฝากไว้

เด็กหลอดแก้ว อ่อนแอกว่าเด็กปกติหรือไม่?

เด็กหลอดแก้ว และเด็กที่เกิดจากการปฏิสนธิภายในตามปกติไม่ได้ต่างกัน และไม่ได้มีโอกาสพิการ หรือร่างกายอ่อนแอมากกว่าแต่อย่างใด เด็กที่เกิดจากการทำเด็กหลอดแก้วจะแข็งแรงและสมบูรณ์ดีเหมือนกับเด็กทั่วไป

ทำเด็กหลอดแก้วไม่สำเร็จ ไม่ติด เกิดจากอะไร?

  1. ตัวอ่อนไม่ฝังตัว จากความผิดปกติภายในร่างกายบางอย่าง หรืออาจไม่ฝังตัวจากการดูแลตนเองที่ไม่ดีหลังจากใส่ตัวอ่อน
  2. ตัวอ่อนคุณภาพไม่ดี และไม่สามารถฝังตัวได้
  3. ฮอร์โมนผิดปกติ จนสภาวะภายในโพรงมดลูกไม่เหมาะกับการฝังตัวของตัวอ่อน

ทำเด็กหลอดแก้ว เลือกเพศลูกได้ไหม?

ทำเด็กหลอดแก้ว ไม่สามารถเลือกเพศลูกได้ด้วยเหตุผลทางกฎหมาย เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้จะทราบเพศตัวอ่อนก่อนการย้ายตัวอ่อนอยู่แล้ว ก็ไม่สามารถเลือกย้ายตัวอ่อนเฉพาะเพศที่ต้องการได้

การทำเด็กหลอดแก้วต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?

เอกสารที่จำเป็นคือทะเบียนสมรส เนื่องจากเป็นหลักกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีการช่วยเจริญพันธุ์ปี พ.ศ.2558

สรุป

การทำเด็กหลอดแก้วเป็นเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์สำหรับผู้ที่มีบุตรยาก ในปัจจุบันที่การแพทย์ก้าวหน้าทำให้การมีบุตรนั้นง่ายขึ้น ทั้งยังสามารถป้องกันการเกิดความผิดปกติต่างๆ ในทารกได้ด้วย

ผู้ที่พยายามมีลูกอย่างสม่ำเสมอมาเป็นเวลา 6 เดือน – 1 ปีแต่ยังไม่มีลูก สงสัยว่ากำลังมีภาวะมีบุตรยาก หรือต้องการทำเด็กหลอดแก้ว สามารถติดต่อเข้ามาเพื่อสอบถามรายละเอียดการรักษา และปรึกษากับแพทย์ผ่านทาง Wellness Health Club ได้เลย

ขอบคุณข้อมูลจาก

IVF. (2020, October 18). NHS. https://www.nhs.uk/conditions/ivf/#:~:text=Chances%20of%20
        success&text=In%202019%2C%20the%20percentage%20of,women%20aged%2035%
        20to%2037 

Mann, D. (2010, June 14). IVF Babies and Major Birth Defects. WebMD. https://www.webmd.com
        /infertility-and-reproduction/news/20100614/ivf-babies-and-major-birth-defects

What Genetic Testing is Available During My Fertility Care?. Resolve. https://resolve.org/
        learn/what-are-my-options/genetic-screening-and-testing/what-genetic-testing-is-
        available-during-my-fertility-care/